ในรอบปี 2565 “เดลินิวส์” โดย “ทีมวิถีชีวิต” ได้นำเสนอ “เรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ” ของผู้คนทุกเพศทุกวัยในหลากหลายสาขา ซึ่งในเรื่องราวชีวิตนั้นก็มี “แง่คิดดี ๆ” หรือมี “วิธีคิดดี ๆ” ที่จากปีเก่าสู่ปีใหม่ก็ยังคง “ร่วมสมัย”… และในโอกาสก้าวสู่ปีใหม่ปี 2566 ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ก็ได้พลิกแฟ้มประมวลเรื่องราว “วิถีชีวิตเด่น” ในปี 2565 มานำเสนอเน้นย้ำไว้บางส่วนโดยสังเขป ซึ่งแง่คิดดี ๆ วิธีคิดดี ๆ จากวิถีชีวิตเด่น ๆ นี่ก็อาจจะเป็น “กรณีศึกษาดี ๆ” ให้วิถีชีวิตคนอื่น ๆ ได้ด้วย…

“เพื่อน ๆ สมัยเรียนอยู่ที่มาเลเซียมาเที่ยวไทย และขอให้พาไปเดินป่า ทำให้ได้เจอเด็กบนดอยอายุเกือบ 10 ขวบคนหนึ่ง ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และเพื่อน ๆ ก็ถามว่าทำไมเด็กไทยจึงไม่ได้เรียนหนังสือ…” นี่เป็นจุดเริ่มต้นการเป็น “ครูอาสาบนดอย” ของ “ครูสุ-สุนันทา คีรีรักษ์” หรือที่หลายคนรู้จักเธอในฐานะ “ครูอาสาแบกเป้เที่ยว” ซึ่งเจ้าตัวเล่าชีวิตให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังไว้ว่า เธอมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก โดยหลังจากคุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน ด้วยความที่เป็นพี่คนโตของน้อง ๆ 6 คนจึงต้องช่วยดูแลน้อง ๆ และเมื่อส่งน้องไปโรงเรียนหมดแล้ว เธอจะต้องรีบวิ่งไปโรงเรียนที่ห่างไป 4 กิโลเมตร ให้ทันทำเวรอาสาทุกเช้า เพื่อให้ได้คูปองกินข้าวฟรี จนอายุ 14 ปี เธอก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่มาเลเซีย จนจบปริญญาตรี ส่วนเส้นทางการเป็นครูนั้น เธอยอมรับว่าไม่คิดฝันจะมาทำอาชีพครู เพราะไม่ได้ชอบตั้งแต่เด็ก แต่มีจุดเปลี่ยนคือ เมื่อโรงเรียนที่คุณป้าสอนอยู่ต้องการครูดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งคุณป้าเห็นว่าเธอจบมาโดยตรงด้านนี้ จึงชวนให้ทำงานด้วย ซึ่งตอนแรกเธอตั้งใจจะแค่ช่วยเท่านั้น แต่ทำไปทำมารู้สึกผูกพันกับเด็ก จนยึดอาชีพนี้มาเรื่อย ๆ ส่วน “เส้นทางครูอาสาบนดอย” นั้น ครูสุเล่าไว้ดังที่ระบุในตอนต้น ซึ่งเมื่อเธอถูกถามว่าทำไมเด็กไทยจึงไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้เธออึ้ง จนตั้งใจว่าจะกลับไปสอนหนังสือให้เด็ก ๆ บนดอย และเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นครูอาสาบนดอยของเธอ โดยหลังจากสอนเด็กบนดอยได้สักพัก เธอก็อยากทำงานนี้ให้มากกว่าเดิม จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นครูอาสาเต็มตัว โดยหาเลี้ยงชีพวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีด้วยการขายต้นไม้ พอถึงวันศุกร์ก็จะแบกเป้ขึ้นดอยไปสอนหนังสือเด็ก จนเมื่อเรื่องราวของเธอถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียล คนก็ให้ความสนใจกับภารกิจที่เธอทำ จนตอนหลังเธอจึงช่วยเป็นตัวกลางรับสมัครครูอาสาและแพทย์อาสาไปช่วยคนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล ที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ ครูสุ-สุนันทา เจ้าของเรื่องราวชีวิตเรื่องราวนี้ ได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ผลักดันให้เธอยังคงยืนหยัดอยู่จุดนี้ว่า คือ “คำพูดขอบคุณ” ที่เหล่าจิตอาสาซึ่งได้มาทำงานด้วยบอกกับเธอ หลังจากได้มาร่วมภารกิจดี ๆ กับเธอแล้ว ทุกคนรู้สึกมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น พร้อมกับบอกเธอด้วยว่า อยากที่จะช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาสให้ได้เหมือนที่เธอทำ นี่เป็นเรื่องราวของ “ครูสุ-ครูอาสาบนดอย” ที่ “ทีมวิถีชีวิต” ได้มีการนำเสนอในปี 2565 ที่สะท้อน “พลังแห่งการให้”

“แม้เงินเดือนจะไม่เยอะ แต่ทำงานนี้แล้วมีความสุข ทำให้ทำงานได้ทุกวันแบบไม่ต้องมีวันหยุดเลย…” …นี่เป็นความรู้สึกที่ “หมอโบว์-สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร” เจ้าของเรื่องราว “คุณหมอตัวเล็ก-คนไข้ไซซ์จัมโบ้” ถ่ายทอดกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ในปี 2565 ถึง “เส้นทางเป็นหมอรักษาช้าง” ของเธอ โดยคุณหมอโบว์ได้เล่าไว้ว่า การได้มาเป็นหมอรักษาช้างของเธอเหมือนกับพรหมลิขิต เพราะช่วงที่เธอสมัครงานที่ โรงพยาบาลช้างกระบี่ ตอนนั้นยังไม่มีตำแหน่งงานว่าง แต่เผอิญช่วงนั้นมีช้างป่วยหนักติดเตียงรักษาตัวอยู่ ทำให้ต้องการคนมาช่วย เธอจึงอาสาทำภารกิจนี้ แม้จะรู้ว่าช้างที่ป่วยแบบนี้มีโอกาสล้มหรือเสียชีวิต และหากช้างเสียชีวิต งานที่เธอฝันไว้ก็อาจต้องยุติลงเช่นกัน แต่ที่สุดช้างดังกล่าวก็รอดชีวิต เธอจึงได้รักษาช้างเรื่อยมา ซึ่งด้วยความที่คุณหมอตัวเล็ก เมื่อเทียบกับขนาดตัวคนไข้ของเธอที่ไซซ์จัมโบ้ ทำให้เมื่อคลิปหรือภาพการทำงานของเธอได้ถูกเผยแพร่ออกไป ชีวิตและการทำงานของหมอโบว์ก็กลายเป็นที่สนใจจากสังคม อย่างไรก็ตาม คุณหมอโบว์ย้ำว่า ลำพังเธอคนเดียวคงไม่สามารถช่วยช้างได้ แต่เพราะมีทีมงานคอยช่วยเหลือจึงทำให้เธอทำงานนี้ได้ ซึ่งการรักษาช้างเป็นงานที่เสี่ยงและหนัก บางทีต้องเดินเท้าบุกป่าฝ่าดงเข้าไปในที่ห่างไกลเพื่อไปช่วยช้างที่ป่วยหรือบาดเจ็บ แต่เธอก็รู้สึกรักในงานนี้ ทั้งนี้ แม้คุณหมอตัวเล็กจะดูแกร่ง แต่อีกมุมของชีวิตของหมอโบว์นั้น เธอก็มีความรับผิดชอบหนักอึ้งไม่แพ้กับการที่ต้องรักษาช้าง เพราะคุณแม่ของคุณหมอป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้เธอต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเสริมรายได้ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลคุณแม่ของเธอ เพราะค่าตอบแทนในอาชีพการเป็นหมอรักษาช้างนั้นไม่ได้มากอะไร แต่เธอก็มองเรื่องนี้ด้วยมุมมองเชิงบวกว่า ด้วยความที่หมอรักษาช้างต้องทำงานตากแดดตากลม ทำให้เธอไม่จำเป็นต้องแต่งตัวแต่งหน้าสวย ๆ จึงตัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปได้มาก แม้ภารกิจจะเสี่ยงจะหนัก แถมค่าตอบแทนก็ไม่ได้มาก แต่ “หมอโบว์-สพญ.รัชดาภรณ์” ก็บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ถ้าเลือกได้ ก็ยังเลือกเป็นหมอรักษาช้างต่อไป เพราะ “คุณหมอตัวเล็กตกหลุมรักคนไข้ไซซ์จัมโบ้” แล้วนั่นเอง

