@การให้กฎหมายเพื่อ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ “สีแดง” ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เพื่อลดการระบาดของ “โควิด-19” จะได้ผลหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ เพราะที่ผ่านมาผลของการ “ล็อกดาวน์” ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตัวเลขการติดเชื้อยังพุ่งสูง ตัวเลข คนตาย ยังพุ่งสูง เพราะเป็นการ “ล็อกดาวน์พิทย์” ที่ เจ้าหน้าที่ไม่ “เอาจริง” ตัวอย่างในหลายจังหวัดของภาคใต้ ที่มีผู้ “ฝ่าฝืน” เพราะเรื่องของ “ปากท้อง” เช่น ร้านตัดผมมีการแอบเปิดให้เข้าไปตัดได้ทีละคน ร้านขายอาหาร-น้ำชา กาแฟ นอกตัวเมือง ยังมีการนั่งทานในร้าน คนที่ถูกสั่ง “กักตัว” ให้อยู่ในบ้านออกมา “เพ่นพ่าน” เพราะทั้งหมดอยู่นิ่งไม่ได้ ที่เขาต้อง “ฝ่าฝืน” เพราะเขาไม่ยอมที่ “อดตาย” เพราะรัฐบาลคิดว่าการ “ล็อกดาวน์” เพื่อลดผู้ติดเชื้อ ลดผู้เสียชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่อง “ปากท้อง” ของประชาชนที่ส่วนใหญ่ที่ ”ยากจน” และ “หามื้อกินมื้อ” เขาเหล่านี้ไม่มีเงินเดือนเหมือน รัฐมนตรี และ ข้าราชการ ที่สิ้นเดือนได้รับเงินแน่นอน …

@การที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด ปล่อยให้มีการ “ล็อกดาวน์ทิพย์” เกิดขึ้นมากมาย เพราะเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนเพราะถ้ามีการจับกุมดำเนินคดีก็เป็นการเพิ่มทุกข์ เพิ่มความ “เสดสา” ให้กับประชาชนมากขึ้น ถ้าจะ “ล็อกดาวน์” ให้ได้ผลจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้ที่มีบทบาทใน ศบค. ต้องกล้าที่จะบังคับให้ทุกคนอยู่กับบ้าน 14 วัน โดยมีการ “จ่ายเงิน” เป็นค่าครองชีพให้ทุกครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลก็ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการได้ ดังนั้นถ้าการล็อกดาวน์ ยังเป็นการ “ล็อกดาวน์ทิพย์” อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ ต่อให้ รัฐบาล ประกาศต่ออายุ “ล็อกดาวน์” ไปถึงสิ้นปี จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ตาย ก็ไม่ลดลง…แต่ผลพวงจากการ “ล็อกดาวน์” ถ้าเนิ่นนานออกไปจาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน เมื่อไหร่ ระวังจะทำให้บ้านเมืองเกิด “กลียุค” หรือเกิด “ยุคเข็ญ” เพราะประชาชนไม่มีกิน, โจรผู้ร้ายจะเต็มเมือง เพราะแม้แต่อาชีพที่เคย “อยู่ได้” อย่าง ร้านค้า ร้ายอาหาร วันนี้อยู่ไม่ได้แล้วเจ๊งกันระเนนระนาดแล้ว … แม้แต่อาชีพ เกษตรกร ที่เคยเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” น้อยที่สุด วันนี้ เกษตรกร ไปไม่ไหว มังคุด, ลองกอง, ทุเรียน พืช ผัก ต่างๆ ที่ปลูกแล้ว ขายไม่ได้ โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่การเดินทางการต้องหนังสืออนุญาตจากทางราชการเพื่อเดินทางข้ามจังหวัด และการ “เคอร์ฟิว” ทำให้พ่อค้าต่างถิ่น ต่างภาค ไม่เข้ามาซื้อ ผลผลิต ของเกษตรกรเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นการ “ล็อกดาวน์” แบบไทยๆ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ “ซ้ำเติม” ให้ทุกภาคส่วนได้รับความ “บอบซ้ำ” มากขึ้นเรื่อยๆ….

