สถานการณ์สังคมไทย-ประเทศ ไทยใน“ปีใหม่ พ.ศ. 2566” นี้ ก็ยังคง “มีเรื่องหนัก ๆ ให้ต้องฝ่าฟัน” อยู่ไม่น้อย ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คนไม่เพียงต้องใช้แรงกายอย่างมาก…หากแต่ยัง “ต้องพึ่งแรงใจ” ด้วย… อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เรื่องหนัก ๆ เรื่องร้าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ โรคระบาด หรืออื่น ๆ ได้คุกคามคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน…จึงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่ออกปากว่า “แรงใจอ่อนแอเหลือเกิน” จากการที่ “สู้แล้วก็ต้องสู้อีก”…“เครียดแล้วก็ต้องเครียดอีก” ซ้ำ ๆ…

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ “ขอเอาใจช่วย”…
ขอให้ผู้ที่เจอเรื่องหนัก ๆ ฝ่าฟันไปได้
และวันนี้ก็ “นำแนวทางดี ๆ มาบอกต่อ”

กับการจะมี “แรงใจที่เข้มแข็ง” นั้น…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอนำเสนอ “คำแนะนำเพื่อการปรับจิตใจสู้วิกฤติ” ซึ่งเป็นแนวทางที่นักวิชาการภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน ได้เคยให้คำแนะนำไว้ โดยเป็น “แนวทางการแก้ไขปัญหาสภาวะทางอารมณ์” ที่หลักใหญ่ใจความมีว่า… คนเราแต่ละคนนั้น ต่างก็มีความรู้สึกหรือความวิตกกังวล…แตกต่างกันไป โดยความ “วิตกกังวล” นี้เองที่เป็น “สาเหตุทำให้คิดมาก” ซึ่งก็มีทั้งกรณี “คิดมากเรื่องตัวเอง” มีทั้งกรณี “คิดมากเรื่องคนอื่น” และจากการที่คิดมาก…ก็จะเข้าไปสู่ภาวะ “เครียดมาก”…

ทางนักวิชาการภาควิชาจิตวิทยาท่านเดิมยังระบุเชิงแนะนำไว้ต่อไปว่า… ความวิตกกังวลมักมาพร้อมกับ “กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น” จนทำให้ชีวิตได้รับผลกระทบ!! เช่น หากเป็นเจ้าของกิจการ ก็อาจจะกลัวต้องปิดกิจการ …นี่ก็ตัวอย่างความวิตกกังวลที่อาจจะนำสู่ความ “เครียด” อย่างไรก็ดี ทาง ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน ได้ให้คำแนะนำ “วิธีจัดการอารมณ์…เพื่อจัดการความวิตกกังวล-คิดมาก-เครียด” เอาไว้ สรุปได้ว่า… “ต้องพยายามมีสติ” โดยเฉพาะเมื่อประสบกับอารมณ์ดังที่ว่ามาซ้ำ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทางจิต และปัญหาทางกายก็อาจเกิดได้ด้วย ดังนั้น ที่ต้องทำคือ…

“มีสติ…เพื่อจัดการความเครียดเบื้องต้น”

ทั้งนี้ กับ “แนวทางปรับจิตใจเพื่อรับมือความเครียด” ที่ก็ถือเป็น “อีกเรื่องท้าทายคนไทยในปีใหม่ 2566” นี้ เรื่องนี้ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ได้เคยให้คำแนะนำไว้ว่า… ที่ผ่าน ๆ มา คนไทยต้องเจอกับวิกฤติปัญหาต่าง ๆ มากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง การระบาดของโควิด-19 ปัญหาฝุ่นจิ๋ว-ฝุ่นพิษ และยิ่งมีเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาซ้ำเติม นี่ก็ยิ่งส่งผลทำให้ “ชีวิตตึงเครียด” ที่มาจากความ “วิตกกังวล” …ซึ่งใครก็ตามที่ต้อง “เผชิญปัญหาความไม่แน่นอนของชีวิต” ก็อาจจะ…