“เหมือนฝันเลยค่ะที่เราทั้งสองได้โชว์ที่นี่ แถมได้นำเครื่องดนตรีไทยที่เราชอบแสดงให้คนต่างชาติได้รับฟังด้วย…” …นี่เป็นความรู้สึกที่บอกเล่าผ่านน้ำเสียงสดใส ที่ “น้ำวุ้น-วาลิกา ตรีวิศวเวทย์” และ “น้ำขิง-อคิราภ์ ตรีวิศวเวทย์” บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ จากการที่ทั้งคู่นั้นได้ขึ้นแสดงบรรเลงเครื่องดนตรีไทย อย่าง “ขิม” และ “ระนาด” บนเวที Carnegie Hall (Weill Recital Hall) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากสองพี่น้องได้รับรางวัล First Prize จากเวที Golden Classical Music Award 2021 จนได้รับเชิญให้ขึ้นโชว์บนเวทีระดับโลกนี้ อย่างไรก็ตาม แต่เส้นทางของทั้งสองพี่น้องกว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็ไม่ได้ง่าย ทั้งคู่ต่างก็ต้องทุ่มเท อดทน ฝึกฝน ตั้งใจ และต้องใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะมีวันนี้ โดยน้ำวุ้นได้เล่าให้ฟังว่า เธอหัดเล่นขิมตอน ป.5 เพราะชอบที่ขิมเป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงที่อ่อนหวานได้ พร้อมกับการให้เสียงที่ดุดันได้ในคราวเดียวกัน ขณะที่น้ำขิงบอกว่า ก็เคยเล่นขิมมาก่อน ก่อนจะมาหัดเล่นระนาดตอนอยู่ ป.5 หลังเห็นโชว์ที่มีระนาดเป็นเครื่องดนตรีเอกชูโรงบนเวทีหนึ่ง จนเธอรู้สึกว่าเครื่องดนตรีไทยนี้ดูเท่มาก ๆ นี่เป็นแรงบันดาลใจของสองพี่น้องคู่นี้กับเครื่องดนตรีไทยที่ทั้งสองคนเลือก ส่วน “เส้นทางสู่คาร์เนกีฮอลล์” น้ำวุ้นเล่าว่า “ครูอัพ-กามเทพ ธีรเลิศรัตน์” ครูสอนดนตรีไทยของทั้งสองจุดประกายเรื่องนี้ ด้วยการแนะนำให้ลองส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งพอทั้งสองคนได้ยินคำว่าคาร์เนกีฮอลล์ ก็อยากที่จะลองดู เพราะที่นี่เป็นเวทีที่นักดนตรีทั่วโลกใฝ่ฝันจะได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิตที่จะได้ขึ้นแสดงทั้งสองจึงลองส่งคลิปแสดงเครื่องดนตรีไทยไปประกวด จนได้รางวัลชนะเลิศ และได้รับเชิญให้ขึ้นโชว์ ทั้งนี้ กับรางวัลที่ได้รับ และการได้รับเชิญให้ขึ้นโชว์ที่คาร์เนกีฮอลล์นั้น น้ำวุ้น-น้ำขิงบอกว่า แม้โอกาสที่ดีในชีวิตนี้จะทำให้ทั้งคู่รู้สึกดีใจ แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่ภูมิใจที่สุดก็คือ ประโยคที่คุณพ่อคุณแม่ของพวกเธอได้บอกเสมอว่า การที่ได้เห็นทั้งสองคนมีความพยายามตั้งใจทำ…คือสิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัลเสียอีก และด้วยความที่สองพี่น้องรับรู้ได้ดีว่า “โอกาสคือสิ่งที่ล้ำค่า” ทั้งสองคนจึงตั้งใจเอาไว้ว่า อยากที่จะช่วยสานฝันเด็กคนอื่น ๆ ให้ได้รับโอกาสดี ๆ ในชีวิตเช่นพวกเธอบ้าง ซึ่งทั้งคู่บอก “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ว่า อยากทำแพลตฟอร์มขึ้นสักแพลตฟอร์มหนึ่ง เพื่อสนับสนุนเด็กไทยคนอื่นที่เล่นเครื่องดนตรีไทยให้ได้มีโอกาสเหมือนที่พวกเธอเคยได้รับนี่เป็นความตั้งใจของ “น้ำวุ้น-น้ำขิง” สองพี่น้องนักดนตรีไทยคู่นี้ ที่ได้รับเชิญขึ้นโชว์บนเวทีดนตรีระดับโลก ซึ่งนอกจาก “เก่ง-มีฝีมือ” แล้ว ยัง “คิดดี-ตั้งใจดี” จะ “ทำดี” เพื่อคนอื่น ๆ ด้วย