@ ที่น่าสนใจคือ จ.สงขลา ที่ จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา กำลังจะ “เอาไม่อยู่” เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อวันละ 300 กว่า คือตัวบ่งชี้ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อในบางพื้นที่ หมู่บ้านเดียว 100 กว่าราย และไม่ลดลง ถ้าจังหวัดไม่ใช้มาตรการอื่นเข้าแก้ปัญหาควบคู่กับการ “ล็อกดาวน์” แก้ไม่ได้แน่นอน ….สำหรับการระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงบ้าง และคนตายเริ่มตายน้อยลง แต่อย่าเพิ่ง “การ์ดตก” เพราะ จ.ยะลา ล่าสุด เพิ่งจะมีการประกาศปิดหมู่บ้านธารมะลิ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง เพราะมีผู้ติดเชื้อวันเดียว 50 คน และเห็นด้วยกับ ชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ. และ สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุข ที่มีการเปิดศูนย์โควิดประจำชุมชน เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นที่รวดเร็วเพื่อที่จะได้ “คัดแยก” ผู้ติดเชื้อออกมาก่อนเข้าสู่ขบวนการรักษา…

@ ส่วนที่ จ.ปัตตานี ศบค.เริ่มเดินถูกทาง ด้วยการส่ง บุคลากรสาธารณสุขเข้าสู่ชุมชนเพื่อฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เป็นการแก้ที่ตรงประเด็น ก็ขอชื่นชม ราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัด แม้จะเป็น “ผู้ว่าฯ ปีเดียว” แต่ทำหน้าที่อย่าง “สุดเรียว” จนวันสุดท้ายของชีวิตราชการ…ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ จ.นราธิวาส ที่จำนวนผู้ติดเชื้อ แซงหน้า ปัตตานี และ ยะลา อีกครั้งหนึ่ง เป็นการติดเชื้อใน “ครัวเรือน” ที่ต้องยอมรับว่า ยากในการป้องกัน โดยเฉพาะกับสังคมที่ไม่ยอมรับฟัง “กติกา” ที่ต้องทำตาม วันนี้ เจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส จึงแยกหมู่บ้านที่ “ปลอดเชื้อ” ให้ชัดเจนด้วยการมอบ “ธงเขียว” ให้เป็นสัญลักษณ์…

@ เขียนถึง 3 จังหวัด ก็ต้องเขียนถึงปัญหาที่ยัง แก้ไม่ได้แก้ไม่หมด นั่นคือเรื่องของ “ยาเสพติด” ซึ่งล่าสุด เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และ ป.ป.ส.แถลงข่าวใหญ่โตในการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดขบวนการใหญ่ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยยึด “ไอซ์” ได้นับ 1,000 กิโลกรัม ก็ขอบอกว่าที่ยึดได้มาก เพราะมีการค้ามาก และมีรายใหญ่อีกจำนวนมาก ที่ เจ้าหน้าที่จับกุมได้แค่ 1 ใน 100 ส่วนอีก 99 ยังลอยนวล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชูนโยบายการแกปัญหายาเสพติดเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่สมัยที่ “บิ๊กอาร์ท” เป็นแม่ทัพ ต่อด้วย “บิ๊กเดฟ” จนถึง “บิ๊กเกรียง” พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 คนปัจจุบัน แต่ยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ลดลง สังเกตได้ว่าในระยะหลังการจับกุม จะได้ “ของกลาง” มากขึ้นๆ นั่นคือตัว “บ่งชี้” ที่ชัดเจน….

