และเมื่อข้ามสู่ปีใหม่ ปี 2566 หากไม่เกิดกรณีใด ๆ มาชะลอเสียง “สัญญาณเลือกตั้งครั้งใหม่” ก็คาดว่า “บรรยากาศการเมืองร้อนฉ่า!!” น่าจะเกิดขึ้นกับการเมืองในประเทศไทย?? ซึ่งกับเรื่องการเลือกตั้งนี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “มุมจิตวิทยา” ให้ลองพิจารณากัน…

การ “ชอบนักการเมือง” คนนั้นคนนี้…

และ “เลือกนักการเมือง” คนนี้คนนั้น…

เท่าทันมุมทางจิต” ไว้ด้วย “ก็น่าจะดี”

ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพินิจพิเคราะห์กันไว้ก่อนจะข้ามสู่ปีที่ว่ากันว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศครั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้น?? ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “การชอบ-การเลือกนักการเมือง” นั้น ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับ “จิตวิทยาเชิงสังคม” ก็ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ “ปัจจัย-เกณฑ์” ที่ผู้คน “ใช้ตัดสินใจ” โดยเน้นที่ “คำถาม” ที่มักจะมีเมื่อถึงเวลาต้อง “ลงคะแนน” ว่า… ระหว่าง “คนที่ใส่ใจดูแล” กับ “คนที่ทำงานเก่ง” นั้น “จะเลือกแบบไหน??” และอะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลน่าสนใจที่จะสะท้อนต่อวันนี้มาจากบทความโดย ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ https://smarterlifebypsychology.com

กับการชอบนักการเมือง และการเลือกนักการเมืองในการเลือกตั้งนั้น ทาง ดร.ภัคนันท์ มีการตั้งหัวข้อของบทความดังกล่าวไว้ว่า… ใส่ใจหรือสามารถ?…นักการเมืองแบบไหนดี?” โดยได้เริ่มต้นในส่วนของการตั้งคำถามที่ว่า…จะใช้เกณฑ์ใดในการเลือกผู้แทนราษฎร? และก็ได้ขยายความถึงคำตอบที่มักได้รับกลับมาจากคำถามนี้ว่า… เมื่อตั้งคำถามนี้ คำตอบที่ได้รับก็มักเป็นเรื่องของการ ใช้พรรคการเมืองเป็นเกณฑ์ หรือไม่ก็ ดูจากประสบการณ์ ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดหรือถูก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางนักจิตวิทยาสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษนั้นอยู่ที่เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพล” ทั้งต่อจิตใจและประสบการณ์ทางสังคมของบุคคลนั้น ๆ ที่ทำให้คน ๆ นั้น “ตัดสินใจที่จะเลือกนักการเมือง” คนใดให้มาเป็นตัวแทนของตน โดยทางนักวิชาการท่านเดิมได้ระบุผ่านบทความไว้อีกว่า… การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้พบได้บ่อยในงานวิจัยของต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศไทยกลับไม่ค่อยพบการศึกษาในลักษณะนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่นักจิตวิทยาจะสนใจ แต่นักรัฐศาสตร์ก็สนใจเช่นกัน โดย “บุคลิกภาพพื้นฐานหลัก” เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาสังคมใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาเรื่องนี้…

เพราะนี่ “สัมพันธ์กับการรับรู้ของผู้คน”

ที่ “อาจเป็นปัจจัยทำให้ตัดสินใจเลือก”

สำหรับ “บุคลิกภาพพื้นฐานหลัก” ที่นำมาใช้เป็น “กรอบแนวคิดในการศึกษา” จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ “บุคลิกภาพที่ดูอบอุ่น” และ “บุคลิกภาพที่ดูมีความสามารถ” โดยคนที่มีบุคลิกภาพความอบอุ่นจะมีคุณลักษณะทางสังคมเด่น ๆ อาทิ ดูเป็นมิตร ดูน่าคบหา ดูซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพดูมีความสามารถจะสะท้อนผ่านภาพลักษณ์การดูมีความรู้ ดูเชี่ยวชาญ หรือดูเก่งในทักษะต่าง ๆ ซึ่งในคนหนึ่งคนนั้นอาจมีบุคลิกภาพได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือทั้งดูอบอุ่นและมีความสามารถ

แล้ว… บุคลิกภาพทั้ง 2 รูปแบบนี้มีผลอย่างไร?? กรณีนี้ ดร.ภัคนันท์ ได้ระบุไว้ว่า… การรับรู้บุคลิกภาพของผู้อื่นมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการ โดยการรับรู้บุคลิกภาพในแง่ของความอบอุ่นและความสามารถมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งงานวิจัยของต่างประเทศได้มีการศึกษาถึงผลของการรับรู้ความอบอุ่นและความสามารถของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้แทน ในกลุ่มตัวอย่างทั้งในสหรัฐอเมริกาและในไต้หวัน ซึ่งมีการทดสอบโดยให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปของนักการเมืองผู้สมัครเลือกตั้ง ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว และผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งผลการศึกษา ผลการทดสอบ-ทดลอง พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้…

ผู้ร่วมทดลองในสหรัฐ ผลพบว่า… ความสามารถของผู้สมัครเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ และอิทธิพลร่วมของการรับรู้ความสามารถทางสังคมก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งด้วย  ขณะที่ในส่วนของผู้ร่วมทดลองในไต้หวัน ผลพบว่า… ความสามารถของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกก็จริง…แต่ความชื่นชอบในตัวผู้สมัครก็มีผลเช่นกัน …นี่เป็นผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ทางนักวิชาการจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ด้วยว่า… การศึกษานี้อาจไม่สามารถทำนายได้ 100% เพราะการตัดสินใจของมนุษย์ซับซ้อนมากกว่า แต่นี่ก็ช่วยฉายภาพให้เห็น กระบวนการทางจิตวิทยาสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง ได้ไม่มากก็น้อย 

“สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ… ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรรู้เท่าทันเป้าหมายนักการเมือง ว่ามีเป้าหมายอะไร กับต้องวิเคราะห์บุคลิกภาพที่นักการเมืองแสดงออกมา ว่าสอดคล้องกับตัวตนจริง ๆ หรือไม่ เพราะนักการเมืองอาจแค่ต้องการให้รับรู้ในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขาเท่านั้น” …เป็นอีกประเด็นน่าสนใจที่ ดร.ภัคนันท์ สะท้อนไว้ เกี่ยวกับ “ปัจจัยบุคลิกภาพที่คนนิยมใช้เลือกนักการเมือง” …ซึ่งถึงตอนนี้ในไทยก็กำลัง “เคานท์ดาวน์เลือกตั้งใหม่??” ดังนั้น…

ก็ชวน “เท่าทันมุมทางจิต” กันไว้เนิ่น ๆ

เพื่อเตรียมการ “จับโป๊ะนักการเมือง!!”

ที่ดูอบอุ่นที่ดูเก่ง…“ของจริง?-ของเก๊?” .