“ด้วยความที่คนรอบข้างพูดกับเรามาตลอดว่าเราเป็นคนไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถทำอะไรให้สังคมได้ เราก็เลยอยากลบคำสบประมาทนั้น…” …นี่เป็นความรู้สึกในอดีตที่ “ยูทูบเบอร์สายจับโกงชื่อดัง” อย่าง “แก๊ซ-มรุต ทรัพย์โรจนสกุล” เผยไว้ หลังจากที่เขาได้เปิดช่องยูทูบเพื่อทำ “คลิปจับคนโกงในวงการเกมออนไลน์” ซึ่งทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้นำเรื่องราวของเขามานำเสนอไว้ในปี 2565 โดยยูทูบเบอร์ชื่อดังรายนี้เล่าไว้ว่า ตัดสินใจเปิดช่องยูทูบของตัวเองขึ้นมา เพื่อช่วยคนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่แอบแฝงเข้ามาในโลกเกมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แต่เส้นทางชีวิตของเขาก่อนที่จะมาถึงวันนี้ได้ เขาก็ต้องอดทนพยายามอย่างมาก เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า เขาไม่ใช่คนไม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ เขาได้เล่าว่า ด้วยความที่เรียนไม่เก่ง ทำให้ไม่อยากเรียนต่อ โดยหลังจากเรียนมหาวิทยาลัยได้ 1 ปี ก็รู้สึกไม่มีความสุข จนตัดสินใจลาออก และหันมาทำงานรับจ้างทั่วไป รวมถึงใช้ “ความสามารถด้านการเต้น” หารายได้เลี้ยงชีพ จนที่สุดก็เปิดสถาบันสอนเต้นของตัวเองได้ แต่ขณะที่โรงเรียนสอนเต้นที่ทำอยู่กำลังไปได้สวย ก็ดันมาเกิดโควิด-19 ระบาด จนทำให้เขาต้องขาดรายได้อย่างมาก ซึ่งเมื่อดูแล้วว่าสถานการณ์แย่แบบนี้น่าจะอีกนาน เขาจึงมองหาอาชีพอื่นเพื่อประคับประคองชีวิต นอกเหนือจากการสอนเต้น โดยมองที่ “เกมออนไลน์” ซึ่งช่วงนี้เขาเริ่มหันมาทำสตรีมเกมและแคสเกมลงช่องยูทูบ ที่ต่อมาก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “ยูทูบเบอร์จับโกง” หลังจากมีเด็กคนหนึ่งมาขอให้ช่วยเหลือ โดยเด็กคนนั้นถูกมิจฉาชีพหลอก ซึ่งภารกิจตามล่าคนโกงครั้งนั้น เขาได้ทำคลิปขึ้นมาเพื่อบอกเล่ากระบวนการไล่ล่าคนโกง ซึ่งคลิปนั้นก็ได้กลายเป็นไวรัลโด่งดังขึ้นเพียงแค่ข้ามคืน จนทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และต่อมาเขาก็ได้เปิดเพจเฉพาะขึ้นมาเพื่อหวังที่จะช่วยเหลือไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ โดยนอกเหนือจากการที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ แล้ว กับภารกิจที่ “แก๊ซ-มรุต” เจ้าของฉายา “ยูทูบเบอร์จับโกง” ทำอยู่ เจ้าตัวยังได้เผยถึงความรู้สึกลึก ๆ ในใจของเขาเอาไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ภารกิจที่ทำอยู่นี้ก็ช่วยเติมเต็มชีวิตของเขา ทั้งยังลบคำปรามาสที่เขาเจอมาตลอดว่าเป็นคนไม่มีคุณภาพ-ไม่สามารถช่วยสังคมได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวชีวิต “คนไทยรุ่นใหม่” ที่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างให้อีกหลาย ๆ คนได้ ซึ่งเจ้าของเรื่องราวนี้ไม่เพียงจะไม่ยอมแพ้กับคำสบประมาท แต่ยัง “พิสูจน์คุณค่าตัวเอง” ได้อย่างดีกับเส้นทางชีวิตที่เลือกด้วย