@ สำหรับบรรดา พ่อค้าพืชกระท่อม ก็อย่าเพิ่งดีใจ ว่ามีการปลดพืชกระท่อมออกจาก ยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ผลดีคือผู้กิน “ใบกระท่อม” และผู้ปลูกต้นกระท่อมเพื่อกินเท่านั้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนผู้ค้าใบกระท่อม การนำเข้า–ส่งออก ต้องขออนุญาต ไม่ได้เปิดเสรีให้ขนกันมาเป็นคันรถยนต์ หรือ โยนข้ามชายแดนไทย-มาเลย์ ได้อย่างที่ทำกันทุกวันนี้ การนำใบกระท่อมเข้ามาเพื่อการค้าการพาณิชย์จึงยังผิดกฎหมายอยู่ … เช่นเดียวกับ พ่อค้าน้ำกระท่อม ที่มีส่วนผสมของยาแก้ไอและอื่นๆ ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายถูกจับได้ปรับ 50,000 บาทเชียวนะ….

@ บรรทัดนี้ก็ยินดีกับ กู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผวจ.พัทลุง ที่ หายใจได้โล่งออก เพราะ สัมปทาน รังนกนางแอ่น เกาะสี่เกาะ 5 อ.ปากพะยูน ที่ไม่มีผู้สัมปทานมาหลายเดือน บัดนี้ได้ผู้สัมปทานแล้วคือ บริษัท “สยามเนทส์” (เจ้าเก่า) ในวงเงิน 400 ล้าน ต่ำกว่าเดิมแค่ 5 ล้าน แต่ไม่มีสัญญาต่อท้าย เรื่องที่ต้องซื้อ โน้น, นั่น, นี่ ให้กับทางจังหวัด ก็บอกแล้วไงว่า การที่ต้องให้จังหวัดเปิดประมูลถึง 9 ครั้ง โดยไม่มีใครมาประมูล เป็น “กลเกม” ทางธุรกิจ เป็นการบีบราคากลางให้ต่ำลงมาจนพอใจของพ่อค้า ส่วนอีก 2 บริษัท ที่ยื่นประมูล ต่ำกว่าบริษัทผู้ชนะ ก็อาจจะมีอะไรอยู่ข้างหลัง เรื่องแบบนี้ หน่วยงานของรัฐ ถึงจะไม่ “ซูเอี๋ย” ก็เป็นกลายเป็น “เบี้ยล่าง” ของนักธุรกิจวันยังค่ำ….สำหรับ “พัทลุง” เรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ตำรวจผู้น้อย สภ.เขาไชยสน ร้องเรียนสื่อมวลชน ว่าถูกอมเบี้ยเลี้ยง “โควิด-19” ทั้งที่เงินยังไม่ได้โอนให้ “โรงพัก” แต่ก็ดี เพราะจะได้มีการตรวจสอบตั้งแต่ “อ้อยยังไม่เข้าปากช้าง” ล่าสุด พล.ต.ต.วรา เวชชาภินันท์ ผบก.ภ.จว.พัทลุง แต่งตั้งให้ พ.ต.อ.ภาคิน ณ ระนอง รอง ผบก.ภ.จว.พัทลุง เป็นประธานกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว….

