แม้ปลายปีที่ผ่านมากรณี “ปลดล็อกกัญชา” จะมีเสียงอื้ออึงจากฝ่าย “ไม่สนับสนุน” ดังขึ้นตีคู่ฝ่าย “สนับสนุน” แต่ในปี 2566 นี้ “กัญชาไม่ใช่สิ่งเสพติด??” ก็คงจะยังมีการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งสังคมไทยก็ต้องจับตาใกล้ชิดกันต่อไป… อย่างไรก็ตาม กรณีกัญชาที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อวันนี้คือ…เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสารสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เผยแพร่งานวิจัย “สถานการณ์กัญชาในเยาวชนไทยหลังการปรับปรุงกฎหมาย” ที่จัดทำโดย รศ.ดร.มานพ คณะโต เครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.พ.ต.ต.หญิง ดร.พูนรัตน์ ลียติกุล และ ผศ.พ.ต.ท.หญิง ดร.รังสิยา วงศ์อุปปา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งได้มีการศึกษาถึง…

“พฤติกรรมการใช้กัญชาในเยาวชนไทย”
รวมถึง “หลังการเปลี่ยนแปลงนโยบาย”
“กัญชา”
นั้น “ไม่ใช่สิ่งเสพติดดังเดิม??”

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้คณะผู้วิจัยได้มีการอธิบายไว้ว่า…เน้น ศึกษาวิจัยกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยอายุระหว่าง 12-24 ปีทั่วประเทศ เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “ความรู้เท่าทันกัญชา” เพื่อค้นหาความสามารถของเยาวชนในการรับข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา ตลอดจนความเข้าใจและทักษะในการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม, เรื่อง “การเข้าถึงกัญชา” เพื่อค้นหาความสามารถของเยาวชนในการค้นหาหรือรับรู้ถึงแหล่งจำหน่ายกัญชา ชนิด คุณภาพ ราคาจำหน่ายกัญชา และศึกษาวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการใช้กัญชา” เพื่อค้นหาวัตถุประสงค์ในการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชน …นี่เป็น “เป้าโฟกัส” การศึกษาวิจัย

ทางคณะผู้วิจัยได้ระบุไว้ในผลการศึกษาวิจัยนี้ว่า… สำหรับผลศึกษาวิจัยในเรื่อง “ความรู้เท่าทันกัญชา” นั้น เคยพบว่า… เยาวชนมีความรู้เท่าทันเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ร้อยละ 69.39 โดยค่าสูงสุดของกลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้เท่าทันคือกลุ่มเยาวชนอายุ 22 ปี อยู่ที่ร้อยละ 74.69 และค่าต่ำสุดคือกลุ่มเด็กอายุ 12 ปี อยู่ที่ร้อยละ 62.53 …ซึ่งการศึกษาในส่วนนี้ได้มีการทำไว้ตั้งแต่ปี 2559 หรือ ก่อนที่จะมีการประกาศปลดล็อกกัญชา หรือยังอยู่ ในช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและกฎหมาย โดยในไทย อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ก็ทำให้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชากับสุขภาพผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเมื่อทางคณะวิจัยได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง พบว่า…ผลจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ เยาวชนรู้เท่าทันกัญชาเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยในทุกกลุ่มอายุ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 83.84 ซึ่งค่าสูงสุดของกลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้เท่าทันคืออายุ 18 ปี อยู่ที่ร้อยละ 86.15 ขณะที่ค่าต่ำสุดที่มีความรู้เท่าทันกัญชาคืออายุ 13 ปี โดยอยู่ที่ร้อยละ 80.56 …นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชิงสถิติ

หลัง “มีข้อมูลกัญชาเผยแพร่ในวงกว้าง”

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้เผยถึง “จุดที่น่าสังเกต” ที่พบจากการศึกษาวิจัยไว้ว่า… ระดับความรู้เท่าทันกัญชาในกลุ่มเยาวชนที่อายุน้อยมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเยาวชนที่มีอายุมากกว่า โดยข้อสังเกตนี้ผู้วิจัยวิเคราะห์ไว้ว่า…อาจเป็นเพราะเยาวชนที่อายุน้อยยังคงได้รับความรู้เรื่องยาเสพติดให้โทษในชั้นเรียนมากกว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุมาก อีกทั้งสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนที่อายุน้อย ยังมีระยะห่างจากการเข้าถึงยาเสพติดมากกว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุมาก ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยทำให้เยาวชนที่มีอายุน้อยยังมีระดับความต้านทานยาเสพติดที่สูงอยู่ …นี่เป็นข้อมูลที่น่าพิจารณา

และโดยเฉพาะเรื่อง “พฤติกรรมการใช้กัญชา” ที่แบ่งเป็น ช่วงที่กัญชายังผิดกฎหมาย ที่ศึกษาพบว่า… เยาวชนมีพฤติกรรมใช้กัญชาในทุกรูปแบบ ทั้งการเสพ ผสมในอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ร้อยละ 2.78 ต่อมา เมื่อมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ทำให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ผลศึกษาพบว่า… ทำให้ เยาวชนมีพฤติกรรมใช้กัญชาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุ คืออยู่ที่ร้อยละ 3.05 ซึ่งสะท้อนว่า…หลังจากมีการ ปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติด” กรณีนี้ส่งผลทำให้ “เยาวชนเสพกัญชาเพิ่มขึ้น” จากเดิม…

ที่สำคัญ…กลุ่มที่เสพกัญชาเพิ่มขึ้นนั้น…
โดยเฉพาะ
“ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับกัญชา หรือการ “ปลดล็อกกัญชา” ทำให้มีเยาวชนใช้กัญชา-เสพกัญชาเพิ่มขึ้น แต่พิจารณาที่ “ตัวเลขผู้รับการบำบัดเกี่ยวกับกัญชา” แล้ว กลับพบว่า…ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก?? ซึ่งสาเหตุที่ตัวเลขในส่วนนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนั้น คณะผู้วิจัยวิเคราะห์ไว้ว่า…อาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น จากระบบข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดที่จะไม่มีการนำเข้าข้อมูลเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเอาไว้ในระบบ จึงไม่พบข้อมูลส่วนที่เพิ่ม, จากการที่ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่เป็นแบบกึ่งสมัครใจ ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบเช่นกัน และจากการที่ไม่มีการตรวจหาสารเสพติดจากกัญชาหลังจากกัญชาไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติด ก็จึง ไม่มีการนำเข้าข้อมูลในระบบเกี่ยวกับผู้ติดกัญชา-บำบัดกัญชา!!…เหล่านี้ทำให้ตัวเลขส่วนนี้ไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่ส่วนนี้จะเพิ่ม-ไม่เพิ่ม…ยังไงก็ “น่าคิด??”…

กัญชากับเยาวชน” ผล “หลังปลดล็อก”
“เสพกัญชาเพิ่ม”
กัน “ตั้งแต่วัย ม.ต้น”
เมื่อมิใช่เพื่อสุขภาพ “อะไรเกิด????”.