เรื่องราว “สู้ชีวิต” ของคน ๆ หนึ่งนั้น “สร้างพลังบวก” ให้กับคนอื่น ๆ ได้เสมอ ดังเช่นเรื่องราวชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่มุมานะ พยายาม อดทนอย่างไม่ย่อท้อ จนสามารถทำความฝันได้สำเร็จ หลังจากต้องทำงานหลากหลายอาชีพ นับตั้งแต่อาชีพเซลส์แมนขายเครื่องใช้ไฟฟ้า, พนักงานส่งอาหาร, พนักงานร้านอาหาร, พนักงานร้านสะดวกซื้อ, รปภ.รวมถึงอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบ โดยใช้เวลาอยู่ 9 ปี จนในที่สุดก็ได้เป็น “ทนายความ” สมความตั้งใจ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” นำเรื่องราว “สร้างแรงบันดาลใจ” ของเขาคนนี้มานำเสนอ เรื่องราวสู้ชีวิตของ “ทนายไปรท์-ธนากร นนทะแก้ว”

ผมมีความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากเป็นทนายความ เพราะที่บ้านมีน้าเป็นทนายความ ผมจึงชื่นชอบอาชีพนี้ตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ แล้วครับ เสียงจาก“ทนายไปรท์-ธนากร” บอกเราเรื่องนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันนี้เขาอายุ 32 ปี โดยเขาเป็นชาว อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นลูกคนเดียวของ คุณพ่อ-ธนยศ นนทะแก้ว กับ คุณแม่-วิภา ไทยเกิด ซึ่งต่อมาคุณพ่อคุณแม่ของเขาได้แยกทางกัน โดยคุณพ่อมีครอบครัวใหม่ และมีลูกใหม่อีก 2 คน ซึ่งเขาไปอยู่กับคุณพ่อ จนกระทั่งเรียนจบชั้น ม.6 จากนั้นก็ย้ายมาอยู่กับคุณแม่ และได้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาตรี ซึ่งด้วยความที่ฝันอยากเป็นทนายมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาจึงเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์  ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไม่ได้เอนทรานซ์ครับ คือตอน ม.6 ผมเกือบจะเรียนไม่จบด้วยซ้ำ เพราะช่วงเรียน ม.ปลาย ผมเป็นเด็กค่อนข้างเกเร ติด 0 ติด ร. หลายตัว จนเรียนจบก็เข้าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เลือกเรียนนิติศาสตร์ เพราะมีน้าสาวเป็นทนายความจึงทำให้มีแรงบันดาลใจอยากจะทำอาชีพนี้บ้าง เพราะผมอยากช่วยเหลือสังคม ช่วยให้คนที่ไม่รู้กฎหมายได้รับความยุติธรรม และอยากให้ครอบครัวภูมิใจ แต่ต้องยอมรับว่าตอนแรกนั้นผมก็อยากเรียนวิศวะโยธาตามเพื่อน ๆ แต่ที่ตัดสินใจเรียนรามคำแหง เพราะถ้าไปเรียนที่อื่นค่าเทอมค่อนข้างแพง เนื่องจากทางบ้านไม่ได้มีกำลังจะช่วยส่งเสียให้เราได้มากมาย ก็เลยเลือกลงเรียนที่รามคำแหง เพราะค่าหน่วยกิตถูก โดยผมก็ไปอาศัยอยู่ที่ห้องของน้า

ทนายไปรท์เล่าถึงเส้นทางชีวิตช่วงนั้น พร้อมกับบอกว่า ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีกำลังมากนัก ทำให้ตัวเขาจึงต้องทำงานด้วยและเรียนไปด้วยเพื่อหาเงินส่งเสียตัวเอง โดยใช้เวลาหลังเลิกงานอ่านหนังสือ ซึ่งที่ผ่านมาเขาทำมาแล้วหลากหลายอาชีพ โดยอาชีพแรกที่ทำคือ เซลส์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า จากนั้นเมื่อถึงวัยต้องเกณฑ์ทหาร ปรากฏเขาจับได้ใบแดง  ก็ติดทหาร และต้องเข้ากรมไปรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี พอปลดประจำการออกมา เขาก็เลี้ยงตัวเองด้วยการรับจ้างทาสี หรือไม่ก็ไปขับวินมอเตอร์ไซค์ หรือทำอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นอกจากนี้เขายังเคยทำงานเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ. เขาก็เคยเป็น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช 