@ เรื่อง ขำขำ ที่ชายแดนใต้ เมื่อหน่วยงาน 5 หน่วย ทั้ง ตำรวจ, ทหาร, ศุลกากร ฯลฯ ยกกำลังไป จับกุมผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายย่อย ในพื้นที่ชายแดน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ด้วยการไปเดินตรวจสอบจับกุมร้านค้าที่ขายน้ำมันใส่ขวด แต่ไม่ไปตรวจ “คอกน้ำมัน” ในพื้นที่นอกตัวเมือง และยังออกข่าวว่า เป็นการนำน้ำมันถูกต้องไปใส่ขวดขาย ถ้ามีคนที่ซื้อน้ำมันที่ถูกต้องจากปั๊มน้ำมันในที่ราคาที่แพงแล้วไปใส่ขวดขายในราคาที่ถูกกว่าราคาที่ปั๊ม คนเหล่านั้นน่าจะ “กินแกลบ” ไม่ใช่อาชีพพ่อค้าแน่นอน…ก็รู้ๆ อยู่ว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ใช้รถกระบะติดหลังคาสูงเพื่อ “ซ่อนแท็งก์เกอร์” ที่บรรทุกน้ำมันมันได้ 1,000-2,000 ลิตร เพื่อเข้าไปรับน้ำมันในฝั่งมาเลเซีย ตาม วัน ว. เวลา น. ที่ได้ตกลงกับ “นายทวาร” ไว้แล้ว ส่วนจะมีการ “จ่ายส่วย” ลิตรละ 1 หรือ 2 บาทต่อเที่ยวต่อคัน หรือ จ่ายกันแบบไหนแล้วแต่ข้อตกลง นั่นคือวิธีการของการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน ในยามที่ มาเลเซียปิดประเทศ แต่การ “หากิน” ยังประสานผลประโยชน์กันได้….ก็คนเขารู้กันทั้งชายแดนว่า ผู้ค้าของเถื่อนใช้วิธีการ บรรทุกขนมขบเคี้ยวไว้ข้างบน ส่วนข้างล่างเป็นสินค้าหลบหนีภาษีที่ห้ามเข้าประเทศ แล้วนำสินค้าในรถยนต์มาจ่ายภาษี “ปากระวาง” ที่ชายแดนเขาทำมาหากินกันอย่างนี้…โดยเฉพาะรถบรรทุก ที่วิ่งระหว่างประเทศมีการทำแท็งก์เก็บน้ำมันไว้ในตัวรถหลายแห่ง เฉพาะถังน้ำมันและถังอะไหล่ ก็เป็น 1,000 ลิตรแล้ว ถ้าจะจับจริงรับรองจับได้ “กะลักกะลุย” ( มากมาย ) ….

@ เป็นปีแรกที่ทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาถูก “ก้านยาว” ขายในตลาดหาดใหญ่ กก.ละ 50 บาท “หมอนทอง” กก.ละ 70 บาท เพราะเรื่องการล็อกดาวน์ และ เคอร์ฟิว ล่าสุด “ล้ง” ผลไม้ทั่วประเทศ ประกาศหยุดซื้อ ทุเรียน, มังคุด ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. จนกว่าจะได้รับการฉีด “วัคซีน” ทำเอา นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ต้องประชุมด่วนทางซูมกับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาฯ ศอ.บต. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกจาก “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้น เพราะ ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส 3 จังหวัด มีผลผลิตทุเรียนรวมกัน 60,000 ตัน ถ้าแก้ไขไม่ได้มีหวังเกษตรกรต้องน้ำตาตกอีกครั้ง….

@ สองเรื่องที่ควรแก่การชื่นชม สำหรับ เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ 1. คือเรื่องการ “เอาจริง” กับโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.สงขลา ที่ปล่อยน้ำเสีย ทำลายสิ่งแวดล้อม 2. เรื่องการทำโครงการส่งเสริมให้คนในพื้นที่กลับมาสู่ภาพการเกษตรกร และการปลูกสมุนไพร เพราะส่วนใหญ่คนในพื้นที่ต่างมี เรือกสวนไร่นาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และโครงการนี้ได้รับการตอบรับจาก ไพเจน มากสุวรรณ นายก อบจ.สงขลา อย่างเต็มที่….

@ พยายามเต็มที่ ขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง ในฐานะ ผอ.ศบค.สั่งการควบคุมโรคพื้นที่เฉพาะ ในโรงงานที่พบการระบาดทั้ง 4 โรง ซึ่งมีทั้งคนไทย เมียนมา กัมพูชา และ ลาว 200 คน เป็นเวลา 28 วัน ห้ามเข้า-ออก ยกเว้นเจ้าหน้าที่ ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัด, ประกันสังคม และสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เข้าตรวจสอบคนงานในทุกโรงกว่า 400 โรง พบมีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง ที่เป็นอย่างนี้เพราะ ปล่อยปละละเลยมาโดยตลอดนั่นเอง เอ้า ถือโอกาสโควิด-19 จัดการเก็บ “ขยะทิ้ง” ไป จะได้เป็นมาตรฐานที่ถูกต้องเสียที …แล้วพบกันใหม่วันศุกร์หน้าครับ

—————————————————————–

ไชยยงค์ มณีพิลึก

เยี่ยมชม… พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เยี่ยมโรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซันโฟรเช่นฟรุ๊ต จำกัด พร้อมผลักดันให้รองรับผลผลิตของเกษตรกร ในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ของคนในพื้นที่

เติมกำลังใจ… นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงาน ณ รพ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผอ.รพ.พร้อมมอบสิ่งของที่จำเป็นในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเติมเต็มกำลังใจ..

ชุมชนเข้มแข็ง… พล.ต.ไพศาล หนูสงค์ ผอ.ศปพร. ตรวจเยี่ยมและพบปะสมาชิกโครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็น ณ บ้านสันติ 2 ตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อฟังความคิดเห็นและการจัดงบประมาณซ่อมแซมศาสนสถานที่ชำรุดที่บ้านสันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา

ตรวจความพร้อม… ไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ โรงยิมเนเซียม สนามกีฬาติณสูลานนท์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่มาเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลสงขลา ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.สงขลา ให้ใช้โรงยิมเนเซียมฯ เป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนฯ ซึ่งสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้วันละประมาณ 1,500 คน

มอบอุปกรณ์กีฬา… วิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกสมาคมกีฬา จ.นราธิวาส และคณะกรรมการ มอบอุปกรณ์กีฬา ในโครงการ พัฒนานักกีฬาเป็นเลิศระดับจังหวัด ให้กับชมรมกีฬาที่จดทะเบียนกับสมาคม ณ ที่ทำการสมาคมกีฬา จ.นราธิวาส

ร่วมต้อนรับ… พ.อ.สุรเทพ หนูแก้ว รอง ผบ.มทบ.44/รอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.พ.(ท.), พล.ต.ต.ถาวร แสงฤทธิ์ ผบก.ภ.จว.ชุมพร, นายนักรบ ณ ถลาง นอภ.เมืองชุมพร, พ.ต.อ.ชนินทร์ ณรงค์น้อย ผกก.สภ.เมืองชุมพร,นายชาติชาย พิมลศักดิ์ กำนันตำบลวังใหม่, พรศักดิ์ พิมาน นายกเทศมนตรีตำบลวังใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมจุดตรวจขาออก-ขาเข้าจังหวัดชุมพร และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ และทหาร ในการนี้ได้มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ณ หน้าเทศบาลตำบลวังใหม่ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

ความเชื่อมั่น… พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) พร้อมด้วยภูสิต รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ ผอ.สนง.นโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมแถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่น น 2 ไตรมาสแรกของปี 2546 ซึ่งประชาชนมีความเชื่อมั่นเกินครึ่ง ขณะที่ ศอ.บต.พร้อมเดินหน้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาพรวม

บรรเทาทุกข์… พ.ต.ท.ชัยวรุตม์ พร้อมญาติรอง ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 ค่ายพระเจ้าตาก อ.เมือง จ.ตาก ในฐานะผู้บังคับชุดควบคุมตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดยะลา ไปมอบสิ่งของ อุปโภค-บริโภค ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบช่วงวิกฤตโควิด-19 และไปมอบสิ่งของ อุปโภค-บริโภค ที่โรงพยาบาลสนาม หมู่ที่ 7 ต.บุดี อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เพื่อสนับสนุนการทำงานรวมถึงให้กำลังใจของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย

ถุงยังชีพ… วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง มอบถึงยังชีพจำนวน 3,500 ชุด ให้กับตัวแทนท้องถิ่น 11 อำเภอ เพื่อนำไปช่วยประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ณ สนามกีฬาองค์การบริการส่วนจังหวัดพัทลุง