“เด็ก ๆ ภูมิใจที่ได้เห็นหมอลำบ้านเราได้ไปอยู่บนเวทีระดับโลก แถมมีคนชื่นชอบด้วย…” …นี่เป็นสิ่งที่ “ครูเซียง-ปรีชา การุณ” ผู้ก่อตั้งคณะ “หมอลำหุ่น-คณะเด็กเทวดา” บอกเล่าไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” เมื่อช่วงกลางปี 2565 โดยเขาเล่าว่า คลุกคลีกับละครหุ่นมานานกว่า 20 ปี กับเคยทำละครใบ้-ละครเวทีที่กรุงเทพฯ มาก่อน จนมีโอกาสได้มาทำงานที่ จ.มหาสารคาม จึงนำความรู้ศิลปะและละครมาใช้ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนที่ติดสารระเหย และหลังจากมีโอกาสได้ดูศิลปะพื้นบ้านที่เรียกว่า “หนังตะลุงอีสาน” หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “หนังปะโมทัย” หรือ “หนังบักตื้อ” จึงอยากจะนำศิลปะการแสดงนี้มาผสมผสานกระบวนการทางด้านศิลปะ เพื่อนำมาช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในภาคอีสาน จนมีโอกาสได้เข้าไปสอนการแสดงละครให้นักเรียนที่ โรงเรียนบ้านหนองโนใต้ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรก ๆ หุ่นที่ใช้ประกอบการสอนจะเป็นหุ่นที่ทำจากโฟม หรือฟองน้ำ ซึ่งดูแล้วไม่สวยงาม จึงคิดหาวิธีทำหุ่นแบบใหม่ จนวันหนึ่งไปเห็นคนแก่กำลังนั่งสานหวดและกระติบข้าวอยู่ ซึ่งดูเหมือนหัวคนที่กำลังอ้าปากอยู่ ด้วยความที่ทำหุ่นมาก่อน ก็เลยมองว่ารูปทรงนี้น่าจะต่อยอดทำหุ่นได้ จึงร่วมกับเด็ก ๆ เปิดขอรับบริจาคกระติบข้าวที่ผุพัง หรือไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาลองทำตัวหุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่น ผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น นำมาตกแต่งหุ่น จนกลายเป็น “หุ่นกระติบเชิด” เพื่อแสดงหนังบักตื้อที่ไม่เหมือนใคร และกลายมาเป็นคณะแสดงคณะนี้ในที่สุด โดยที่ครูเซียงยอมรับว่า ไม่เคยคิดว่าคณะการแสดงศิลปะพื้นบ้านคณะนี้จะมาได้ไกลแบบนี้ จนถึงขั้นได้โชว์บนเวทีการแสดงระดับนานาชาติ ซึ่งครูเซียงย้ำว่า ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้เด็ก ๆ โดยเขาเป็นแค่ผู้ที่คอยสนับสนุนเด็ก ๆ เท่านั้น และเหนืออื่นใด สำหรับเขานอกจากทำให้เด็กเกิดความรู้สึกภูมิใจในศิลปะบ้านเกิดตัวเองแล้ว เขายังดีใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดีใจว่าลูกหลานของตนเองใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันคณะหมอลำคณะนี้มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 30 คน ซึ่งเรื่องราวของคณะการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่มีเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสำคัญคณะนี้ เรื่องราวความตั้งใจของ “ครูเซียง-ปรีชา” ที่ก่อตั้งคณะการแสดงคณะนี้ สะท้อนชัดเจนว่า “การสนับสนุนจากผู้ใหญ่สำคัญต่อเด็ก”