“กระทบจิตใจจนเกิดปัญหาสุขภาพจิต”
สังเกตได้จากการที่ “รู้สึกไม่มีความสุข”

และจากความ “วิตกกังวล” ความ “เครียด” ที่ทำให้ “ไม่มีความสุข” นั้น กรณีนี้ก็อาจจะ “ส่งผลต่อสภาพร่างกายได้ด้วย” โดย ดร.วัลลภ บอกว่า… เมื่อคนเราไม่มีความสุขจากความเครียดก็อาจทำให้ “เกิดโรค” ต่าง ๆ ได้ และยังส่งผลตามมาด้วยเรื่องของการ “ขาดประสิทธิภาพการทำงาน” ซึ่งปัญหาความเครียดในสังคมไทยยังนำสู่เรื่องที่ “น่าเป็นห่วง” คือมีหลายคนที่หาทาง “ระบายความเครียดในทางที่ผิดจนยิ่งส่งผลกระทบกับชีวิตและครอบครัว” ไม่ว่าจะเป็นการ เข้าหาสิ่งมึนเมา ยาเสพติด หรือหวังลม ๆ แล้ง ๆ หวังพึ่งพาการเสี่ยงโชคอย่างการ เล่นการพนัน ที่จะยิ่งส่งผลเสียหายเพิ่มขึ้น

นักจิตวิทยาท่านเดิมได้แนะนำเรื่องนี้ไว้อีกว่า… ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ สถานการณ์หนัก ๆ ที่เป็นเรื่องไม่ดี ไม่ว่าจะโรคระบาด หรืออื่น ๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะควบคุมได้ จนทำให้เกิดความเครียดในจิตใจนั้น ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะกลัว แต่ก็ไม่ควรกลัวแบบมีแต่ความวิตกกังวลจนบั่นทอนจิตใจ ควรกลัวแบบเพื่อความปลอดภัย เพื่อที่จะหาทางแก้ไข-ระวังป้องกัน จะดีกว่า และที่สำคัญ “ต้องอยู่กับมันให้ได้ และก็ต้องอยู่อย่างมีความสุขด้วย” โดยมีหลักคือ

“คิดให้ได้”…
“คิดให้เป็น”
เพื่อหาทางออกที่ถูกวิธี…
“ไม่ถลำใช้วิธีที่ผิดจนชีวิตยิ่งเสียหาย!!”

และ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ก็ยังแนะนำไว้ด้วยว่า… อย่าไปกังวลกับเรื่องอนาคตมากนัก ต้อง “พยายามคิดด้านบวก” หากิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข หากิจกรรมทำกับครอบครัวโดยที่ไม่ต้องออกไปพยายามหาความสุขนอกบ้าน เพราะเมื่ออยู่นอกบ้านก็มีโอกาสเจอกับปัญหาเรื่องเครียด ๆ และเหนื่อยล้า ก็ใช้วิธีกลับบ้านเพื่อทำกิจกรรมกับครอบครัวจะดีกว่า

“ในวิกฤติต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตมีความสุขได้ ต้องปรับจิตใจพัฒนาจิตใจเพื่อให้เข้มแข็ง เพื่อสู้กับสิ่งที่ต้องเจอ กับปัญหาที่ต้องเผชิญ คนที่อยู่รอดได้คือคนที่สามารถปรับตัวปรับจิตใจได้ตามสถานการณ์ ซึ่ง… ถ้าคนเราเจอกับปัญหา แล้วยิ่งมัวแต่มานั่งกังวล ก็ยิ่งไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น…” …ต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็น “หลักคิด” เพื่อ “เสริมสร้างแรงใจให้เข้มแข็ง” เพื่อฝ่าฟันเรื่องหนัก ๆ ที่ชีวิตต้องเผชิญ” ที่ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแนะนำไว้…

หลักคิด” ดังว่านี้ “ปีใหม่ 2566 ก็น่าคิด”
คิดแล้ว “อาจทำไม่ง่ายแต่ก็น่าคิดน่าทำ”
เอาใจช่วยไว้ ณ ที่นี้ “ขอให้คิดได้ทำได้”.