บร๊ะเจ้า!!! เชื่อกันมั้ยคะ…ว่าทุกวันนี้…มีประชาชนคนไทยที่เดือดร้อน ได้แจ้งความคดีถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์เฉลี่ยวันละ 10,000 คดีกันทีเดียว

Free photo close up programmer typing on laptop

นั่นหมายความว่า…ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ ที่ยังไม่รู้ ไม่เป็น หรือไม่เท่าทัน อีกจำนวนมาก ที่ถูกหลอกลวงแล้วยังเข้าไม่ถึงช่องทางของเจ้าหน้าที่

จากข้อมูลของ www.ThaiPoliceOnline.com ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มระบบการแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทางออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา รวม 10 เดือน มีผู้เข้ามาแจ้งความจำนวน 163,091 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 27,305 ล้านบาท แยกเป็น

1. คดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่รับสินค้า การปล่อยกู้ผ่านแอพนอกระบบ การลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น มีสถิติการรับแจ้ง 40.5% ของคดีทั้งหมด ความเสียหายรวมประมาณ 1,230 ล้านบาท

2. คดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ต่างประเทศ และมีคนไทยร่วมขบวนการ โดยเดินทางไปทำงานผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนไทยผ่านทางออนไลน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 51 % มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 15,800 ล้านบาท

3. คดีอื่น ๆ ที่เหลือ 8.5% ได้แก่ แฮกระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ การคุกคามทางเพศ หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น

Free photo medium shot man typing on laptop

ต้องยอมรับว่าการตกเป็น เหยื่อจากการหลอกลวงของบรรดาพี่มิจฉาชีพเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดและมีมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่โลกดิจิทัลด้วยซ้ำ!!

แต่!! เมื่อโลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน กลับกลายเป็นว่าการตกเป็นเหยื่อก็มีมากขึ้นทุกวัน และเข้ามาในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกคนต้องเผชิญกับความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด ยิ่งทำให้เกิดการหลอกลวงมากขึ้นทุกวัน

จะด้วยความโลภ ความอยากได้ ความอยากมี หรือความต้องการให้ตัวเองมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อหลีกหนีภาวะการไม่มีจะกิน หรืออย่างไรก็แล้วแต่เถอะ

สุดท้าย…ที่เคยมี ก็กลายเป็นว่า “หมดตัว” บางราย บางคนถึงกับเลือกใช้วิธี “จบชีวิต” เพื่อแก้ปัญหา อย่างที่เห็นเป็นข่าวกันอยู่แทบทุกวี่ทุกวัน

แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พยายามทำหน้าที่อย่างถึงที่สุด แต่ก็กลายเป็นว่าด้วยโลกของไซเบอร์ทุกอย่างไหลไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การติดตามเงินกลับคืนมาทำได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น

ด้วยเพราะการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ หรือดูแลคุ้มครองประชาชนคนไทย ยังเป็นไปในรูปแบบของการป้องกัน การตั้งรับ แม้มีการอายัดบัญชีก็กลายเป็นว่าเงินของเหยื่อไหลออกนอกประเทศไปหมดแล้ว

Free photo hacker is carrying a gold credit card and a bank book

หากมาดูในข้อเท็จจริง “บัญชีม้า” ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ว่าไม่ได้ เพราะผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ก็มีทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ ในเมื่อไม่มีเงิน มีชีวิตด้วยความยากลำบาก ความโลภ!! ความละโมบ!! ก็บังเกิดขึ้น จากการที่ไม่มีภูมิต้านทาน

ในปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้อายัดบัญชีม้าจำนวน 58,463 บัญชี ปิดกลุ่มโซเชียลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม และปิดกั้นเว็บพนันจำนวน 1,830 เว็บ

เอาเถอะ…แม้ในความจริงแล้ว “ปัญหา” ยังคงเกิดขึ้นมากมาย แต่ความพยายามของ “ผู้ที่มีหน้าที่” ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจดีและความพยายามในการทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การตั้งตำรวจไซเบอร์ 2,000 คน เพื่อเข้าไปหยุดยั้งบัญชีม้าให้เร็วขึ้น การยกเลิกการเปิดบัญชีแทนกัน การหยุดการโอนเงินที่ผิดปกติ การออกกฎหมายใหม่ หรือพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสกัดกั้นปัญหาในทุกช่องทาง

ไม่เพียงเท่านี้!! การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่จะเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการกับ “คนที่เปิดบัญชี” ที่จากนี้ไปไม่สามารถปัดความรับผิดชอบ เพียงแค่บอกไม่รู้ไม่เห็นไม่ทราบไม่ตั้งใจ ไม่ได้อีกต่อไป!!

พูดง่าย ๆ แทนที่จะไปดำเนินการเพียงแค่ปลายทาง ก็ “เน็ทแบ็ก” มาจัดการกับ “ต้นทาง” เสียก่อน แบบชนิดที่เรียกว่า ใครไปเปิดบัญชีให้คนอื่นเป็นบัญชีม้า ก็ต้องถูกจับและให้ประกันตัวในชั้นศาลเท่านั้น

ขณะเดียวกันการสร้างภูมคุ้มกัน ด้วยการให้ความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ก็ยังคงดำเนินการไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ณ เวลานี้ คาถาป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือ “อย่าโลภ” เท่านี้ป้องกันการ “หมดตัว” ได้แล้ว!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”