แล้วก็มีกรณีที่มีผู้ “ตั้งข้อสังเกต-ตั้งคำถาม” ประมาณว่า“จนทิพย์?-จนไม่จริง?” หรือเปล่า??…หลาย ๆ กรณี ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีอีกกรณี ทั้งนี้ กรณีไหนจนจริง กรณีไหนจนทิพย์ ก็ว่ากันไป แต่ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องนี้กันอีกในวันนี้ก็คือประเด็น “ดราม่ารับบริจาคเกิดถี่ ๆ ไม่ดีแน่ ๆ ต่อจริตดี-จริตในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย” ซึ่งการ “บริจาค” นั้นเป็นหนึ่งใน “จริตดี” ที่มีมายาวนาน…

แต่นับวันดูจะยิ่งมีกรณี “ฉุดรั้งเอื้อเฟื้อ”

มี “ดราม่ารับบริจาค” เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องการ “เอื้อเฟื้อในรูปแบบการบริจาค” ในภาพรวม ๆ ทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เป็นการเฉพาะเจาะจงที่กรณีหนึ่งกรณีใด โดยชวนดูกันอีกครั้งในเชิงวิชาการเกี่ยวกับ “ปัจจัยการบริจาคของคนไทย” และในเชิง“สถิติระดับโลก” ซึ่งเกี่ยวกับ “จริตดีคนไทยในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่-การบริจาค” นั้น…ได้เคยมีการฉายภาพไว้ผ่านบทความที่ตีพิมพ์ใน วารสารเศรษฐศาสตร์ปริทรรศน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2558) บทความชื่อ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคของคนไทย” โดย อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ฉายภาพความสัมพันธ์ของการบริจาคเงิน สิ่งของ เวลาว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร??? โดยสังเขปนั้นมีว่า… เหตุผลในการบริจาค-การให้ ของคนไทย ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ๆ นั่นคือ… ให้เพราะ…เป็นการทำตามความเชื่อทางศาสนา โดยพบว่าร้อยละ 91 เลือกบริจาคเงินเพราะมีความเชื่อทางด้านนี้เป็นแรงจูงใจสำคัญ, ให้เพราะ…ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพราะ อยากเห็นสังคมดีขึ้น และอีกด้านของเหตุผลคือ ให้เพราะ…เพื่อความสบายใจ อีกทั้งยังมีการมองด้วยว่า…การให้โดยทำงานสังคมสงเคราะห์เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

นอกจากนั้น ในบทความดังกล่าวยังได้เผยถึงผลศึกษาไว้ว่า… จากการสุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ที่เน้นวิเคราะห์เกี่ยวกับ พฤติกรรมการบริจาคของคนไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งในเขตเมืองและในชนบทสามารถจะจำแนกการบริจาคได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ กล่าวคือ… บริจาคเงิน, บริจาคสิ่งของ, บริจาคเวลา ซึ่งจากผลการศึกษา…เมื่อเปรียบเทียบการบริจาคประเภทต่าง ๆ แล้ว ก็พบว่า… คนไทยนิยมชมชอบทำบุญด้วยการ “บริจาคเงิน” มากที่สุด

ขณะที่ผลศึกษาจากการทำแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างที่ได้ศึกษา ก็ยังได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า… ในสังคมไทย สำหรับคนไทยนั้น เพศหญิงมีความน่าจะเป็นในการบริจาคเงินหรือบริจาคสิ่งของมากกว่าเพศชาย โดยค้นพบว่า… ในบรรดากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีแนวโน้มความน่าจะเป็นในการบริจาคเงินเพิ่มขึ้น

และเรื่องเกี่ยวกับระดับการศึกษานี่ก็ยึดโยงเรื่องการบริจาค โดยจากผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างก็ได้มีการค้นพบข้อมูลว่า… ยิ่งมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะยิ่งมีแนวโน้มในการบริจาคเงินหรือบริจาคสิ่งของเพิ่มขึ้นตามไปด้วย …นี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคของคนไทย ที่ได้มีการฉายภาพไว้ในเชิงวิชาการ ซึ่งเหล่านี้สะท้อนว่า…

สังคมไทย “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” มาช้านาน

การ “บริจาค” เป็น “จริตดีของคนไทย” 

ในบทความ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคของคนไทย” โดย อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล ยังได้สะท้อนไว้ด้วยว่า… “การให้-การบริจาค” ไม่เพียง เป็นประโยชน์กับผู้ที่เดือดร้อนที่ได้รับ หากแต่ในทางมโนคติ ความเชื่อ นี่เป็นการแสดงออกถึงการสละความหวงในทรัพย์ เป็นกุศล เป็นความสุขใจ เป็นประโยชน์ทางใจกับผู้ที่บริจาคด้วย

ส่วนการบริจาคในสังคมไทยยุคใหม่นั้น “เครือข่ายทางสังคม” รูปแบบต่าง ๆ ถือว่า มีผลต่อการบริจาคอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทุนทางสังคมของบุคคล ตลอดจนเครือข่ายทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายทางสังคม ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจบริจาค เครือข่ายทางสังคมเป็นช่องทางให้บุคคลได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้น รวมถึงทำให้รับทราบปัญหาและความต้องการของผู้ที่เดือดร้อน …นี่ก็เป็นข้อมูลเชิงวิชาการอีกมิติ

เพียงแต่ว่า…กับ “ดราม่ารับบริจาค” ที่ยุคนี้เกิดอยู่เรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน โดยที่หลายกรณีที่มีผู้ “ตั้งข้อสังเกต-ตั้งคำถาม” นั้น ก็มีกรณีที่พิสูจน์ทราบว่า“จนไม่จริง-จนทิพย์” และมีกระแสดราม่าเซ็งแซ่ ก็ทำให้มีการเตือนกันว่า… “คนไทยต้องลดนิสัยโอนไว ก่อนโอนเงินบริจาคควรตรวจสอบข้อมูลผู้ขอรับบริจาคให้แน่ใจจริง ๆ เสียก่อนจึงค่อยโอน”

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มย้อนดูในเชิงสถิติระดับโลก…เมื่อปี 2562 เคยมีผล สำรวจการทำบุญบริจาคเงินของคนทั่วโลก เคยมีข้อมูล CAF World Giving Index 2019 ที่พบว่า… ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่คนชอบบริจาคเงิน โดยสถิติระดับโลกนี้ไทยอยู่ที่อันดับ 4 ประเทศที่คนชอบบริจาคเงินมากที่สุด โดยสถิตินี้ไม่เพียงสะท้อน “ความใจบุญของคนไทย” แต่ยังสะท้อนว่า “สังคมไทยมีจริตในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ซึ่งนี่เป็น “สิ่งดีที่น่าจะสืบสานและพัฒนา” แต่กลับ “ถูกฉุดรั้ง”

“ดราม่าบริจาค” ทำให้ “คนไทยขยาด!!”

“สังคมเอื้อเฟื้อ” นับวัน “ถูกบั่นทอน!!”

“ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” อย่างน่าเสียดายยิ่ง!!.