อย่างไรก็ตาม…หากว่าด้วยเรื่อง “แรงงานยุคโควิด-19” กรณีนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงที่โควิดระบาดหนักได้ส่งผลให้เกิด “แรงงานรูปแบบใหม่” ขึ้นมามากมาย นับแต่ช่วงล็อกดาวน์จนโควิดพอจะคลี่คลายบ้างแล้ว “พัฒนาการด้านแรงงานก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง” และหนึ่งในนั้นก็มีรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ซึ่งว่ากันว่า…แรงงานรูปแบบนี้กำลังเป็น “เทรนด์ฮิต-เทรนด์ใหม่” คนวัยทำงานยุคนี้…

แรงงานที่ถูกเรียกชื่อว่า “ดิจิทัลโนแมด”

นี่เป็น “เทรนด์แรงงานที่สำคัญ” ในยุคนี้

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณีแรงงานรูปใหม่ที่มีชื่อเรียกว่ากลุ่ม “ดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad)” ที่กำลังเป็น “เทรนด์แรงงาน” ที่องค์กรทั่วโลกสนใจติดตามความเคลื่อนไหว ในฐานะที่เป็น “หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของแรงงาน
ยุคใหม่”
โดยเกี่ยวกับแรงงานรูปแบบนี้ทางนักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ได้วิเคราะห์และสะท้อนไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านทางบทความที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ theprachakorn.com ซึ่งมีการฉายภาพเกี่ยวกับ “พัฒนาการ-ทิศทาง” ของแรงงานกลุ่มนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า…

สำหรับคำว่า “ดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad)” นั้น จริง ๆ เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และก็เป็น “คำที่ถูกใช้กันแพร่หลายอย่างต่อเนื่อง” โดยคำ ๆ นี้ถูกนำมา ใช้เรียก “ผู้ย้ายถิ่นที่มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล” และ “มีชีวิตที่ไม่ยึดติดกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (location-independent)” ซึ่งก็รวมถึงการนำมาใช้เรียก “กลุ่มคนทำงานยุคใหม่ที่มีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงานแห่งใดแห่งหนึ่ง” ด้วย เนื่องจากกลุ่มคนกลุ่มนี้ขอแค่ให้ มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เท่านั้น…ก็ สามารถทำงานได้ทุกสถานที่ …นี่เป็น “ที่มาของศัพท์” คำนี้

อนึ่ง ทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ ยังได้อธิบายถึง “ความแตกต่าง” ระหว่าง “ดิจิทัลโนแมด” กับ “แรงงานข้ามชาติ” เอาไว้ว่า… โดยทั่วไปดิจิทัลโนแมดจะแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากกลุ่มดิจิทัลโนแมดนั้นจะไม่ได้ทำงานหารายได้ในสถานที่ที่ตนอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้นเหมือนกับแรงงานข้ามชาติ แต่ “กลุ่มดิจิทัลโนแมด” นั้นจะ “มีรายได้จากนายจ้างในต่างประเทศ” ผ่านรูปแบบการทำงานทางไกล (remote work) เช่น การทำงานที่บ้าน (work from home) หรือทำงานในต่างประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง โดยอาจเป็นพนักงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือเป็นแบบอาชีพอิสระ (freelance) ก็ได้

นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมดยังอาจเป็นผู้ประกอบการ ในลักษณะของ ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ “ช่วงวัยของดิจิทัลโนแมด” นั้น พบว่า… มักเป็นคนหนุ่มสาวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศควบคู่กับการทำงานทางไกล โดยช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มดิจิทัลโนแมดมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งมี “ปัจจัยสำคัญ” มาจากการที่ เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามาทดแทนการผลิตในรูปแบบเก่า ส่งผลทำให้ธุรกิจในโลกยุคใหม่สามารถขับเคลื่อนได้บนโลกออนไลน์ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ที่ทำงานทางไกลจากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน…

นี่เป็นการ “ฉายภาพดิจิทัลโนแมด” …

“กลุ่มคนทำงานรูปแบบใหม่” ในยุคนี้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สักกรินทร์ เพิ่มเติมไว้อีกว่า… ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ก็ส่งผลให้องค์กรทั่วโลกต้องปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) และทำงานทางไกล (remote work) จนทำให้ กลุ่มดิจิทัลโนแมดเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น จากร้อยละ 7.9 ช่วงก่อนมีโควิด-19 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.4 ช่วงไตรมาสสองของปี 2563 ในบางประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีกลุ่มคนทำงานทางไกลเกินครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด

และนอกจาก “แรงงานยุคใหม่” จะมี “รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป” แล้ว อีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าสนใจคือพบว่า…มีดิจิทัลโนแมดจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเดินทางไปพักอาศัยและทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ เพื่อประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการดำรงชีวิต รวมถึงพบว่าในตลาดแรงงานขณะนี้ มีแรงงานมีทักษะจำนวนมากผันตนเองเป็นดิจิทัลโนแมดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจากการที่ “ตัวเลขเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด” ก็ทำให้ หลายประเทศให้ความสนใจดิจิทัลโนแมด โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในฐานะแหล่งรายได้…

“จากการที่คนทำงานกลุ่มนี้มักจะพำนักอาศัยระยะยาว จึงถูกมอง เป็นแหล่งรายได้ในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-stay tourist) อีกทั้งกลุ่มนี้ยังถูกมองว่า เป็นแรงงานที่มีทักษะต่างชาติ (foreign talent) ที่อาจช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นได้ดี  ทำให้บางประเทศถึงกับมีการออกวีซ่าพิเศษให้กลุ่มดิจิทัลโนแมด เพื่อหวังดึงดูดใจคนกลุ่มนี้”…นี่เป็น “ภาพสะท้อน” เกี่ยวกับแรงงาน “ดิจิทัลโนแมด” ที่เป็นทั้งอีกหนึ่ง “พัฒนาการด้านแรงงานที่สำคัญของโลกยุคนี้” และก็ไม่ได้สำคัญแค่มิติแรงงาน แต่ “มิติการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นี่ก็ด้วย…

“ดิจิทัลโนแมด” นั้น “กับไทยก็น่าพินิจ”

น่าคิด” เมื่อ “ไทยก็หวังพึ่งท่องเที่ยว”

แต่ “เอาเข้าจริงจะอย่างไรก็ยังไม่รู้??”.