ซึ่งนี่ก็นับเป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วที่ ศาลพระภูมิไทยกลายเป็นที่โจษจันในหมู่คนต่างชาติ โดยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีกระแสลักษณะนี้ ย้อนไปในอดีตก็มีเนือง ๆ อย่างปี 2546 หรือกว่า 19 ปีก่อน อดีตนักเตะชื่อดังระดับโลก อย่าง “เดวิด เบคแคม” นั้นก็ยังถูกใจจนถึงขั้นควักเงิน ซื้อศาลพระภูมิไทยนำกลับประเทศไปถึง 4 ศาล เลยทีเดียว!!…

ความเป็นมา ของ “ศาลพระภูมิ” นั้น…

ผูกโยง” อยู่กับ “คติความเชื่อแบบไทย”

โดยที่ “มีมุมวิชาการสะท้อนไว้น่าสนใจ”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลมุมวิชาการเรื่องนี้ ที่ได้มีการวิเคราะห์และอธิบายไว้ผ่านบทความชื่อ “ความสำคัญของศาลพระภูมิในสังคมและวัฒนธรรมไทย” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถาบันไทยคดีศึกษา โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการระบุไว้ว่า… ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่ มีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ ญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งด้วยความอาลัยรักของลูกหลาน แม้บรรพบุรุษจะจากไปแล้ว แต่ลูกหลานก็ยังระลึกถึง จึงได้มีการ ตั้งให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเป็นผีประจำอยู่ในเรือน คอยดูแลลูกหลานต่อไป

ในแหล่งข้อมูลแหล่งดังกล่าวยังได้มีการระบุเอาไว้อีกว่า… “การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ” ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมไทยทั่วทุกภาค สะท้อนได้จากการที่คนไทยในภาคต่าง ๆ จะมีการเรียก “ชื่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ” ที่จะต่างกันไป… ภาคเหนือเรียก “ผีปู่ย่า” ภาคอีสานเรียก “ผีปู่ตา” ส่วนภาคกลางเรียก “ผีปู่ย่าตายาย” ขณะที่ภาคใต้จะเรียก “ผีตายาย” เป็นต้น

ส่วน “ที่สถิตวิญญาณผีบรรพบุรุษ” นั้น กรณีนี้ก็มี “คติความเชื่อ” ของแต่ละภาคเช่นกัน อาทิ ภาคเหนือจะทำการสร้าง “หิ้งผี” ไว้ที่หัวนอน เพื่อให้เป็นที่วางดอกไม้บูชาผีบรรพบุรุษ และเมื่อลูกหลานคนใดจะแยกเรือนออกไปก็จะมีพิธีที่เรียกว่า “แบ่งผี” ที่เป็นการเอาบางส่วนของดอกไม้นี้ไปกราบไหว้ เปรียบเสมือนได้นำผีบรรพบุรุษติดตัวออกเรือนไปกราบไหว้ที่เรือนตนเองด้วย นอกจากนี้ นอกจากผีปู่ย่าตายายแล้ว  ยังมี “ความเชื่อเรื่องผีเรือน” ด้วย โดย “ผีปู่ย่า-ผีเรือน” นั้น…

เป็นผีอย่างเดียวกันหรือต่างกันก็ได้…

นี่เป็นคำอธิบายถึง “รากฐานความเชื่อ”

นอกจากนี้ก็ยังมี “ความเชื่อผีเจ้าที่” หรือที่ในภาคกลางเรียกว่า “พระภูมิ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยสันนิษฐานว่า…พระภูมิคงเป็น “คำเขมร” ที่เป็นการ ยืมคำบาลีมาใช้อีกทอดหนึ่ง เนื่องจากอินเดียไม่ปรากฏมีคำนี้ที่ใช้เกี่ยวกับเรื่องพระภูมิ 

