“ไหว้พระ สวดมนต์ ทำบุญตักบาตร” เป็นกิจกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ก่อนก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ขณะที่หลายวัดสำคัญ ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กำลังอยู่ในแพลนเดินทางไปไหว้พระทำบุญ อีกหนึ่งสถานที่เปิดพื้นที่เป็นหมุดหมายให้กับสายบุญและสายศิลปะได้ไปสักการะรับความเป็นสิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่

ปีนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อัญชิญพระพุทธรูปโบราณ พระพุทธรูปประจำวัน 9 องค์ ที่ล้วนแต่มีประวัติมีความเป็นมายาวนาน พร้อมด้วยพุทธศิลป์งดงามนำมาประดิษฐาน โดยมี พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นพระประธาน เปิดให้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ก่อนไหว้พระ สักการะพระพุทธรูปมงคล นำเรื่องน่ารู้ ประวัติพระพุทธรูป คติการสร้าง และความงามพุทธศิลป์ โดยฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์ฯ พระนครได้ให้ความรู้ไว้ว่า คติการสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก พระวิสุทธิคุณ มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์ และพระปัญญาธิคุณ มีคุณด้วยปัญญา พระพุทธรูปจึงมิใช่รูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติตามแนวของมหาบุรุษผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์ ประกอบด้วยความงามตามสุนทรียภาพ หรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละยุคสมัย

“พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้น ต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วยสรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้ยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร”

นักวิชาการฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูป พระพุทธรูปคือ สิ่งสักการะแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อจัดเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ฯ พระพุทธรูปเป็นโบราณวัตถุ การอัญเชิญนำออกมาให้ประชาชนสักการะ ได้กราบไหว้ขอพร เป็นการนำกลับสู่คติความหมายเดิมถึง “การสร้างพระพุทธรูป”

อีกทั้งถ่ายทอดแสดงคุณค่าของโบราณวัตถุชิ้นนั้น ให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น จะเห็นได้ว่าเวลาที่นำมาจัดตั้งจะไม่นำสิ่งใดครอบ จัดวางเหมือนพระพุทธรูปในบ้าน ทั้งคัดเลือกนำพระพุทธรูปที่มีความสมบูรณ์ หรือหากมีความชำรุดจะนำมาซ่อมแซมให้มีความสมบูรณ์ก่อนที่จะนำออกมาให้สักการะ

นอกจากเพื่อความเป็นสิริมงคล ในกิจกรรมไหว้พระในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ที่มีความต่อเนื่อง ยังเป็น การให้ความรู้ ให้ความเข้าใจในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปที่นำมาจัดแสดง โดยแต่ละปีจะมีหัวข้อการจัดแสดงต่างกันไปดังเช่น พระพุทธรูปลํ้าค่า ใช้วัสดุพิเศษ ที่มีความแตกต่างกันทั้ง ทองคำ เงิน แก้ว นาค งาช้าง และอัญมณี ฯลฯ

บางปีเรานำเรื่องราวพุทธศิลปะของประเทศไทยในแต่ยุคสมัย หรือพุทธศิลป์ของต่างประเทศ เคยนำมาจัดแสดงหรือพระพุทธรูปที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับช่วงเวลาของปีนั้น ๆ อย่าง สถานการณ์โควิด-19 อัญเชิญพระพุทธรูปมงคล ดังเช่น พระไภษัชยคุรุ โดยนับถือว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรคภัย ฯลฯ นำมาจัดแสดง พร้อมให้ความรู้ควบคู่กัน

ในปีนี้สักการะพระพุทธรูปประจำวัน “มงคลพุทธคุณ”อัญเชิญนำพระพุทธที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และพุทธศิลป์อันงดงาม โดยเข้าสักการะได้ถึง 8 มกราคม จากที่กล่าวทุก ๆ ปี ไม่เพียงอัญเชิญพระพุทธรูปออกมาให้สักการะอย่างใกล้ชิด แต่จะมีแง่มุมความรู้ ให้ข้อมูลพระพุทธรูปแต่ละองค์ พร้อมทั้งคติความหมายเผยแพร่

