ศิลปะอันวิจิตรที่มีศาสนาเป็นบ่อเกิด “ตู้ลายทอง” ตู้พระธรรมที่เกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ผู้ปรารถนาอุทิศตนสร้างผลงานอันวิจิตร สะท้อนผ่านพุทธศิลป์ชั้นเลิศ ด้วยฝีมือชั้นครูของช่างหลายแขนง นับเป็นหลักฐานของยุคสมัย ทรงคุณค่า ส่งต่อการเรียนรู้หลายมิติ…

ตู้พระธรรม แต่ละใบสร้างด้วยเทคนิคและลวดลายที่ต่างกัน ลวดลายอันอ่อนช้อยที่ปรากฏเป็นงานศิลปะไทยอันเกิดจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่บ่มเพาะสืบทอดต่อกันมายาวนาน และความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อให้เกิดเป็นงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะ เป็นความงามบนพื้นฐานวิถีแห่งไทย วิถีแห่งธรรม

จากปีที่ผ่านมา หลังจากนำตู้ลายทองที่หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษา นำตู้ลายรดนํ้างานฝีมือช่างโบราณที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความประณีต ซึ่งแต่เดิมเป็นตู้เก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร นำบางส่วนจัดแสดงในนิทรรศการตู้ลายทอง

ร.ศ. 242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ นิทรรศการที่มีความต่อเนื่อง ครั้งนี้นำ ตู้พระธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ นำความงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของลวดลาย สมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดง ทั้งนี้ ชวนค้นความรู้จากตู้ลายทองสมัยรัตนโกสินทร์ที่จัดแสดง ณ อาคารถาวรวัตถุ โดย ศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ให้ความรู้ พาชมตู้พระธรรม ตู้ไทยโบราณที่มีเอกลักษณ์ว่า ด้วยการใช้ประโยชน์จัดเก็บพระธรรมคัมภีร์ พระไตรปิฎก จึงเรียกตู้ดังกล่าวนี้ว่า ตู้พระธรรม นับเป็นมรดกทางศิลปะซึ่งมีความงดงาม มีความประณีต มีลักษณะเฉพาะของความเป็นตู้ไทยที่บ่งบอกความต่างจากตู้โดยทั่วไป

แสดงลวดลายเรื่องป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์

ตู้พระธรรมส่งต่อการเรียนรู้หลายมิติโดยยุคสมัยของตู้ไทยโบราณ โดยที่จัดแบ่งทำทะเบียนตู้ไว้ แบ่งเป็น 3 สมัย ได้แก่ สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยแต่ละยุคสมัยมีรายละเอียด มีความงดงาม สำหรับครั้งนี้ นำเสนอ ตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหลังจากห้องจัดแสดงตู้ลายทองแฝด ศิลปะงานช่างสมัยรัตนโกสินทร์ไปก็จะได้ชมตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งหมด ทั้งนี้ การแสดงยังคงคอนเซปต์ โดยส่วนแรกบอกเล่าเรื่องราวของตู้พระธรรมในแง่มุมต่าง ๆ ให้ความรู้ตู้ไทย การเรียกชื่อตามรูปทรงของขาตู้ ฐานตู้ และองค์ประกอบของตู้ เช่น ตู้ขาสิงห์ ตู้เท้าสิงห์ ลักษณะขาตู้จำหลักรูปเท้าสิงห์ มีร่องเป็นรูปเล็บสิงห์เหยียบอยู่บนลูกแก้ว ฯลฯ ตู้ขาคู้ ตู้เท้าคู้ ลักษณะขาตู้ตอนบนเป็นเสาตรง ตอนล่างหักโค้งเข้าหาส่วนกลางของตู้ เป็นต้น

