เมื่อวันที่ 16 ม.ค.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ว่า ขณะนี้การจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในวาระจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)และรัฐบาลแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ..จะมีรายละเอียดและมีข้อสรุปอย่างไร โดยที่ผ่านมามาตรสำคัญต่างๆศธ.ได้ให้ข้อสังเกตใน 4 ประเด็น คือ 1 การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ ศธ.ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 2 ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ในมาตรา 20 ควรให้สถานศึกษาเฉพาะสังกัด ศธ.เป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด 3 การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 นั้น ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา และให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดแนวทางการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร และ4.ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยาฐานะเช่นเดิม

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่มีครูแต่งดำในวันครูเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบันนี้นั้น ตนคิดว่าครูอาจมีความกังวลกับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดจำนวนมากจึงอาจทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความกังวลเกิดขึ้นได้  สำหรับประเด็นการคัดค้านกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาจากปมการเมืองนั้น ตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายประเด็น อีกทั้งที่ผ่านมาศธ.ได้มีความเห็นและแจ้งให้มีการทบทวนประเด็นต่าง ๆ ที่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งตนก็อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