ศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่ช่างไทยนิยมใช้ประดับตกแต่งศาสนสถาน โบราณสถาน “งานปูนปั้น” ศิลปะแขนงดังกล่าวปรากฏร่องรอยหลักฐานมายาวนาน…

ลวดลายปูนปั้นหลายรูปแบบยังเป็นต้นทางการศึกษาสำคัญ ส่งต่อการสืบสาน สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ชวนตามรอยมองรอบด้านศิลปะปูนปั้น โดย ผศ.ประสิทธิ์ อัครวัฒนาศิริ หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง ให้ความรู้ เล่าถึงการสร้างสรรค์ เอกลักษณ์งานปูนปั้นว่า งานปูนปั้นมีความเป็นมายาวนานเป็นศิลปะที่อยู่เคียงคู่กับงานศิลปะไทยมาเนิ่นนาน ด้วยที่เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น มีความงามและมีความคงทน

“ปูนปั้น เป็นวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ มีส่วนผสมของปูนขาวหรือปูนที่ได้จากเปลือกหอยเป็นหลัก ผสมคลุกเคล้ากับส่วนผสมต่าง ๆ แล้วทำการโขลกตำให้เข้าที่ เนื้อปูนจะมีลักษณะเหนียวแน่น สามาถนำมาปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ เมื่อปูนแห้งจะมีคุณสมบัติแข็งตัวคงทนถาวร สมัยโบราณนิยมนำมาก่อ ฉาบ และปั้นตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรม”

ปูนปั้นโบราณมีสองลักษณะ ได้แก่ ปูนสูตรนํ้า เหมาะสำหรับปั้นประดับตกแต่ง อีกประเภทหนึ่งได้แก่ ปูนสูตรนํ้ามัน มีความนิยมใช้บริเวณภาคเหนือของไทย เหมาะสำหรับปั้นตกแต่งเช่นกัน และด้วยที่เป็นวัสดุที่ค่อนข้างมีความคงทนถาวร งานปูนปั้นจึงหลงเหลือหลักฐาน รูปแบบศิลปกรรมให้คนรุ่นหลังศึกษา

“งานปูนปั้น โดยหลักจะใช้ประกอบสถาปัตยกรรมไทย โดยจะเป็นวัดวาอารามเป็นส่วนใหญ่ จัดแบ่งเป็นยุคสมัยต่าง ๆ โดยในพื้นที่ของประเทศไทยที่มีการค้นพบงานประติมากรรมปูนปั้นพบสมัยทวารวดี  ขณะที่สมัยอยุธยาพบได้ค่อนข้างมาก โดยตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัด เป็นงานปูนปั้นชั้นครูได้แก่ที่ วัดเขาบันไดอิฐ วัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี โดยที่วัดเขาบันไดอิฐ จะปรากฏอยู่บริเวณหน้าบัน ขณะที่วัดสระบัว จะโดดเด่นที่ซุ้มเสมารอบพระอุโบสถ และอีกหลายวัดในจังหวัดเพชรบุรี ไม่ว่าจะเป็น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น

“ปูนตำจากที่กล่าวมีสองลักษณะ การนำมาใช้งานจะมีความต่างกัน อย่างเช่น ปูนเชื้อนํ้า ปูนสูตรนํ้า เป็นดั่งชื่อโดยมีนํ้าเป็นส่วนผสม เช่นเดียวกับนํ้ามัน จะใช้นํ้ามันตังอิ้วเป็นส่วนผสม การใช้งานค่อนข้างต่างกัน โดยปูนนํ้ามัน เวลานำมาใช้ต้องใช้ให้หมด เพราะเนื้อปูนจะแข็งไม่สามารถเก็บนำมาใช้ใหม่ได้  ต่างจากปูนนํ้าที่ยังใช้ต่อไปได้ แต่อย่างไรแล้วทั้งสองลักษณะ เมื่อปูนแห้งจะมีความแข็งแรง คงทน คงอยู่ได้ยาวนาน อย่างเช่นประติมากรรมปูนปั้นที่วัดเขาบันไดอิฐ มีอายุยืนยาว ปรากฏความงามมากว่าร้อยปี เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมานับแต่โบราณ”

หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ผศ.ประสิทธิ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า งานปูนปั้นจากที่กล่าว มักนำมาใช้ประดับตกแต่งศาสนสถาน พระอุโบสถ วิหาร เป็นงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นเพื่อศาสนา โดยนิยมนำวรรณกรรม พุทธประวัติ ฯลฯ นำมาประกอบให้สอดคล้องกับความเป็นมาของสถานที่นั้น ๆ ในปัจจุบันวัสดุปูนจากธรรมชาติ ปูนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในงานปูนปั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปูน สามารถนำมาใช้ได้สะดวกใช้ปั้นได้เช่นเดียวกับปูนตำ

วัสดุที่นำมาใช้ในงานประติมากรรม นอกจากปูนตำยังมีโลหะ ซึ่งส่วนนี้แยกย่อยออกเป็นไปได้อีกเช่น นวโลหะ ทองแดง ทองเหลือง ฯลฯ โดยขึ้นอยู่กับการนำวัสดุใดมาผสม เพื่อให้เกิดเป็นเนื้อโลหะนั้น ๆ ให้ความงามแตกต่างกัน อีกทั้งมี การจำหลักไม้ อีกหนึ่งวัสดุที่ค่อนข้างได้รับความนิยม ด้วยที่แต่เดิมมีวัสดุไม้ค่อนข้างมาก จะใช้ไม้นำมาสลักซึ่งสอดคล้องไปกับการใช้ปูนปั้น โดยหลายสถานที่ในจังหวัดเพชรบุรีปรากฏให้ศึกษาเที่ยวชมเช่นกัน”

ประติมากร หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ผศ.ประสิทธิ์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ศิลปะปูนปั้นแม้จะปรากฏมานับแต่สมัยทวารวดี แต่ยุคที่มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟู เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา โดยช่วงปลายสมัยอยุธยามีความซับซ้อน มีชั้นเชิงทักษะทางด้านศิลปะค่อนข้างมาก

งานปูนปั้นเป็นงานพุทธศิลป์ เป็นสื่อหนึ่งที่ถ่ายทอดพุทธธรรม คำสอนเผยแผ่ให้เข้าถึง รับรู้ได้เป็นอย่างดี โดยหากเทียบกับวัสดุอื่น ๆ ปูนปั้นจะมีวิธีการทำงานการปฏิบัติรวดเร็วกว่า หากเป็นงานโลหะ จะมีขั้นตอน มีกระบวนการทำงานซับซ้อน หรือหากเป็นงานไม้ ไม้ที่มักนำมาใช้จะเป็นไม้เนื้อแข็ง ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลา ฯลฯ 

“ปัจจุบันงานปูนปั้นยังคงได้รับการถ่ายทอดสืบสาน มีกลุ่มช่างปั้นปูนที่สร้างสร้างสรรค์งานปูนปั้นเป็นเอกลักษณ์อยู่ในหลายภูมิภาค อย่างเช่นช่างปูนปั้นทางภาคเหนือ ช่างปูนปั้นสุพรรณบุรี หรือช่างปูนปั้นเพชรบุรี ฯลฯ และงานปูนปั้นยังคงเป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยม

ด้วยที่งานปั้นปูนมีมนต์เสน่ห์ที่ความสด เป็นการปั้นที่ผ่านทักษะของช่างและจบที่ทักษะของช่าง ไม่ได้มีกระบวนการอื่นใดเข้ามาแตะต้อง เป็นความสดใหม่ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ บอกเล่าฝีมือช่างผ่านชิ้นงาน เป็นสุนทรียะที่มีความต่างจากกระบวนการสร้างสรรค์งานอื่น ๆ”

งานปูนปั้น จากที่กล่าวแต่ละยุคสมัย งานปูนปั้นมีรูปแบบการสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่น สมัยทวารวดี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา หรือในสมัยอยุธยาเองก็มีรายละเอียดของสมัย ในช่วงต้น กลาง และปลาย แต่ละพีเรียดจึงมีเอกลักษณะเฉพาะ ซึ่งส่งต่อการศึกษา การสืบสานอนุรักษ์

ผศ.ประสิทธิ์ ขยายความเพิ่มอีกว่าศิลปะปูนปั้นสมัยอยุธยาที่ถือเป็นชิ้นเอก เป็นต้นแบบให้กับการศึกษางานปูนปั้น สำหรับตนเองขอยกตัวอย่างเล่าถึงงานปูนปั้นที่ วัดเขาบันไดอิฐ โดยส่วนหน้าบัน ครุฑ ที่เป็นองค์ประธานของชิ้นงาน ครุฑที่ช่างปั้นจะยืนเอียง และมีลายก้านขดทั้งสองด้านงดงาม เป็นความร่วมสมัย ทั้งนี้ งานศิลปะไทยจะใช้ความเป็นสมมาตรในการเล่าเรื่อง แต่ส่วนนี้ครุฑยืนเอียง เพื่อแสดงมุมมองที่ต่างไป แต่ดูไม่ขัดเขิน ขณะที่ ลายก้านขด ด้านข้างมีจังหวะช่องไฟที่เหมาะสม บอกเล่าถึงกระบวนการที่เป็นแนวประเพณี และรูปแบบร่วมสมัย โดยถึงวันนี้ซึ่งผ่านเวลามายาวนาน ก็ยังคงโดดเด่น งดงาม

