ที่ระบุว่า… ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบจำนวนของเด็กที่หายออกไปจากบ้านมีตัวเลขเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งสำหรับ พื้นที่ที่มีกรณีเด็กหายมากที่สุด นั้นได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมาคือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ โดย “สาเหตุ” ที่ทำให้ “เด็กหนีออกจากบ้าน” ส่วนใหญ่มาจากเรื่องของ ปัญหาครอบครัว การถูกชักจูงจากคนรู้จักในโลกออนไลน์ และ หนีออกจากบ้านไปในลักษณะชู้สาว

ที่แม้บางส่วนจะตามตัวกลับบ้านได้…

แต่ทว่า “เมื่อกลับมาก็ไม่เหมือนเดิม!!”

เกี่ยวกับ “ปัญหาเด็กหายออกจากบ้านโดยสมัครใจ” ที่ผลสำรวจปี 2565 พบจำนวนเด็กกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายปีนั้น ทาง เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาสะท้อน-ฉายภาพ “ปรากฏการณ์สำคัญ” นี้ ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… สิ่งที่จำเป็นต้องร่วมกันหาคำตอบคือ การที่จำนวนเด็กที่ หนีออกจากบ้านไปโดยสมัครใจ เพิ่มสูงขึ้นแซงหน้าประเภทของเด็กหายในเวลานี้ มีมูลเหตุเกิดจากปัจจัยใด? อะไรที่นำไปสู่การหายตัวออกไปจากบ้านของเด็กกลุ่มนี้? ซึ่งส่วนหนึ่งแม้จะมีปัจจัยจาก วิกฤติโควิด-19 ที่ช่วงล็อกดาวน์เด็กต้องอยู่แต่บ้าน เรียนออนไลน์ ทำให้ไม่ได้พบเจอเพื่อน หรือโลกภายนอก จนเมื่อคลายล็อกแล้ว เด็กก็อาจจะอยากปลดปล่อยเพื่อระบาดความอัดอั้น แต่…

ยังมี “ปัจจัยอื่น” ที่ “มีน้ำหนักมากกว่า”

คือ “ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว”

“มีโอกาส หรือมีช่องทาง ที่เด็กจะถูกชักจูงให้หนีออกจากบ้านเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้สถาบันครอบครัวเจอวิกฤติเศรษฐกิจ จนทำให้อาจจะไม่มีเวลาไปโฟกัสเรื่องการดูแลลูก ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะท้ายสุดแล้ว พ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพียงแต่สภาพทางเศรษฐกิจมันบีบรัดจนทำให้โฟกัสการดูแลลูกได้ไม่เต็มที่” …เป็น “ภาพปัญหา” ที่ทางหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาสะท้อนไว้…

ที่ทำให้ครอบครัวเกิด “ช่องว่าง-ช่องโหว่”

ส่งผลให้ “สัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหิน”

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายยังบอกอีกว่า… ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักในยุคนี้ก็คือนอกจากสวมหมวกความเป็นพ่อแม่แล้ว ยังต้องสวมหมวกความเป็นเพื่อนกับเด็กด้วย เพราะที่สุดแล้ว เด็กก็ยังเป็นเด็กที่ต้องการเพื่อนที่คุยภาษาเดียวกัน หรือคุยกับเขารู้เรื่อง ซึ่งถ้าเด็กคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ ก็ต้องไปคุยกับคนข้างนอก คุยกับคนในโลกออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจที่เคยพบจากการได้สัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กที่หายไป เพื่อจะทำข้อมูลในการติดตามตัว นั่นคือพบว่า…มีพ่อแม่หลายคนที่ไม่รู้ข้อมูลของลูก ๆ เลย แม้แต่ข้อมูลทั่วไป เช่น ลูกเรียนชั้นไหนแล้ว ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “ขาดปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว”

“เรื่องนี้เป็นปัญหาของครอบครัวสมัยใหม่ และทำให้การติดตามตัวเด็กที่หายไปทำได้ยากมากขึ้น เพราะพ่อแม่หรือครอบครัวไม่มีข้อมูลให้ ซึ่งถ้าจะตัดวงจรเพื่อป้องกันเด็กหาย เรื่องนี้ครอบครัวก็ต้องมีส่วนช่วยด้วย”

ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ “เด็กหนีออกจากบ้านโดยสมัครใจ” นั้น ยังอาจเกิดได้จาก “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งกับประเด็นนี้หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายอธิบายว่า… ความรุนแรงในที่นี้อาจไม่ได้มาในรูปแบบการใช้กำลังทุบตีทำร้าย เพราะแม้แต่ “คำพูดรุนแรง-วาจาหยาบคาย” เด็กก็รู้สึกถึงความรุนแรงเช่นกัน ซึ่งเด็กที่หายออกไปจากบ้านหลาย ๆ เคส พ่อแม่ไม่เคยทำร้ายเด็กเลย แต่เคยดุด่าอย่างรุนแรง หรือชอบพูดประชดประชันกับลูก ซึ่งเป็นอีก “ปัจจัยกระตุ้น” 

ส่วนประเด็น “หนีออกจากบ้านในลักษณะชู้สาว” ทางแหล่งข่าวมูลนิธิกระจกเงาย้ำว่า…เรื่องนี้ต้องมองให้ลึกว่าที่จริงแล้วการที่เด็กหนีออกไปเป็นเพราะอยากมีแฟน หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งสังคมมักยึดติดกับทัศนคติเก่า ๆ ที่เมื่อมีเด็กหนีออกจากบ้านก็มักจะเหมารวมว่า…เด็กหนีตามผู้ชาย เด็กอยากมีแฟน ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ใช่ แต่ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ซึ่งเด็กที่จะหนีออกจากบ้านเพราะเรื่องชู้สาว ถ้ายิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในวัยที่มีฮอร์โมน ก็ยิ่งมีแรงขับ ยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้คำแนะนำปรึกษา เด็กก็จะหันไปหาคนคุยทางออนไลน์ ถ้าเจอคนที่คุยภาษาเดียวกันได้ ก็ยิ่งมีโอกาสถูกชักจูงได้ง่าย

ทั้งนี้ หัวหน้า ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ย้ำเตือนสังคมผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึง “ปัญหาเด็กหาย-เด็กหนีออกจากบ้าน” ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า… ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ หรือไม่ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูในครอบครัว หากวันหนึ่งเด็กหายไป ถึงแม้จะติดตามตัวกลับมาได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้ลูกคนเดิมกลับมา!! เพราะการที่ต้องออกไปใช้ชีวิตให้รอด เด็กก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ได้เจอ และเมื่อเอาตัวรอดมาได้ เด็กก็อาจไม่กลัว และไม่แคร์สังคมอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าสามารถเอาตัวรอดได้จากสถานการณ์ต่าง ๆ โดย การที่เด็กไม่รู้สึกกลัวนี่เองที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ จะ “ตัดวงจรเพื่อไม่ให้ปัญหาเด็กหายเกิดซ้ำ ๆ” นั้น… “คีย์เวิร์ดสำคัญ” ก็ยังคงเป็น “ครอบครัว-พ่อแม่”

ที่ทั้ง “จะต้องไม่ปล่อยปละละเลยลูก”

และ “จะต้องเป็นเสมือนเพื่อนลูก”

เพื่อที่ “จะไม่เสียลูกคนเดิมไป!!”.