ปี 2544 ตอนพรรคไทยรักไทยเสนอ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นำไปขายทุกพรรค ก็ไม่มีใครเอา มีแต่ไทยรักไทยที่เอา พรรคเก่าแก่อย่าง ปชป. ถึงขนาดอภิปรายในสภาว่า จะเป็น 30 บาทตายทุุกโรค อาการนั้นดูถูกหยามหยันไม่เชื่อจะทำได้จริง นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน ก็พรรค ปชป. อีกล่ะที่อภิปรายในสภาว่า ทุจริตเชิงนโยบายให้ชาวบ้านเอาเงินไปซื้อมือถือ AIS ซึ่งตอนนั้น ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้ ขายให้สิงคโปร์ เป็นของฟุ่มเฟือย เอื้อประโยชน์ให้ทักษิณรวยขึ้น เพราะตามไม่ทันว่ามือถือคือโลจิสติกส์ที่ทำให้ชาวบ้าน ทำมาหากินคล่องขึ้น ซื้อขายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ตัดคนกลางออก ที่สุด 2 นโยบายนี้ก็กลายเป็นเพชรเม็ดงามของไทยรักไทยที่ใช้หากินได้แม้จนตอนนี้ ใครก็ล้มล้างไม่ได้ แม้จะพยายามด้อยค่าแค่ไหนก็ตาม

หากจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยเกรี้ยวกราดใส่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่พอ “ยูเอ็น” ยกย่อง ก็ยิ้มแป้นรับรางวัลอย่างชื่นมื่น ไม่ยักหยันเหยียดอย่างเก่า     

ประยุทธ์

อีกซักตัวอย่างก็ยังได้ นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ One Tumbon One Product หรือ OTOP ตอน คมช. ยึดอำนาจปี 49 มีความพยายามจะล้มให้ได้ อุตส่าห์เปลี่ยนชื่อเป็นผลิตภัณฑ์ตำบลผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น แต่ชื่อสุดเห่ยไม่ติดปาก ชาวบ้านไม่เอา จนเหลือแค่ OTOP เฉย ๆ ก็ยังป๊อปปูลาร์จนเดี๋ยวนี้

ที่เขียนมา แค่นโยบายไม่กี่อย่างเพื่อให้เห็นภาพพรรค การเมืองที่ปฏิวัติพลิกโฉมการเมืองไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากขนบเดิม ๆ ที่ใช้วาจาเชือดเฉือนล้มล้างฝ่ายตรงข้าม มาเป็นการ “ขายนโยบาย” ให้ประชาชนเลือกแทนจนได้รับชัยชนะท่วมท้น เป็นประชาธิปไตยกินได้ ทำให้ฝ่ายอนุุรักษ์ตกใจกลัวอำนาจที่ถูกแชร์สู่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ มายุบพรรค แช่แข็งนักการเมือง สลับกับปฏิวัติ ร่างรธน.อัปยศสืบทอดอำนาจที่ทำแล้วได้รัฐบาลโหลยโท่ย แม้อยู่นานกว่า 8 ปี จนจะครบวาระ 23 มี.ค.66 สู่โหมดเลือกตั้งใหม่ ก็ยังหาผลงานยากเย็น นอกจากกู้หนี้ 10 ล้านล้าน

มาโฟกัสนโยบายหาเสียงล่าสุดที่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพิ่งแถลงไป แม้จะออกมาถึง 10 นโยบาย ทัั้งต่อยอดของเก่า เช่น อัพเกรดนโนบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มเรื่องใหม่ เช่น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องเกษตรแม่นยำ เป็นต้น แต่ร้อนสุุดร้อน คือ หากได้เป็นรัฐบาลจะปรับค่าแรงเป็นวันละ 600 บาท ปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทในปี 2570 ซึ่งเพื่อไทยก็รัดกุุมพอควร บอกสเต็ปสู่เป้าหมายชัดเจนคือ ต้องทำจีดีพีให้โตเฉลี่ย 5% ทั้ง 4 ปี เพื่อรัฐและเอกชนจะมีเงินไปจ่ายค่าแรงได้

สังเกตมั้ยว่า หนนี้ ปชป.ไม่ได้ออกมาขยี้ เพราะรู้มือและปะทะกันมาหลายรอบแล้ว แต่เป็นซีกรัฐบาลโดยเฉพาะจาก พปชร. นำโดยหัวแถว พล.อ.ประยุุทธ์ ที่โวยจะหาเงินจากไหน สู่กลางแถว สุุชาติ ชมกลิ่น ที่ว่า จะเป็นหายนะทางเศรษฐกิจ และหางแถว เช่น บ้าบอ หลอกลวง อีก 25 ปี ก็ทำไม่ได้ ซึ่งไม่แปลกเพราะทุกนโยบายของ พปชร.ทำไม่ได้ซักอย่าง ค่าแรง 425 บาท ปริญญาตรี 2 หมื่น วันนี้ค่าแรงคือ 325-354 บาท จนต้องลบโพสต์ทิ้งไม่มีปัญญาจะทำ ว่างั้นเถอะ ขณะนายทุุน หอการค้า โวยแหลก ก็ธรรมดา เช่น บอก SME จะเจ๊ง นักลงทุนจะหนีหมด คนจะตกงานระนาวก็จริง…แต่!?!

สุชาติ ชมกลิ่น

ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการนามอุโฆษด้านแรงงานจากจุฬาฯ เปิดเผยว่า สมัย รบ.ยิ่งลักษณ์ที่ขึ้นค่าแรงจาก 215 บาทเป็น 300 บาท ข้อมูลจากกรมแรงงานพบว่า 0.3% ถูกเลิกจ้างเลย 6% กว่า เลิกจ้างบางส่วน แต่ 93% ไม่มีการเลิกจ้าง โดยค่าแรงถูกไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ดึงดูดนักลงทุน สิงคโปร์ค่าแรง 1,400 กว่าบาท ทำไมคนยังแห่ไปลงทุนอยู่ ขณะลาว 135 บาท กัมพูชา 268 บาท ทำไมคนไม่แห่ไปลงทุนแทน และกว่า 10 ปีที่ไทยแทบไม่ได้ขึ้นค่าแรง (จาก 300 เป็น 354 นั่นคือ ไตรภาคีมีมติให้ขึ้นค่าแรงเพิ่มเฉลี่ยวันละ 5 บาท กินคนเดียวยังแทบไม่พอ) กลับมีการแห่ไปลงทุนในเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ ก็เพราะเวียดนามมี FTA กับทุุกประเทศ ขณะที่ไทยไม่มี การทำโอทีเพื่อให้พอกินจนแทบไม่มีเวลาสวดมนต์ จะให้ไปพัฒนาฝีมือได้ยังไง

ถ้าความเจริญของประเทศคือการตั้งสมมุติฐานว่า ค่าแรงต้องไม่ขึ้น แล้วที่ตั้งเป้าจะพัฒนาคนส่วนใหญ่ให้มีคุณภาพจะเป็นไปได้ไง เพราะคนส่วนใหญ่คือแรงงาน” ชัดเจนในข้อมูล ตรงข้ามกับที่มโนกันเอง

เมื่อ 30 บาทไม่ตายทุกโรค ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทก็ไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่เพื่อไทยจะ “แลนด์สไลด์” หรือไม่เท่านั้น.

———————
ดาวประกายพรึก