ในวันที่ได้ทำอาชีพทนายความตามที่ฝัน

ช่วงที่ออกจากทหาร ผมก็กลับมาเรียนใหม่ พอดีช่วงนั้นน้าสาวย้ายกลับไปอยู่บ้านที่ปักษ์ใต้แล้ว ก็เลยต้องอยู่คนเดียว ผมก็รับช่วงเช่าห้องต่อจากน้าสาว ทำให้ค่าใช้จ่ายนั้นผมต้องรับผิดชอบเองทั้งหมดคนเดียว ซึ่งทางบ้านก็ช่วย แต่ก็ไม่พอใช้กับค่าครองชีพ ทำให้ต้องออกหางานทำ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ซึ่งที่เลือกเรียนที่รามคำแห่ง เพราะไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ ใช้วิธีอ่านหนังสือเอาเองที่ห้องพัก เพราะเวลาส่วนหนึ่งเราต้องทำงาน แต่ถ้าหากมีวิชาไหนที่ยาก หรือไม่เข้าใจจริง ๆ ก็จะเข้าห้องเรียน ส่วนวิชาไหนที่ดูแล้วถูไถได้ ก็จะอ่านเองที่ห้อง ซึ่งค่าเช่าห้องรวมน้ำไฟก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 3,500 บาท ส่วนสถานที่ฝากท้องเวลาหิวนั้น ผมเลือกกินข้าวที่มหาวิทยาลัยเพราะราคาถูกและได้เยอะ

ทั้งนี้ เขาเล่าต่อไปว่า ต้องทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และก็ต้องสับเปลี่ยนงานที่ทำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้จัดสรรเวลาระหว่างเวลาทำงานและเวลาเรียนได้ จนสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้สำเร็จในปี 2561 โดยเขาใช้เวลาทั้งหมดไป 9 ปีทีนี้พอเรียนจบก็จะต้องสอบขอใบอนุญาตเพื่อประกอบอาชีพทนาย ซึ่งระหว่างนั้นตัวเขาก็กลับไปอยู่บ้านที่ปักษ์ใต้ และทำงานเป็น รปภ. โรงแรมในครศรีธรรมราช เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและซื้อคอร์สติวสอบผ่านออนไลน์ โดยการสอบครั้งแรกนั้น เขาไม่ผ่าน จึงต้องสอบใหม่อีกครั้ง และในครั้งที่ 2 นี้เขาก็สามารถสอบจนได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพทนายความได้สำเร็จเมื่อปี 2564 ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วเขาต้องใช้เวลาในการสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ นี้อยู่นานถึง 3 ปีด้วยกัน

สมัยที่มุ่งมั่นอดทนร่ำเรียน

หลังเรียนจบก็หางานทำที่นครศรีธรรมราช ซึ่งหางานสายตรงอาชีพค่อนข้างยาก ก็ปรึกษาคุณแม่ว่าอยากเป็นทนายความแบบน้า แต่จะต้องสอบตั๋วทนายให้ได้ก่อน ครั้นจะไปกรุงเทพฯ ก็ไม่มีเงิน ผมจึงไปสมัครเป็น รปภ. อยู่ 4 เดือน เพื่อนำเงินมาซื้อคอร์สออนไลน์ติวสอบทนาย โดยต้องสอบถึง 2 ครั้ง ถึงจะได้ใบอนุญาตว่าความ

ไปรท์ เล่าอีกว่า หลังสอบได้ใบอนุญาตว่าความปี 2564 เขาก็ได้ไปฝึกงานที่สำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ มีแคปชั่นที่เขาโพสต์ว่า แม่อยากให้เรียนสูง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ทนายไปรท์บอกว่าได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยคุณแม่บอกเสมอว่าให้เขาเรียนสูง ๆ จะได้ทำงานดี ๆ จะได้ไม่ลำบาก แต่เอาเข้าจริงชีวิตเขาก็ลำบากมาตลอด  ยิ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เขายอมรับว่าดีใจที่ผ่านมาได้ เพราะหากเปรียบเทียบ เมื่อก่อนขับวินได้เงินวันละ 300 กว่าบาท แต่ตอนนี้เขามีรายได้ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาทต่อวัน ซึ่งแตกต่างกันมาก แต่ที่พูดเรื่องนี้ เขาออกตัวว่า ไม่ได้คิดด้อยค่าอาชีพอื่น เพราะทุกอาชีพก็สำคัญ แค่อยู่ที่ตัวของเราจะผลักดันตัวเองให้ไปทางไหนได้มากกว่า โดยทนายไปรท์ เล่าว่า ช่วงวัยรุ่นนั้น เขาค่อนข้างจะเกเร แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ซึ่งด้วยความที่โตมาในครอบครัวที่มีต้นทุนชีวิตน้อยมาก ทำให้คิดได้ว่า ทางเดียวที่จะผลักดันตัวเองได้ มีแค่หนึ่งสมองสองมือของตัวเอง ซึ่งเมื่อนำมาบวกเข้ากับความ “ขยันและมีวินัย” เขาก็เชื่อมั่นว่าต้นทุนนี้จะผลักดันพาเขาไปที่ไหนก็ได้ 

