ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาได้บริจาค วัคซีนไฟเซอร์ 1,503,450 โด๊ส ส่งมอบให้กับประเทศไทยตั้งแต่ 30 .. 64  วัตถุประสงค์เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า แต่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เพียงแค่การบริหารฉีด วัคซีนเข็ม 3 ให้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่ทางสหรัฐกำชับนั้น กว่าจะเข้ารูปเข้ารอยก็กลายเป็นเรื่องสับสนอลหม่านไม่น้อย ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงมียอดประมาณ 7 แสนเศษ ๆ

ปัญหาสารพัดรูปแบบ ไล่ตั้งแต่จัดสรรไม่ทั่วถึง ชื่อตกหล่น ลักไก่สวมสิทธิ หรือแอบพาครอบครัวญาติมาฉีดก็มีให้เห็นหลายพื้นที่ ถึงแม้จะเกิดปัญหาการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ แต่ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยังคงยืนยันจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ อีก 1 ล้านโด๊สเพิ่มเติมให้ประเทศไทยตามที่ได้ประกาศไปแล้ว

วอนฉีดกระตุ้นภูมิ “เภสัชกรร้านยา 

ขณะเดียวกันทาง สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ เพื่อขอ วัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบรรดา เภสัชกรในชุมชน เปรียบเสมือนเป็นด่านหน้าอยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมบุคลากรทางการแพทย์ หมอหนุ่ม (นามสมมุติ) ให้สัมภาษณ์ว่า การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าแต่ละโรงพยาบาล มีการคัดเลือกที่ต่างกัน หรือบางโรงพยาบาลก็ใช้การคัดเลือกผ่านการตอบแบบสอบถาม ด้วยความไม่มีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งบางโรงพยาบาลก็ฉีดเข็ม 3 ให้กับนักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปี แต่บางโรงพยาบาลนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายที่ทำงานกับคนไข้กลับไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความปั่นป่วนพอสมควร

ดังนั้นกระทรวงฯ ควรมีการตรวจเช็กข้อมูลอีกครั้ง โดยเฉพาะแพทย์หน้างานที่ยังไม่ได้รับจัดสรร เช่น แพทย์ในห้องฉุกเฉินหรือแพทย์อายุรศาสตร์ พยาบาล ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรง เรามุ่งหวังว่าคนกลุ่มนี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิ นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่งติดเชื้อแล้วหายก็ยังไม่ได้ฉีดเพราะต้องทิ้งระยะห่างจึงเสียโอกาสไปด้วย ที่น่าสงสัยคือ เมื่อมีการเรียกร้องจากแพทย์หน้างานก็มีการเพิ่มโควตาวัคซีนให้ แสดงว่าวัคซีนยังมีคงค้างที่ส่วนกลาง 

หมอหนุ่มกล่าวต่อว่า วัคซีนไฟเซอร์ในลอตถัดไป หากกระจายฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจนครบแล้ว อยากให้ฉีดกลุ่มจิตอาสาและภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย เช่น อาสาสมัครต่าง ๆ รวมถึงคนไข้กลุ่มเปราะบาง รัฐควรมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ถึงอาสาสมัครที่เป็นด่านหน้า นอกจากนี้ทางสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังจัดทำร่างจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “นโยบายการรับวัคซีนเข็มที่ 3 ของเภสัชกรชุมชน (เภสัชกรร้านยา)” เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบถึงปัญหานี้อย่างเป็นทางการขึ้น และได้ประสานงานกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ในการร่วมเผยแพร่ร่างจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อให้เภสัชกรและนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศร่วมลงชื่อ 

ใกล้ชิดกับชาวบ้านผู้ป่วยซื้อยากินเอง

ด้าน นายธนกฤต เพชรทอง นิสิตเภสัชศาสตร์ นายกสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดในรอบนี้ นิสิต นักศึกษาเภสัชพยายามผลักดันเชิงนโยบาย ให้ภาครัฐฉีด วัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับเภสัชกรตามร้านยาในชุมชน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นธุรกิจเอกชน แต่เภสัชกรก็นับเป็นคนทำงานด่านหน้า ที่รัฐจะต้องคุ้มครองและดูแล เพื่อให้ได้ดูแลคนในชุมชนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ถ้าภาครัฐมีการทำงานที่สร้างความร่วมมือกับเภสัชกรในร้านต่าง ๆ ตามชุมชน นอกจากการให้ความรู้แล้ว ยังสามารถติดตามผล ที่เป็นการดูแลในระดับปฐมภูมิในภาวะที่ระบบสาธารณสุขระดับโรงพยาบาลเกินจะรับได้

ถ้าเราดึงเภสัชกรร้านยาเข้ามาอยู่ในระบบและดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีการกระจายที่มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่ติดโควิดและรักษาตัวในชุมชน ส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นตัวหลัก แต่ประชาชนจะมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนมาด้วย ดังนั้นความรู้เรื่องการใช้ยาเพื่อรักษาอาการ เภสัชกรจะช่วยได้ เพื่อให้คนไข้มีการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นการวางแผนการใช้ยาของผู้ป่วยได้ด้วย