“รางวัลที่ได้รับทำให้รู้สึกดีใจ…แต่ถึงไม่ได้รางวัล…เราก็ได้ประสบการณ์…ได้แรงบันดาลใจ…ที่เราสามารถนำมาปรับปรุงการถ่ายภาพของเราได้…” …นี่เป็นความรู้สึกของ “จอมทัพ เจริญลาภนำชัย” ที่กลายเป็นจุดสนใจในฐานะ “ช่างภาพสัตว์ป่าวัยแค่ 14 ปี” เจ้าของรางวัลชมเชยจากเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก Wildlife Photographer of the Year ปี 2022 ที่ได้เผยไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยช่างภาพรุ่นเยาวชนคนนี้ได้เล่าถึงเส้นทางของเขาก่อนที่จะก้าวมาเป็นช่างภาพสัตว์ป่าว่า ตอนเด็ก ๆ เขาเป็นคนชื่นชอบแมลงมาตั้งแต่ตอนเรียนอนุบาลแล้ว จนเมื่ออายุ 7-8 ขวบ คุณพ่อได้นำกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปแมลงที่เลี้ยงไว้ ทำให้เขาสนใจอยากที่จะถ่ายภาพบ้าง จึงให้คุณพ่อสอนให้ และพอเริ่มถ่ายเป็น ก็ถ่ายภาพแมลงมาเรื่อย จากนั้นก็ขยายสู่การถ่ายภาพสัตว์ชนิดอื่น เริ่มจากนก และไปสู่การถ่ายภาพสัตว์ป่า โดยหลังเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น เขาก็เริ่มลองส่งภาพเข้าประกวดเพื่อหาประสบการณ์ ซึ่งในครั้งแรกภาพที่ส่งไปไม่ได้รางวัลเลย จนปีถัดมาจอมทัพก็ลองส่งอีกครั้ง คือปี 2563 ซึ่งในที่สุดเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมมาได้ถึง 3 รางวัลและจากนั้นก็คว้ารางวัลภาพถ่ายสัตว์ป่ามาเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุดเขาก็ได้ “สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย” หลังจากผลงานภาพถ่ายของเขาได้รางวัลชมเชยในเวทีประกวดระดับโลก Wildlife Photographer of the Year ปี 2022 หมวด Young Grand Title Winner 2022 จากผลงานภาพถ่าย “วาฬบรูด้า” ที่มีชื่อว่า “My city whale” ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงที่ Natural History Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยกับการถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น จอมทัพบอกว่า คนที่เป็นช่างภาพสายนี้ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะธรรมชาติไม่แน่นอน สัตว์ที่ตามถ่ายอาจไม่ออกมาให้เห็น หรือไม่แสดงพฤติกรรมที่เราต้องการ ช่างภาพทำได้แค่ค่อย ๆ เฝ้าดูและเฝ้าคอยเท่านั้น ที่สำคัญช่างภาพจะต้องมีสมาธิจดจ่อเพื่อเป้าหมาย เพราะหากพลาดแล้วอาจพลาดเลย และความผิดหวังก็เป็นสิ่งที่ช่างภาพสัตว์ป่าต้องเจอเป็นประจำเช่นกันทั้งนี้ จอมทัพยังบอกอีกว่า สิ่งที่เขาได้รับจากการเป็นช่างภาพสัตว์ป่านั้น นอกจากจะช่วยทำให้ตัวเขาเป็นคนที่อดทน มีสมาธิมากขึ้น รวมถึงฝึกนิสัยให้ตั้งใจในสิ่งที่อยากทำ ยังทำให้เขาเป็นคนที่มี “ความรับผิดชอบ” ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนอื่น ต่อธรรมชาติ และรวมไปถึงสัตว์ป่าด้วย โดยกรณี “จอมทัพ-ช่างภาพสัตว์ป่าวัย 14 ปี” ที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต ได้นำเรื่องราวชีวิตมาเสนอไว้ในปี 2565 นั้น นอกจากจะเก่งเกินวัยแล้ว ก็ยังสะท้อนถึง “ทัศนคติรักษ์โลกของเด็กไทยรุ่นใหม่” ด้วย

…เหล่านี้เป็นบางส่วน และโดยสังเขป จากเรื่องราวชีวิตที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้นำเสนอไว้ กับ “วิถีชีวิตเด่น” ในปี 2565 ที่อาจเป็นกรณีศึกษาดี ๆให้วิถีชีวิตคนอื่น ๆ ได้ในปี 2566 รวมถึงปีต่อ ๆ ไป… ด้วย “แง่คิดที่ดี” ด้วย “วิธีคิดที่ดี”…และที่ยิ่งสำคัญคือ… “การปฏิบัติที่ดี”


ทีมวิถีชีวิต : รายงาน