ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2566 “ทิศทาง-แนวโน้มภาคเกษตร” จะออกหัวหรือก้อย? จะดีขึ้นหรือย่ำแย่? ก็ “น่าติดตาม-น่าจับตา” โดยเรื่องนี้มีผลทั้งต่อสถานการณ์ปากท้องคนไทยและสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม และเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ อีไอซี (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มีการวิเคราะห์และสะท้อนไว้…ซึ่งน่าพิจารณา…

ปี 2566 กับ “อุตสาหกรรมเกษตรไทย”…

ทิศทางจะเป็นเช่นไร? พุ่งขึ้นหรือดิ่งลง?

เรา ๆ ท่าน ๆ ลองมาพินิจพิจารณากัน

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อชุดข้อมูลโดยศูนย์วิจัย อีไอซี กับกรณี “แนวโน้มของอุตสาหกรรมเกษตรไทย”ที่มีรายงานระบุไว้ว่า… อุตสาหกรรมเกษตรไทยในปี 2566 นี้ จากปัจจัยต่าง ๆ คาดว่า จะมีแนวโน้มเติบโตเป็นลักษณะตัว “K” ที่หาง มีทั้งขึ้นและลง ซึ่งจะต่างจากภาวะตลาดปี 2565 ที่ขยายตัวในทุกอุตสาหกรรม โดยในปี 2566 นี้ “อุตสาหกรรมเกษตรดาวเด่น” ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบด้วย… น้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าว ขณะเดียวกันก็มี “อุตสาหกรรมเกษตรดาวร่วง” ซึ่งได้แก่… ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาหดตัวในปี 2566 นี้

นี่เป็น “3 ดาวเด่น” และ “2 ดาวร่วง”

เป็นภาพกว้าง ๆ อุตสาหกรรมเกษตร

กล่าวสำหรับ “ปัจจัยสำคัญ” ที่จะส่งผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 นั้น ทางอีไอซีได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่า… จะมีประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ดังนี้คือ… การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่อิงกับความต้องการบริโภคในตลาดโลก อย่างน้ำตาล และยางพารา มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามไปด้วย แต่ในทางกลับกันก็มีการคาดการณ์กันว่า… ในปี 2566 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลดีทำให้ราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปัจจัยต่อมา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบต้องเผชิญกับผลประกอบการที่มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งจากต้นทุนการผลิตและปริมาณวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนสูง, นโยบายและมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ปัจจัยนี้จะส่งผลต่อด้านต่าง ๆ เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเกษตรปรับเพิ่มขึ้น และอีกปัจจัยคือ เทรนด์ความยั่งยืน ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร จากการที่ผู้บริโภค หรืออุตสาหกรรมที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ มีแนวโน้มจะเลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น

นี่เป็น “ประเด็นที่ต้องจับตาในปีนี้”…

ที่ “อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกษตร?”

ถัดมา…ดูข้อมูลลงลึกตาม “ชนิดอุตสาหกรรมเกษตรดาวเด่น” ซึ่งผลวิเคราะห์ในรายงานของ อีไอซี ได้ระบุไว้ว่า… “อุตสาหกรรมน้ำตาล” แม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2566 จะปรับตัวลดลง แต่กับอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากปริมาณผลผลิตและมูลค่าตลาดน้ำตาลที่ยังขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม แต่… น้ำตาลไทยก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยง!! จากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ สภาวะเศรษฐกิจโลก นโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย สภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว และกระแสรักสุขภาพที่มาพร้อมมาตรการด้านภาษี เช่น เพิ่มการจัดเก็บภาษีความหวาน ภาษีน้ำตาล เป็นต้น

“อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง” อีกชนิดอุตสาหกรรมเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกับน้ำตาล เกิดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการนำเข้าจากคู่ค้าสำคัญอย่า

ประเทศจีน โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ส่วนต่างราคาระหว่างข้าวโพดจีนและมันเส้นไทยนั้นต่างกัน ส่งผลให้จีนต้องการนำเข้ามันเส้นเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนการใช้ข้าวโพด รวมถึงมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการที่สภาวะเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโต แต่ถึงกระนั้น… มันสำปะหลังไทยก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยง!! จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และจากนโยบายด้านการค้าของจีน…

ผู้ประกอบการก็ต้องหาวิธีลดความเสี่ยง

ส่วนอีกดาวเด่นคือ “อุตสาหกรรมข้าว” รายงานของศูนย์วิจัย อีไอซี ระบุไว้ว่า… อุตสาหกรรมข้าวไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับได้แรงเสริมจากการที่อินเดียออกนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปริมาณการส่งออกและราคาข้าวไทยปรับตัวดีขึ้น แต่… ข้าวไทยก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยง!! เช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเรื่องนี้ของอินเดีย รวมถึงเสี่ยงเจอผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว และต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ที่จะกระทบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทย …นี่ก็เป็นข้อมูลอีกส่วนที่น่าพิจารณา…

“แนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรไทย” ปีนี้

มองภาพใหญ่ดูไกลตัวเรา ๆ ท่าน ๆ…

แต่จริง ๆ แล้ว…“ใกล้ตัวกว่าที่คิด!!”.