การเรียกร้องเข็มที่ 3 ให้กับเภสัชกรร้านยา ถือเป็นภาวะเร่งด่วน เพราะวัคซีนที่ได้รับไป 2 เข็มก่อนหน้าอาจจะป้องกันได้ไม่เพียงพอ วัคซีนที่เรียกร้องอาจจะเป็น แอสตราเซเนกา ในกลุ่มที่ได้รับซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม หรือ ไฟเซอร์ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเพื่อกระตุ้นภูมิไม่ให้ได้รับอันตรายจากเชื้อกลายพันธุ์ จากการลงชื่อเรียกร้องเริ่มมีเภสัชกรลงชื่อแล้ว 2,300 คน และมีนิสิตนักศึกษาอีก 1,400 คน หลังจากนี้จะนำเสนอจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชน และส่งข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข   

น.ส.กนกภรณ์ พัฒนวิภาส นิสิตเภสัชศาสตร์ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) กล่าวเสริมว่า จากการสอบถามนักศึกษาเภสัชในต่างประเทศพบว่า หลายประเทศมีการให้ความสำคัญกับเภสัช โดยการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเข็ม 3 เช่น ประเทศแคนาดา ในช่วงการระบาด มีการกำหนดบทบาทให้เภสัชกรใกล้บ้านเป็นผู้ให้ความรู้ และสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการตอบแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อช่วยระบบสาธารณสุขส่วนกลางให้เข้าใจถึงสภาวะปัญหาที่เป็นจริง รวมถึงเภสัชสามารถตรวจสวอบ (Swab) ได้

เภสัชกรภาณุโชติ ทองยัง ที่ปรึกษาชมรมเภสัชชนบท (อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเภสัชกรในต่างจังหวัด ติดโควิดไปแล้วหลายราย แม้มีการป้องกันตัว เพราะในแต่ละวันมีผู้เข้ามาใช้บริการเยอะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีกระแสยาต่าง ๆในสื่อโซเชียล ชาวบ้านก็จะแห่มาซื้อที่ร้านยา เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งหลายคนก็ยังกินกันแบบผิด ๆ อยู่ ดังนั้นรัฐควรกระจายงานมาให้เภสัชกรในชุมชนช่วย เพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างทั่วถึง การที่เรามาเรียกร้องเข็มที่ 3 เป็นเหมือนภาพสะท้อนว่า ระบบสาธารณสุขควรดูแลทุกคนในระบบ เพราะเราเองก็มีหน้าที่ในการดูแลคนไข้และประชาชน การออกกฎระเบียบที่จะฉีดให้กับบุคลากรเพื่อกระตุ้นภูมิ ยังมีความคลุมเครือ สะท้อนความคิดของส่วนกลาง เพราะถ้าเขียนไม่กว้างและครอบคลุม กลุ่มคนที่ตกหล่นอย่างเภสัชกรร้านยา ก็จะหลุดออกจากระบบการดูแล

ที่สำคัญเหมือนเป็นการสะท้อนว่า ภาครัฐยังมองไม่เห็นบทบาทเภสัชกรในชุมชน ที่ผ่านมาทำกันเองแต่ในภาครัฐ ที่ทำแล้วอาจจะไม่ได้ดี ถ้าภาครัฐมีความร่วมมือกับเภสัชกรเหล่านี้ ก็จะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพชุมชนในระยะยาว นอกจากนี้การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ก็เป็นเสมือนการกระตุ้นเภสัชกรบางส่วนที่ยังไม่รู้จะเริ่มช่วยชุมชนในพื้นที่ยังไง ให้หันมาทำงานเพื่อชุมชนของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

บทบาทเภสัชกรในภาวะวิกฤติ

ภก.ดร.วิศรุต บูรณสัจจะ  เภสัชกรร้านขายยารุ่งเรืองเภสัช (ซอยพหลโยธิน 1) เปิดเผยว่า ตอนนี้ภาครัฐมีระบบโฮมไอโซเลชั่น (Home Isolation) ผู้ป่วยจะได้รับกล่องและอุปกรณ์ช่วยชีวิต แต่กว่าผู้ป่วยจะได้รับก็ล่าช้า ดังนั้นสิ่งที่เขาจะอยู่รอดได้คือ การเข้าไปซื้อยาจากเภสัชกรในพื้นที่ ทำให้ในแต่ละวันเภสัชกรต้องเผชิญกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ที่ร้านไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยที่เข้ามาได้ ที่ผ่านมาสภาเภสัชให้ลงชื่อ และฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม แต่ขณะนี้วัคซีนที่ฉีดไปภูมิคุ้มกันก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่เราออกมาเรียกร้องเข็ม 3 เพราะเภสัชกรจะได้สามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือชุมชนได้ต่อ เพราะอย่างที่ร้านยาเปิดบริการมา 30 ปี เมื่อเจอวิกฤติครั้งนี้ก็ไม่ยอมปิดร้านเนื่องจากมองว่าชุมชนนี้สร้างธุรกิจนี้มาถ้าปิดร้านใครจะเป็นที่พึ่งให้กับคนในชุมชน ทุกวันนี้พวกเราอยู่กับคนในชุมชนเหมือนครอบครัว เวลาเห็นเขาติดเชื้อหรือเสียชีวิตก็เสียใจ เพราะถ้าลองคิดดูว่า ถ้าร้านยาหลายร้านในชุมชนไม่สามารถเปิดร้านได้ คนจะมุ่งไปโรงพยาบาลที่ตอนนี้เตียงเต็มหมดแล้ว.