ขณะที่เรื่องของ “สัณฐานศาลพระภูมิ” ที่มักจะ “มีเพียงเสาต้นเดียว” นั้น กรณีนี้ในบทความวิเคราะห์ว่า… น่าจะมีรูปแบบมาจากสัณฐานของ “ศาลพระภูมินา” หรือ “ศาลเพียงตา” ที่มีเสาเดียวซึ่งมีการทำต่อ ๆ กันมาในยุคหลัง ๆ ทำตามกันโดยการยึดรูปแบบ “ศาลพระภูมิมีเสาต้นเดียว” ให้เหมือนต้นแบบ …นี่เป็น “ที่มาความเชื่อ” และ “รูปแบบสัณฐาน” ที่ในบทความดังกล่าวฉายภาพถึงความเชื่อซึ่งสืบทอดมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับ “เอกลักษณ์เสาต้นเดียว” ของ “ศาลพระภูมิ”

“คลิปรีวิวศาลพระภูมิ” ที่ฮือฮาล่าสุด…

ก็ระบุถึง “เอกลักษณ์เด่น” เรื่องนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง ในบทความที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ สถาบันไทยคดีศึกษา ยังอธิบาย “วิวัฒนาการรูปแบบศาลพระภูมิ” ไว้ว่า… เดิมทีนั้นศาลพระภูมิมักจะทำขึ้นด้วยไม้ โดยจะทำให้มีพื้นลดหลั่นกันเป็น 2 ชั้น ชั้นบนจะเป็นที่ตั้ง รูปเจว็ด ซึ่งเป็น แผ่นไม้คล้ายใบเสมา โดยจะเขียนเป็น รูปพระภูมิชัยมงคล เพื่อตั้งไว้ประจำศาลพระภูมิ ขณะที่ ชั้นล่างจะเป็นที่วาง “เครื่องสังเวย” ซึ่งเดิมจะเป็นสิ่งละอันพันละน้อย แต่ภายหลังได้ใช้เครื่องสังเวยที่เป็นไก่ หัวหมู ปลา และอื่น ๆ อีกมากมายหลากหลาย โดยเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญ รวมถึงศาลพระภูมิที่อยู่ในเมืองมักจะมีโต๊ะตั้งเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นอีกส่วนด้วย

ในบทความวิชาการนี้สะท้อนและบ่งชี้ไว้…

“ศาลพระภูมิ” นี่ ก็มีวิวัฒนาการเกิดขึ้น”

รวมถึง “วัสดุที่ใช้สร้าง” ศาลพระภูมิ ที่จากเดิมมักทำด้วย ไม้ แต่ในยุคหลัง ๆ ก็มีวิวัฒนาการเป็นการสร้างศาลด้วย ซีเมนต์ เนื่องจากศาลที่เป็นไม้มักโดนปลวกกัดกินเสียหาย จึงเกิดการเปลี่ยนวัสดุมาเป็นปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ เมื่อยุคสมัยและความคิดของผู้คนเปลี่ยนไป กรณีนี้ก็ส่งผลทำให้ “ศาลพระภูมิยุคปัจจุบัน” นั้น มักจะเน้นความสวยงาม ด้วยการทำให้ศาล มีลักษณะเป็นยอดวิมานอย่างที่อยู่เทวดา ซึ่งนี่ก็ “ส่งผลต่อสถานภาพเดิม” ของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในศาลพระภูมิ” ด้วย โดยการที่ศาลพระภูมิได้มีการ “ปรับเปลี่ยนรูปแบบ” ดังว่านี้ ทำให้สถานภาพ “พระภูมิเจ้าที่” ได้ถูกยกระดับ…

กลายเป็น “เทวดา” หรือ “หัวหน้าเทวดา”

เหล่านี้คือที่มาความเชื่อเรื่อง พระภูมิ”

“ศาลพระภูมิ” นี่ ต่างชาติก็ทึ่งกันมาก”

แม้จะไม่รู้ถึง รากฐานที่มาที่มีคุณค่า”.