การสักการะพระพุทธรูปประจำวัน ครั้งนี้มี พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระประธานโดย พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 อายุกว่าห้าร้อยปีองค์นี้จากประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา แสดงปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์”

สำหรับพระพุทธรูปประจำวัน 9 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร หรือบางครั้งกล่าวถึง ปางห้ามญาติ พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ พระพุทธรูปไสยาสน์ (พระนอน) พระพุทธรูปประจำวันอังคาร พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางวัน) พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางคืน) พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันศุกร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ และ พระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) โดยทุกองค์มีประวัติ
มีความเป็นมายาวนาน และมีพุทธศิลป์อันงดงาม

ส่วนหนึ่ง นำความรู้จากฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์ฯ นำมาเล่าขยาย ดังเช่น พระหายโศก ปางสมาธิเพชร พระพุทธรูปศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษ 21 อายุกว่าห้าร้อยปีองค์นี้ พระพุทธรูปนามมงคล พระหายโศก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ประทับขัดสมาธิเพชรเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์ขวาวางควํ่าบนพระชานุ

พระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์ปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ ศิลปะสมัยอยุธยา โดยองค์ที่อัญเชิญมาครั้งนี้ทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอพระอุระและหันฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกด้านนอก แสดงเหตุการณ์พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าไปอาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงของชฎิลอุรุเวลกัสสป ริมแม่นํ้าเนรัญชรา พระพุทธองค์ทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ป้องกันไม่ให้นํ้าท่วม และทรงทรมานพญานาคที่อาศัยอยู่ในโรงเพลิงให้หมดพิษร้าย เหล่าชฎิลเห็นถึงความอัศจรรย์ในที่สุดก็ยอมเป็นศิษย์ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

“พระเกตุเป็นเทวดานพเคราะห์ที่ประจำอยู่ในทิศท่ามกลางและไม่เสวยอายุโดยตรง แต่เป็นเทวดาจรพลอยเข้าเสวยอายุร่วมกับเทวดาองค์อื่น และส่งเสริมลักษณะดีและร้ายของพระเคราะห์ที่แทรกอยู่ด้วยนั้น พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร บางตำราเป็นพระพุทธมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปางประจำวันของผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดของตน”

พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ที่อัญเชิญมาเป็น ปางห้ามสมุทร คือ ยกทั้งสองพระหัตถ์ แต่ที่อาจคุ้นเคย ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวา
ก็เป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์เช่นกัน ส่วนอีกหนึ่งปาง พระพุทธรูปไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำวันอังคาร ศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรบนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทาบไปกับพระวรกายเบื้องซ้าย พระบาทซ้ายซ้อนทับบนพระบาทขวา

พระพุทธรูปอิริยาบถบรรทมมีปรากฏในพุทธประวัติจากหลายเหตุการณ์ ในประเทศไทยนิยมสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์เพียงสองเหตุการณ์ คือ ปางโปรดอสุรินทราหู กับ ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนเหตุการณ์อื่นมักปรากฏในงานจิตรกรรม เป็นต้น

พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดสี่ชั้น เบื้องพระปฤษฎางค์ เป็นลำตัวพญานาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานปกเหนือพระเศียร ปางนาคปรก เหตุการณ์พุทธประวัติภายหลังจากตรัสรู้ในสัปดาห์ที่หก พระพุทธองค์เสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาบัติ ณ ร่มไม้จิก

ขณะนั้นฝนตกพรำตลอดเจ็ดวัน พญานาคตนหนึ่งชื่อมุจลินทนาคราช อาศัยอยู่ในสระใหญ่ใกล้ ๆ ที่นั้น ได้ขึ้นมาแผ่พังพานและขดกายล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ถูกหมอกนํ้าค้าง ลมและนํ้าฝน กระทั่งฝนหยุดตกจึงแปลงกายเป็นมาณพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าพุทธศิลป์ คติการสร้าง และความเป็นมาของพระพุทธรูปที่มีประวัติมายาวนาน

ไหว้พระสักการะเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ “ปีกระต่าย” ที่กำลังจะมาถึง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