หากพูดถึงอาการป่วยของผู้สูงอายุแล้ว หลายๆ คนคงจะนึกถึง “โรคอัลไซเมอร์” หรือภาวะสมองเสื่อมกันมิใช่น้อย แต่เคยทราบบ้างหรือไม่ว่า ถ้าหากเราเข้าใจ ก็จะมีส่วนช่วยชะลอได้!

โดยวันนี้ “Healthy Clean” ขอพาไปเปิดข้อมูลกับ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผยว่า “โรคอัลไซเมอร์” เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ อาการสมองเสื่อมนับเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้านนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ในปี 2565 ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยหน่วยงานราชการ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน จำเป็นต้องมีความเข้าใจในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน หนึ่งในปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุที่สำคัญมาก คือ ภาวะสมองเสื่อม

โดยจากรายงานในปี 2563 ประมาณการว่ามีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมถึง 651,950 คน จากผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.43 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเน้นการให้บริการสอดรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการจัดระบบบริการผู้สูงอายุแบบองค์รวมในสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ในรูปแบบคลินิกผู้สูงอายุ

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในระบบประสาท ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ประสาทและเกิดสมองฝ่อตามมา

ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดได้จากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด อาการที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นผู้สูงวัยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีปัญหาความจำบกพร่อง ผู้ป่วยจะเริ่มถามซ้ำ ๆ จำวัน เวลา และสถานที่ของเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ เมื่ออาการของโรคมากขึ้นผู้ป่วยอาจเสียความสามารถ ในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงมีปัญหาพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หลงผิด หรือมีอาการหลอนตามมา ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านสมรรถภาพสมองบกพร่องในทุกด้าน จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งสร้างความยากลำบากมากขึ้น ต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและการดูแลของญาติ

ทั้งนี้ การรักษาปัจจุบันประกอบด้วยการรักษาทางยา ซึ่งจะช่วยชะลอให้ความจำเสื่อมถอยช้าลงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น การปรับพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพความจำ รวมถึงการรักษากายและใจโดยรวมให้ดี ก็เป็นส่วนที่สำคัญ สำหรับญาติหรือคนใกล้ชิดที่สงสัยว่ามีผู้สูงวัยใกล้ตัว มีอาการภาวะสมองเสื่อม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”