“ในครั้งแรกเรานำตู้พระธรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นตู้พระธรรมสมัยอยุธยา และธนบุรี ส่วนครั้งนี้นำ ตู้ที่มีลวดลายในสมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดง โดยลวดลายค่อนข้างมีแบบแผน มีรูปแบบที่ชัดเจน การวางลวดลายจะเป็นระเบียบสวยงาม อย่างลายกระหนก ความเรียวแหลมอาจไม่เท่าสมัยอยุธยา ธนบุรี แต่ก็เป็นแบบฉบับของศิลปะรัตนโกสินทร์ที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ”

นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ อธิบายเพิ่ม เล่าถึงลวดลายตู้พระธรรมที่เป็นไฮไลต์ ดังเช่น ห้องที่ 5 แสดง ตู้พระธรรมที่มีลวดลายในเรื่องรามเกียรติ์ โดยตู้ที่จัดวางกลางห้อง นอกจากจะมีขนาดใหญ่สะดุดตากว่าตู้โดยปกติ ตู้พระธรรมยังจารึกบอกปีพุทธศักราช สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ลวดลายที่ปรากฏทำให้เห็นรูปแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

แสดงลวดลายในเรื่องรามเกียรติ์

“รามายณะเข้ามาในดินแดนเอเชียอาคเนย์ พร้อมกับการติดต่อค้าขายกับอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 รามายณะจึงเป็นวรรณคดีที่มีความผูกพันกับสังคมไทยมาแต่โบราณกาล และงานศิลปกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงภาพตัวละครจากเรื่องรามายณะ รามเกียรติ์ในหลายลักษณะ

นิยมเขียนเป็น “ภาพยกรบ” แสดงกระบวนทัพของทั้งสองฝ่าย หรือเขียนเป็น “ภาพจับ” ภาพแสดงการต่อสู้ในลักษณะประชิด ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือบุคคลต่อกลุ่มบุคคล การต่อสู้ในลักษณะดังกล่าวมีการยุดจับร่างกาย อาภรณ์ หรือจับอาวุธของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหนึ่งในตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องรามเกียรติ์ใบนี้ ก็เขียนเป็น “ภาพจับ”

คุณศิวพรขยายความเพิ่มอีกว่า ตู้พระธรรม จากที่กล่าวใช้จัดเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือหนังสือสมุดไทย หรือสิ่งของสำคัญของวัด บทบาทหน้าที่จะไม่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งที่ต่างไปคือลวดลาย หรือลักษณะอาจปรับเปลี่ยนไป

ตู้ไซอิ๋ว

แต่ละห้องจะมีตู้พระธรรมที่เป็นไฮไลต์ โดยต่อจากห้องนี้จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลาย รูปทวารบาลทั้งไทยและจีน ทวารบาล หมายถึงผู้เฝ้าและรักษาประตู สถานที่สำคัญรวมถึงศาสนสถาน มักมีรูปทวารบาลเป็นผู้พิทักษ์รักษาและป้องกันภูตผีปิศาจ หรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลายไม่ให้มารบกวน และบ่อยครั้งพบว่าศาสนสถานมีรูปสัตว์ที่มีอำนาจ เช่น สิงโต นาค ช้าง เป็นผู้เฝ้ารักษาประตู

งานศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ พบการทำรูปทวารบาลสถิตประจำที่ประตู หน้าต่างพุทธสถาน รวมถึงบานประตูตู้พระไตรปิฎกด้วยนิยมทำเป็น รูปเทวดายืน พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงศาสตราวุธ พระหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงดอกไม้ ประทับบนฐานสิงห์ประดับผ้าทิพย์ หรือมียักษ์ อสูรแบกหรือประทับบนสัตว์หิมพานต์ สัตว์ดุร้ายต่าง ๆ ที่มักเรียกรวมกันว่า “เทวดายืนแท่น” อันเป็นการผนวกคติต่าง ๆ แต่โบราณเข้าไว้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อของคนในแต่ละยุคสมัยที่ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรม เช่น รูปเทวดา รูปเซี่ยวกาง หรือรูปทหารแต่งกายตามสมัยนิยม ฯลฯ