ในเครื่องแบบ 2 สไตล์ในอดีต

ทั้งนี้ หลังจากได้ตั๋วทนายแล้ว เขาก็เป็นทนายความเต็มตัว โดยประเดิมคดีแรกคือ คดีเช็คเด้ง ซึ่งการขึ้นทำหน้าที่ทนายอาชีพครั้งแรกนั้น เขายอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ โดยเขาบอกว่าอารมณ์เหมือนต้องไปพูดรายงานหน้าห้องเรียน แต่เพราะสมัยเรียนมัธยมเขามักออกไปหน้าชั้นบ่อย ๆ จึงลดความตื่นเต้นไปได้นิดหนึ่ง แต่ถึงแม้จะเตรียมตัวดี ทว่าพออยู่จุดนั้นจริง ๆ ด้วยความกดดัน ที่รายล้อมด้วยทนายจำเลย ผู้พิพากษา และสถานที่ จึงรู้สึกเกร็งไม่น้อย แต่ก็ผ่านมาได้ และหลังจากได้ว่าความบ่อยขึ้น ก็เริ่มที่จะมีประสบการณ์ และรู้ตัวเองว่า ประเภทคดีที่ถนัดที่สุดคือคดีทางแพ่ง

ช่วงหลังจากปลดทหาร ก็มีคนแนะนำให้นั่งสมาธิ ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนตัว โดยผมรู้สึกว่านั่งสมาธิแล้วชีวิตดีขึ้น เพราะชีวิตได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอยู่เรื่อย ๆ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ลำบากมาก เอาจริง ๆ ผมเคยร้องไห้นะ ร้องเพราะสงสารตัวเอง ร้องเพราะสงสารแม่ แต่ผมจำได้แม่นเลยคือประโยคที่คุณแม่พูดกับเราเสมอว่า…ให้ตั้งใจเรียน เรียนให้จบสูง ๆ จะได้ไม่ลำบาก และจะทำอาชีพอะไรก็ได้ ขอเพียงให้เราตั้งใจ และอย่าหยุดพัฒนา ทนายไปรท์ เล่าไว้

ปัจจุบัน ทนายไปรท์-ธนากร เปิดสำนักงานทนาย ความอยู่ที่บ้าน รวมถึงทำเฟซบุ๊กเพจชื่อ “ทนายไปรท์ช่วยเพื่อนยามยาก” ขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาด้านคดีกับคนที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย โดยเขาได้บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า เขาอยากช่วยเหลือสังคมบ้าง โดยในอนาคตเขาตั้งใจที่จะทำงานในวิชาชีพนี้ให้เต็มที่มากขึ้น และตอนนี้เขาก็กำลังเรียนต่อเนติบัณฑิต เพราะต้องการอัพเกรดความรู้และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเขาได้ย้ำทิ้งท้ายว่า อยากใช้ความรู้กฎหมายที่เรียนมาช่วยสังคม…

อยากช่วยคนให้ได้มากที่สุด

ไปรท์กับคุณแม่

ขึ้นต้นขมขื่น..ลงท้ายหวานชื่น

“ทนายไปรท์-ธนากร” ยังได้เผยความรู้สึกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ตอนที่ได้ใบอนุญาตทนายความมา ตอนนั้นทุกอย่างโล่งไปหมด เพราะทำความฝันและความตั้งใจสำเร็จแล้ว ส่วนเรื่อง “รายได้” เขาบอกว่า ถามว่าตรงกับที่คาดหวังไหม ส่วนตัวแล้วโอเค เพราะแค่นี้เขาก็มีคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิมมากแล้ว ส่วนถ้าถามว่า มีแรงผลักดันอะไรที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะฟังแค่เรื่องเล่า บางคนคงท้อไปนานแล้ว แต่สำหรับเขาแล้วเขามองว่า เป้าหมายมีไว้เพื่อพุ่งชน และสำหรับ “คำแนะนำ” ถึงคนอื่น ๆ ก็คือ จะไปถึงเป้าหมายได้ อันดับแรกคือ เป้าหมายของเราต้องชัดเจนเสียก่อน และอันดับสองคือ ต้องพยายามลงมือทำทันทีตั้งแต่แรก ๆ โดยต้องทำต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งถึงแม้มันอาจจะยาก แต่พอทำทุกวัน จากวันก็เป็นสัปดาห์ ก็เป็นเดือน มันจะเป็นเรื่องปกติและชินไปเอง จนตัวเราเองมีวินัย พร้อมกันนี้เขายังฝากถึงหลาย ๆ คนที่ “มีฝัน” ว่า ฝากถึงใครก็ตามที่เผชิญปัญหา สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ความอดทน ความมานะ เพราะคุณจะเป็นอะไรก็ได้ในโลกนี้ ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน มีวินัย ที่สำคัญต้องรู้วิธีเดินด้วย และแม้จะมีอุปสรรคเข้ามาก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะแม้ความอดทนจะเป็นสิ่งขมขื่น…แต่ผลลัพธ์นั้นหวานชื่นเสมอ.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน