ในวันนี้ ทีมการเมืองเดลินิวส์ จึงนำโจทย์การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

โดย ดร.เจษฏ์ เปิดฉากกล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่น่าจะผ่านสภาฯ โดยพิจารณาจากภูมิทัศน์ทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องที่หนึ่งคือ เรื่องระบบเลือกตั้ง ที่นำเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย หากผ่านวาระ 1 แล้วไปปรับแก้กัน พูดคุยปรับแต่งกันลงตัวในวาระ 2 แล้วไปโหวตวาระ 3 ให้กัน แต่หากปรับแต่งไม่ลงตัวอาจจะไม่โหวตวาระ 3 ให้กัน ซึ่งนัยสำคัญของวาระ 3 ในแต่ละเรื่องจะต้องมีเสียงของฝ่ายค้าน หรือเสียงของพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภา รองประธานสภา อย่างน้อยร้อยละ 20 ถ้าหากว่าพรรคพลังประชารัฐคุยกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ วาระ 3 ก็ไม่ผ่าน ทั้งนี้ เรื่องระบบเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ พรรคพลังประชารัฐ เสนอเข้าทาง พรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเอาด้วยอยู่แล้ว ส่วน ส.ว. คงรอฟัง พรรคพลังประชารัฐ แล้วโหวตตาม ดังนั้นเรื่องระบบเลือกตั้งคงจะผ่านแน่

เรื่องที่สองคือเรื่องการใช้งบประมาณ แม้วันนี้จะคุยกันแล้วและมีความรู้สึกว่าหลายๆ เรื่องยังตึงเกินไป สำหรับการที่จะใช้งบประมาณได้แบบสะดวกมือ เพราะวันนี้ถึงแม้ฝ่ายบริหารจะใช้งบประมาณได้แบบไม่ค่อยติดขัด แต่ฝ่ายสภามีหลายคนพูดว่าเดิมที่มีงบ ส.ส. ที่สามารถเอาลงไปช่วยพื้นที่ได้โดยตรงแบบสะดวกมือตอนนี้ยังติดอยู่ แต่ก็เห็นตัวแทนพรรคพลังประชารัฐพูดในสภาว่ามาตราที่เกี่ยวกับงบประมาณพอถึงวาระ 2 ปรับแต่งกันได้แน่ ให้รับหลักการไปก่อน

ดังนั้นก็หมายความว่าไม่แน่ งบ ส.ส.ที่เคยมี อาจจะกลับมา แต่จะกลับมาในรูปแบบไหน ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ เพราะลงตัวสำหรับพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างฝ่ายต่างก็อยากจะใช้สะดวกมือ และต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตัวเองจะได้กลับมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นวางไว้ที่สะดวกมือก่อน พอได้กลับมาเป็นรัฐบาลก็จะได้ใช้คล่องมือไปด้วยเลย ซึ่งตรงนี้ลงตัว ส่วน ส.ว.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรนัก และคงรอฟังจากพรรคพลังประชารัฐ

เรื่องที่สามคือเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผลักดันให้ระหว่างสู้คดีสามารถประกันตัวได้นั้น ก็เป็นหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการที่ไม่ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว มีภาวการณ์ในแต่กรณี แต่ละคดีว่าทำไมถึงประกันตัวไม่ได้ แต่ถ้าหลักการโดยทั่วไประหว่างการสู้คดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าใครผิดก็จะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มีการให้ประกันตัว ซึ่งถือเป็นหลักการอยู่แล้ว

เรื่องพวกนี้แม้จะกระชับพื้นที่ในรัฐธรรมนูญแบบไหน แต่หลักการก็ยังคงเป็นหลักการ ซึ่งอาจจะเป็นน้ำจิ้มไว้ล่อประชาชนว่าได้ปรับเรื่องสิทธิเสรีภาพให้ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยก็คงเอาด้วย พรรคพลังประชารัฐก็คงโอเค พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายรวมถึงพรรคฝ่ายค้าน และพรรคก้าวไกล อาจจะพร้อมเอาตามได้ หากมีการปรับแต่งในวาระ 2

ส่วนเรื่องที่คงไม่ผ่านแน่ คือ เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. หรือการยกเลิกเรื่องการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว. รวมทั้งการปรับเรื่องการทำหน้าที่ของ ส.ว.ทั้งหมด คงเป็นเรื่องที่จะผ่านยาก เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐคงไม่เอา เพราะเรื่องนี้เป็นกลจักรสำคัญที่จะช่วยธำรงรักษา และค้ำจุนพรรคพลังประชารัฐ และอดีต คสช. ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐก็คงไม่อยากยกเลิกเรื่องนี้ ขณะที่ ส.ว. เอง แม้จะมีบางส่วนที่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากและคงไม่มีนัยถึงขนาดที่จะทำให้เกิดผลกระทบเรื่องเสียงที่จะทำให้เรื่องนี้ผ่านนั้นเป็นไปไม่ได้ ต่อให้พรรคเพื่อไทย รวมกับก้าวไกล และ ส.ว.บางส่วน ก็คงสู้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าในส่วนของพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไร แต่คิดว่าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ ส.ว. คงได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ดังนั้นเรื่องนี้คงจะไม่ผ่านแน่นอน ส่วนเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ น่าจะอยู่ที่การแลกเปลี่ยนกัน

@ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในสภา หรืออุบัติเหตุทางการเมืองในสภาหรือไม่

ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในสภาได้ เพราะเดิมที่จะปิดสวิตช์ ส.ว.ในครั้งนั้น การแก้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ และตอนนั้นการชุมนุมทางการเมืองยังมีมาก แรงหนุนแรงกระเพื่อมยังมีอยู่สูง ขณะที่น้ำหนักของหลายพรรคยังพอมีอยู่ และโยกคลอนรัฐบาลได้ สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น รวมถึงเรื่องโรคระบาดตอนนั้นยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะมาหรือไม่มา วัคซีนมาแล้วจะจัดการได้หรือไม่

หากเทียบกับตอนนี้แม้การจัดการวัคซีนหลายคนจะบอกว่าไม่ดี แต่ก็มีวัคซีนมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ของรัฐบาลถือว่าดีขึ้น ด้วยปัจจัยนี้แรงกระเพื่อมในสภาคงไม่เกิด แต่แรงกระเพื่อมนอกสภาไม่แน่ ต้องรออีกสักพักหนึ่ง แรงกระเพื่อมคงมีแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีมากหรือน้อย และจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน



หากรูปแบบการเลือกตั้งเปลี่ยน แต่ ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกฯได้ จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากการเลือกตั้งได้หรือไม่

ถ้าไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคเดียวที่ได้ประโยชน์ พรรคอื่นไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะการออกแบบ ส.ว.นี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้กับเสียงข้างมากในสภา แต่ออกแบบมาเพื่อเป็นกันชน หรือเป็นตัวช่วยในยามที่เสียงข้างมากในสภาไม่ไปทางพรรคพลังประชารัฐ ไม่ไปทางอดีต คสช. ไม่ใช่ว่าได้เสียงข้างมากในสภาแล้ว ส.ว.มาโหวตตามเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้เสียง ส.ว.ในก๊อกแรกเลย

@สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดได้หรือไม่

ตนพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์ เลยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในทุกๆเรื่อง ไม่ได้แก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เป็นมาโดยตลอดแน่นอน การนำเสนอระบบเลือกตั้งที่เดิมเคยใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เป็นการไปโหนกระแสการเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพอเอามาใช้ในตอนนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาทางการเมืองที่เป็นมาได้เลย.