ตู้ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเห็นอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน โดยแม้จะลงรักปิดทองแบบไทย แต่ก็มีลวดลายภาพแบบจีน มีเซี่ยวกาง หรือมีสิงห์แทรกตามขาตู้ หรือเป็นตู้พระธรรมลายภาพเขียนสีบนพื้นรักสีแดง อย่างเช่น ตู้ไซอิ๋ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์

ตู้ไซอิ๋ว ใบนี้จัดแสดงอยู่ด้านหลัง ก่อนถึงห้องแสดงสุดท้ายเป็นอีกหนึ่งตู้พระธรรมน่าชม นอกจากจะตกแต่งตู้ด้วยภาพเขียนสีแบบจีน บอกเล่าเรื่อง ไซอิ๋ว หรือเรื่องราวการเดินทางไปยังชมพูทวีป เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งจะต่างจากงานศิลปะลายรดนํ้า ขอบบนของตู้ยังมีจารึกเป็นอักษรและภาษาจีน ปีที่ 18 ในรัชสมัยของพระเจ้าเซียนจง ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2381-2382 ประมาณรัชกาลที่ 3 ของสมัยรัตนโกสินทร์ ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีตู้พระธรรม เล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยพุทธประวัติตอนสำคัญที่พบเสมอในงานศิลปกรรมคือ พุทธประวัติที่เกิดขึ้น ณ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ได้แก่ ประสูติที่ใต้ต้นสาละ ทรงชนะพญามารก่อนการตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จดับขันธปรินิพพานในป่าสาลวัน และฉากที่พบบ่อย คือ ฉากทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกผนวช ฉากปลงพระเกศาด้วยพระขรรค์ริมฝั่งแม่นํ้าอโนมานที 

มีตู้พระธรรมที่มี ลวดลายเรื่องชาดก วรรณกรรมในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องราวในพระอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ภาพชาดกจำแนกเป็น นิบาตชาดก ชาดกที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ที่รู้จักกันคือ ทศชาติ  และ ชาดกนอกนิบาต ชาดกที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่งขึ้นในภายหลัง โดยชาดกนอกนิบาตที่รู้จักกันคือ ปัญญาสชาดก และอีกหนึ่งห้องซึ่งเป็นห้องสุดท้าย แสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่อง ป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์  

“สัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิในพุทธศาสนา ป่าหิมพานต์เป็นป่ากว้างใหญ่ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างชมพูทวีปกับเขาพระสุเมรุ หรือบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ สัตว์หิมพานต์ในความหมายของช่างไทย มิได้หมายถึงเฉพาะสัตว์ที่ตามคัมภีร์ระบุว่าอาศัยในป่าหิมพานต์ แต่รวมถึงสัตว์พิสดารที่อาศัยอยู่ในที่ต่าง ๆ ภายในขอบเขตเขาจักรวาล ส่วนใหญ่ช่างไทยสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามจินตนาการ หรือมีต้นแบบจากต่างแดน”

ลวดลายบนตู้พระธรรมจากส่วนนี้ มีลวดลายของพืชพันธุ์ไม้ สภาพแวดล้อมโดยรอบ มีภาพฤาษี นายพราน ภาพนักสิทธิ์วิทยาธร มักกะลีผล รวมถึงภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพเทพนรสิงห์ ภาพกินนร กินรี ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียด งดงาม เป็นตู้พระธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ของลวดลาย รวมถึงการสร้างสรรค์ การผสมผสานศิลปะซึ่งน่าศึกษาอีกเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งนี้ แสดงถึงศิลปะในเชิงช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผ่านลวดลายที่ปรากฏบน “ตู้พระธรรม”

ตู้ลายทอง ตู้ไทยโบราณที่มีลักษณะพิเศษเป็นแบบฉบับของไทย เป็นคลังแห่งความรู้ทรงคุณค่า เชื่อมการเรียนรู้ครั้งอดีต ส่งต่อถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไป.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