หากพูดถึงอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนในสังคมไทย อีกหนึ่งชื่อโรคที่หลายๆ คนคงจะนึกถึงคงหนีไม่พ้น และคิดว่า โรคร้ายที่สิ้นหวังและหมดทางรักษานั่นคือ… “มะเร็ง” แต่เคยทราบหรือไม่ว่า มะเร็งนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

โดย แพทย์หญิงธารวิมล เตชเสถียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ศูนย์มะเร็งชีวีสุข โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้เผยผ่าน Healthy Clean เผยว่า อันที่จริงแล้ว มะเร็งเป็นกลุ่มโรคที่มีความหลากหลาย และมีระยะที่แตกต่างกันออกไป หลายกรณีสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมะเร็งที่แพร่กระจายแล้วอาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในปัจจุบัน มียาที่มีประสิทธิภาพ ใช้รักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้ จะพาทุกท่านให้มารู้จักกับโรคมะเร็งกันมากขึ้นกว่าเดิม

มะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติและควบคุมไม่ได้ มีความสามารถในการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ มะเร็งเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะของร่างกาย เช่น ปอด ตับ เต้านม ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น โดยเราจะเรียกชนิดของมะเร็งตามอวัยวะต้นกำเนิด แม้ว่ามะเร็งชนิดนั้นจะมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้วก็ตาม เช่น มะเร็งปอดที่แพร่กระจายไปที่ตับหรือกระดูก เราจะยังคงเรียกว่ามะเร็งปอด ไม่ใช่มะเร็งตับหรือมะเร็งกระดูก

เหตุใดมะเร็งจึงเกิดขึ้นมาได้? มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจาก ความผิดปกติของยีน คือเกิดการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัว และเจริญเติบโตของเซลล์ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายมาเป็นเซลล์มะเร็ง การกลายพันธ์ุของยีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในร่างกายของเรา แต่โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับยีนที่ไม่ได้มีหน้าที่สำคัญ หรือบางครั้งร่างกายของเราสามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ จึงไม่เกิดปัญหาขึ้น การกลายพันธ์ุของยีนที่เกิดขึ้นในจุดสำคัญ และมากเพียงพอ จะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง การกลายพันธ์ุของยีนดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ หรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น หรือบางคนอาจจะได้รับยีนที่ผิดปกติถ่ายทอดมาทางกรรมพันธุ์

มีการศึกษามากมายที่พยายามจะหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ว่า ทำไมคนหนึ่งๆ ถึงเป็นโรคมะเร็ง และทำไมบางคนถึงไม่เป็น แต่ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยบางอย่างที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ อายุที่มากขึ้น โรคอ้วน รังสียูวี การติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี ไวรัสเอชพีวี ส่วนเรื่องอาหารเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เช่น เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูงๆ ทำให้มีสารจำพวก HCAs และ PAHs เกิดขึ้น สารเหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง แนะนำให้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะได้สารอาหารและพลังงานที่ครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ตามคำแนะนำ เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ตาม หลายๆ คนพยายามปฏิบัติตัวและดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี มะเร็งก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ไหมที่เราจะตรวจหาโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อที่จะได้รับการรักษาให้หายขาดและเพิ่มอัตราการรอดชีวิต คำตอบคือ ได้ วิธีนี้เราเรียกว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ซึ่งคือการตรวจหาโรคมะเร็งให้พบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพราะมะเร็งในระยะเริ่มต้นอาจจะไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ เลย ยิ่งเราตรวจพบมะเร็งได้ไว โอกาสในการรักษาให้หายขาดยิ่งมีมากขึ้น คำแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังมีจำกัดเฉพาะในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น

มะเร็งที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • มะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ตรวจคัดกรองในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป โดยอาจตรวจด้วยวิธี Pap test หรือ HPV test
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจคัดกรองในผู้มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป มีวิธีการตรวจโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และการตรวจอุจจาระ
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้ตรวจคัดกรองในผู้ชายอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ใช้วิธีการตรวจค่า PSA ในเลือด
  • มะเร็งอื่นๆ ที่มีการตรวจคัดกรอง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด คำแนะนำในปัจจุบันยังให้ทำเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและได้ประโยชน์ หากท่านอยู่ในกลุ่มอายุที่เข้าเกณฑ์ตามคำแนะนำของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติ

อาการแบบไหนถึงน่าสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็ง มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด มีการกลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน มีอาการเสียงแหบ และไอเรื้อรัง มีเลือดออกผิดปกติ เป็นแผลเรื้อรัง มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย มีก้อนที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย อันที่จริงแล้ว อาการเหล่านี้ไม่ได้จำเพาะต่อโรคมะเร็งเลย อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน วิธีที่ดีที่สุดเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเมื่อแพทย์สงสัยโรคมะเร็ง จะมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่แน่นอน และบอกรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดของเซลล์มะเร็ง การตรวจวินิจฉัยทางรังสี เช่น การตรวจ CT scan การตรวจ MRI เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการแพร่กระจายและระยะของโรคมะเร็ง เป็นต้น

การรักษาโรคมะเร็ง ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล วิธีการรักษาหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด และในปัจจุบันเราอาจจะเคยได้ยินวิธีการ รักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัดกันมากขึ้น ทั้งสองอย่างนี้ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่พลิกโฉมวงการการรักษาโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก ยามุ่งเป้า คือยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อยีนหรือโปรตีนที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวและเจริญเติบโต ดังนั้น ยากลุ่มนี้จึงมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจง และค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการใช้ยามุ่งเป้าในการรักษาโรคมะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น มะเร็งปอดระยะแพร่กระจายที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

ส่วน ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโรคมะเร็งอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งใช้หลักการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราให้ไปทำลายเซลล์มะเร็ง มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อกล่าวถึงภูมิคุ้มกันบำบัด มักจะหมายถึงการใช้แอนติบอดีที่เรียกว่า Immune checkpoint inhibitors เป็นยาฉีดที่มีผลทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และช่วยไปทำลายเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันมีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งหลายชนิด

ทำอย่างไรเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง อันดับแรกให้ตั้งสติ เตรียมพร้อมรับข้อมูลต่างๆ ผู้ป่วยควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นว่า เป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะใด มีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้าง และเป้าหมายในการรักษาคืออะไร รักษาเพื่อหวังผลให้หายขาด หรือรักษาเพื่อการประคับประคองควบคุมโรค เมื่อได้แนวทางรักษาแล้ว ควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว

สุดท้ายแล้ว “มะเร็ง” น่ากลัวอย่างที่คิดหรือไม่ ขอให้ทุกท่านเป็นผู้ตัดสิน แต่อย่าลืมว่า ในปัจจุบันมะเร็งไม่ใช่โรคที่สิ้นหวังอีกต่อไป การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นระยะแพร่กระจายแล้ว อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ได้ยาวนานขึ้น หรือในท้ายที่สุดแล้วที่ไม่สามารถรักษาควบคุมโรคได้ ยังสามารถที่จะดูแลแบบประคับประคอง มุ่งเน้นบรรเทาอาการ ให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บปวดทรมานและมีความสุขสบายมากที่สุด

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”