สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งมาเลเซีย และสมเด็จพระราชินีอซิซาห์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายมูห์ยิดดิน ยาสซิน เข้าเฝ้าฯ ที่พระบรมมหาราชวัง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อช่วงบ่ายของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อกราบบังคมทูลถวายคำสัตย์ปฏิญาณ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 อย่างเป็นทางการ
สำหรับการรับตำแหน่งผู้นำมาเลเซียของอิสมาอิล ซาบรี เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระราชาบดีอับดุลเลาะห์ ทรงประชุมวาระพิเศษร่วมกับสุลต่านผู้ปกครองในแต่ละรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่อจากนั้นสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชาบดีทรงใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามที่ระบุอยู่ในมาตรา 40 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ 
KiniTV
ขณะเดียวกัน เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า แม้อิสมาอิล ซาบรี ได้รับเสียงสนับสนุนยืนยันในเบื้องต้นจากสภาผู้แทนราษฎร 114 จาก 222 เสียง ซึ่งถือว่าเกินครึ่ง แต่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชประสงค์ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเข้าสู่กระบวนการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจจากที่ประชุมอีกครั้ง "ให้เร็วที่สุด" เพื่อยืนยัน "การมีเสียงสนับสนุนข้างมากอย่างแท้จริง" โดยสภามีกำหนดกลับมาประชุมในวันที่ 6 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียต้องทรงแก้ไขวิกฤติการเมืองภายในประเทศด้วยพระองค์เอง เริ่มจากการลาออกจากตำแหน่ง "แบบเหนือความคาดหมาย" ของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เมื่อปลายเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ต่อจากนั้นไม่กี่วัน พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายมูห์ยิดดิน ยาสซิน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
CNA
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ ( อัมโน ) พรรคการเมืองขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุด "เป็นตัวแปรสำคัญ" ส่งผลอย่างหนักต่อการบริหารท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 และทำให้มูห์ยิดดินตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ก่อนถึงกำหนดการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจในเดือนหน้า และการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือน ก.ค. 2565 ด้วย
ขณะที่การรับตำแหน่งของอิสมาอิล ซาบรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคอัมโน และเคยทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชองมูห์ยิดดิน เท่ากับเป็นการหวนคืนสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองของพรรคเก่าแก่แห่งนี้ หลัง "พ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์" ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 และต้องพ้นจากการผูกขาดการเป็นรัฐบาลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มาเลเซียเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2500 แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะสมาชิกระดับสูงหลายคนของพรรคอัมโนยังมี "ชนักติดหลัง" เรื่องการทุจริตในกองทุนพัฒนาแห่งชาติ "วันเอ็มดีบี".

เครดิตภาพ : AP