ช่วยประชาชน… โยธิน​ ทองเนื้อแข็ง ส.จ.เขตอำเภอกระแสสินธุิ์ ร่วมกับ อบจ.สงขลา นำโดย นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว รองนายก อบจ.สงขลา และ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัด อบจ.สงขลา ส่งมอบข้าวสารให้กับเทศบาลตำบลกระแสสินธุ์ เทศบาลตำบลเชิงแส และ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะใหญ่ เพื่อแจกจ่ายให้กับพ่อแม่พี่น้องในอำเภอกระแสสินธุ์ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป

มอบความห่วงใย… กระจายศักดิ์ ศรีสงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบ่อตรุ และทีมงาน ร่วมส่งมอบถุงยังชีพสำหรับพี่น้องตำบลบ่อตรุ ทุกครัวเรือนผ่าน อสม. นำไปมอบให้ตามครัวเรือนที่รับผิดชอบเพื่อความสะดวกรวดเร็ว..ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นกรณีมีความจำเป็นต้องปิดหมู่บ้านเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

น้ำใจ… ปตท.สผ. ปตท.สผ. ร่วมใจสู้โควิด-19 มอบถุงยังชีพจำนวน 500 ชุด มูลค่า 185,000 บาท ให้กับนางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายปัญญา จินดาวงค์ นายอำเภอสิงหนคร เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในชุมชนบ้านหัวเลน หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ที่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวและการปิดทางเข้าออกหมู่บ้านตามคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีปลัดอำเภอสิงหนคร และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมรับมอบ

ความเดือดร้อนรอไม่รอเวลา… แม้โควิด-19 จะยังระบาดในพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นวงกว้าง ขยายความรุนแรงต่อเนื่องแต่ มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ไม่เคยหยุดหย่อน ลงติดตามเร่งรัดซ่อมสร้างถนนที่เป็นหลุ่มเป็นบ่อ อุบัติเหตุเกิดบ่อยครั้ง ชาวบ้านเดือดร้อนกับสภาพถนน ซึ่งต้องเร่งซ่อมสร้างแก้ไข ในพื้นที่รับผิดชอบของ อบจ.ยะลา

น้ำใจนักธุรกิจ… ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง ยะลา 49 หจก.บำรุงโยธากิจ หจก.วัฒนาโยธากิจ หจก.ยะลาส่องแสง หจก.ถาวรสุขการโยธา หจก.อินทราก่อสร้าง หจก.แสงอรุณกรุ๊ป หจก.โกไข่การไฟฟ้า หจก.ยะลาไฮเวย์ ไพฑูรย์ อีซูซุ ยะลา จอมเฟอนิเจอร์ ศักดิ์กระจก อลูเนียม หจก.ยะลาศรีทอง อู่เสรี สมบูรณ์ เสนพงษ์ และเงินชมรมบางส่วน และเพื่อนๆ ร่วมบริจาค อาหาร กลางวัน กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ อาคารศรีนิบงศูนยเยาวชนเทศบาลนครยะลา

ไข่เค็มสู้โควิด… ไข่เค็มไข่เค็มสมุนไพร โอทอป 2 สูตร กลุ่มแม่บ้านบ้านชายวัด หมู่ 1 ต.บางเป้า อ.กันตัง ตรัง ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 1, 2, 3 ทำให้ลูกค้าต่างจังหวัดยกเลิกออร์เดอร์ เนื่องจากตลาดปิด ไม่สามารถไปออกบูธขายตามต่างจังหวัดได้เลย ทำให้ยอดขายลดลง จึงคิดสูตรดองน้ำเตยหอม กับสูตรไข่เค็มสมุนไพร มีประโยชน์ ช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ช่วยลดความดัน ขายทางออนไลน์ มีผู้ที่สนใจสั่งซื้อ ทำยอดขายได้ดี ใครต้องการติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 08-9471-3802 งานนี้ต้องยกความดีให้กับ ดวงพร ฤทธิพรพันธ์ ประธานกลุ่มฯ

ภาระหน้าที่… มะหะมะ วาแมดีซา ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นำทีมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่ว
นจังหวัดยะลา ออกลุยพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ในตำบลกอตอตือร๊ะ ตำบลกายูบอเกาะ และตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และทุกพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของ อบจ.