ในมิติการเรียนการสอนของ สาขาประติมากรรมไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภาควิชาศิลปะประจำชาติ จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การสืบสานอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้น แต่เราต่อยอดปลูกความคิด ความเข้าใจแท้จริงในการสร้างสรรค์งานศิลปะไทย

“ศิลปะปูนปั้น การสร้างสรรค์มีหลายลักษณะ ทั้งงานประติมากรรมแบบนูนสูง นูนต่ำ หรือประติมากรรมลอยตัว เหล่านี้มีความสอดคล้องไปกับเรื่องราวของการแบ่งพีเรียดยุคสมัย และจากที่กล่าวสถานที่ที่จะศึกษา ตามรอยชมงานปูนปั้นนั้นมีหลายสถานที่ โดยที่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถชมได้ที่จังหวัดเพชรบุรี”

อาจเริ่มต้นชมจากวัดใหญ่สุวรรณาราม วัดสระบัว และไปชมต่อที่วัดเขาบันไดอิฐ จะเห็นถึงงานปูนปั้นที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน และจากที่กล่าวไม่เพียงเท่านี้ ถ้าไปทางเหนือที่จังหวัดลำปาง น่าน ฯลฯ จะเห็นปูนปั้นเชื้อนํ้ามันปูนตังอิ้ว การปั้นที่สามารถใส่ลายละเอียดได้มากกว่า แต่ควบคุมอาจจะยากกว่าปูนปั้นเชื้อนํ้า โดยปูนนํ้ามัน เมื่อแห้งแล้วจะแห้งแข็ง เวลาใช้จึงต้องกะปริมาณให้เพียงพอ ตำปูนใช้ให้หมดในครั้งนั้น หรือทางภาคอีสานงานปูนปั้นลวดลายงดงามจะปรากฏตามปราสาทหิน เป็นต้น

หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ผศ.ประสิทธิ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า งานปูนปั้น นอกจากบอกเล่ายุคสมัย วัสดุปูนที่พัฒนาขึ้นยังเป็นวัสดุที่ต่อยอดความเป็นโบราณด้วยวัสดุปัจจุบัน อีกทั้งงานปูนปั้นในปัจจุบันสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ เกิดการประยุกต์ที่แตกต่างออกไป เป็นงานร่วมสมัย เป็นการ์ตูน หรือฟิกเกอร์แบบตะวันตก ฯลฯ โดยใช้วัสดุปูนปั้น อย่างที่ผ่านมาในการประกวดศิลปะปูนปั้นที่มีความต่อเนื่องมา ก็ได้เห็นการสร้างสรรค์ พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อการรักษาและสืบทอดศิลปะปูนปั้น

“การประกวดปูนปั้นที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงรูปแบบแนวประเพณีและแนวร่วมสมัย อย่างผลงานกระติ๊บข้าวพาเพลิน โดยยุวดี พรมวาส ผลงานรางวัลชิ้นนี้แสดงออกได้ชัดเจน เจ้าของผลงานปั้นกระด้ง ใช้องค์ประกอบที่สวยงามในการเล่าเรื่อง และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในการประกวดคือ การนำอภิธรรมมาแสดงผ่านผลงานปั้นปูน เห็นการนำพุทธธรรมที่มีอยู่เดิมนำมาตีความ เห็นความหลากหลายในความเป็นศิลปะปูนปั้น ศิลปะที่มีเอกลักษณ์”

ขณะที่ งานปูนปั้น ปั้นประดับตกแต่งก็ยังคงมีอยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือรูปแบบ มีรายละเอียด เทคนิคที่เพิ่มขึ้นที่นำมาสร้างสรรค์ สร้างความหลากหลายให้กับผลงาน และแม้จะเป็นเทคนิคแบบเดิมก็ตามนำมาจัดวางสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ …

สร้างการเรียนรู้ สืบสานเอกลักษณ์ความงามงาน ศิลปะปูนปั้น.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