องค์การสหประชาชาติและประเทศจำนวนมากร่วมกันเรียกร้องต่ออาเซียน ซึ่ง 10 ชาติสมาชิกรวมถึงเมียนมา ให้รื้อฟื้นเสถียรภาพในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทย ด้วยวิถีทางการทูต

บาลากริชนัน กล่าวว่า อาเซียนไม่มีประสิทธิภาพ หรือดำเนินการรวดเร็วตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ก็ยอมรับว่า ตอนนี้สถานการณ์ยากลำบาก

Reuters

วันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมยุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ประกาศ “ฉันทามติ 5ข้อ” หลังเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขวิกฤติในเมียนมาโดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการ ตามความตกลงวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา อาเซียนตกลงให้แต่งตั้งนายอีริวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ในฐานะชาติประธานหมุนเวียนของอาเซียนประจำปีนี้ ให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา

บาลากริชนัน หวังว่า จะมีความคืบหน้าในรายงานการเยือนเมียนมาครั้งใหม่ของยูซอฟ ก่อนถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 38/39 ที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เมืองหลวงบรูไน ในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยรัฐบาลทหารเมียนมานำโดย พล.อ. มิน อ่อง หล่าย จะต้องให้ยูซอฟได้เข้าถึงคู่กรณีทุกฝ่ายในเมียนมา หากจะให้ภารกิจการเยือน “มีความหมาย”

การเยือนเมียนมาครั้งใหม่ของยูซอฟ จะเป็นบททดสอบสำคัญว่า รัฐบาลทหารเมียนมา จะเกี่ยวพันกับทูตพิเศษของอาเซียนอย่างไร

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการประท้วงต่อต้าน นับตั้งแต่กองทัพภายใต้การนำของพล.อ. มินอ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1ก.พ. สูงขึ้นผ่านหลัก 1,000 ราย เมื่อวันที่ 18ส.ค.ที่ผ่านมา จากข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในนาม สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ เอเอพีพี ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศไทย และเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์ประท้วงในเมียนมาอย่างใกล้ชิด

เศรษฐกิจเมียนมาพังทลาย และวิกฤติด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลง ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงเกินความสามารถของระบบสาธารณสุขในประเทศจะรับมือไหว บาลากริชนัน กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ “วิกฤติหนัก” ขณะที่อาเซียนกำลังพยายามส่งความช่วยเหลือ ควบคู่ไปกับการประสานงาน เพื่อให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์

Reuters

สิงคโปร์แม้ประเทศจะเล็ก แต่ก็ทรงอิทธิพล ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาค สิงคโปร์มีอำนาจอิทธิพลสูงในเมียนมา เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่สุด

จากข้อมูลของรัฐบาลเมียนมานับตั้งแต่ปี 2531 ธุรกิจสิงคโปร์ผ่านการอนุมัติลงทุนในเมียนมาจนถึงปี 2563 รวมมูลค่า 24,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ803,295ล้านบาท) กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดอันดับ 2 คือ จีน และอันดับ 3 ได้แก่ ไทย

แต่บาลากริชนัน บอกว่า ที่มีคนกล่าวว่าสิงคโปร์มีอิทธิพลสูงในเมียนมาเป็นการ “พูดเกินจริง” ส่วนกรณีที่มีความพยายามคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาจากการก่อรัฐประหาร เขามองว่าผู้ที่เดือดร้อน คือชาวเมียนมาระดับรากหญ้าทั่วไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะระดับผู้นำกองทัพ และพวกพ้องบริวารรวมทั้งนักธุรกิจ ล้วนมีฐานะร่ำรวย สามารถต้านทานการถูกโดดเดี่ยวได้ยาวนาน

จนถึงขณะนี้ อาเซียนยังไม่มีการหารือกันภายใน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขับไล่ หรือระงับสมาชิกภาพของเมียนมา เนื่องจากอาเซียนยังคงยึดมั่นในแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และไม่ต้องการแทรกแซงการเมืองภายในของมวลหมู่ชาติสมาชิก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS