มโนราห์เป็นมือที่ช่วยมาฉุดเราให้ลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง จากที่ชีวิตเราสุ่มเสี่ยงเจอกับปัญหา และมีโอกาสที่จะไม่ได้เรียนต่อเพราะไม่มีเงิน เด็กหนุ่มวัยเรียน ม.6 “เค-วิชญะ เดชอรุณ” บอกเล่าไว้ เมื่อตัวของเขาได้รับ “โอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่” อีกครั้ง หลังจากได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแวดวง “มโนราห์” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…

“เค-วิชญะ” นักเรียนชั้น ม.6 คนนี้ อยู่ในพื้นที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เคยมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากมีปัญหาทางด้านการเงินและทุนเล่าเรียน โดยเขาเป็นหนึ่งในนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลือให้เข้าอยู่ใน “เครือข่ายเพื่อเยาวชน” ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ภายใต้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ของทาง กสศ. ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถอยู่ในเส้นทางชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อ “ตัดวงจรเสี่ยงทางชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน”

ส่วน “ที่มา” ที่ทำให้เด็กหนุ่มคนนี้ให้ความสนใจการแสดงพื้นบ้านประจำภาคใต้ อย่าง “การแสดงรำมโนราห์” นั้น ทาง เค-วิชญะ ได้บอกเล่าไว้ในบทความชื่อ “ขอบคุณมโนราห์…ฉุดพ้นวงจรเสี่ยง…เชื่อมต่อเส้นทางชีวิต” ซึ่งถูกเผยแพร่อยู่ใน “เว็บไซต์ กสศ.” ว่า… ตัวของเคนั้นผูกพันกับมโนราห์ตั้งแต่เด็ก โดยเดิมทีนั้นเขาคิดแค่อยากที่จะเรียนการแสดงพื้นบ้านนี้เพราะอยากรวมกลุ่มกับเพื่อนสนุกไปวัน ๆ แต่ไม่เคยคิดว่ามโนราห์จะกลายเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวและนำทางชีวิตให้กับเขาได้

วันที่เราเจอปัญหา วันที่เรากำลังอยู่บนเส้นทางสุ่มเสี่ยง ก็เป็นมือจากครอบครัวมโนราห์ ที่ฉุดเราให้ออกมา และช่วยถากถางทางเดินที่ตีบตันของเรา ให้เราได้มีทางไปต่อ ดังนั้นจะบอกว่าเราอยากขอบคุณที่มโนราห์ช่วยฉุดให้เราพ้นออกมาจากวงจรเสี่ยงและช่วยเชื่อมต่อเส้นทางชีวิตของเราก็ได้ เขาเผยความรู้สึกเรื่องนี้ไว้ ก่อนจะเล่าไว้อีกว่า ความสนใจใน “ศิลปะภูมิปัญญาเก่าแก่ของภาคใต้” เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้เขาได้ค้นพบตัวตน และเส้นทางดีงาม ทั้งยังช่วยเชื่อมโยงตัวเขาไว้ให้ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้อนาคตการเรียนของเขานั้น เกือบสะดุดลงเพราะไม่มีเงินนำไปชำระหนี้การศึกษาของเขาที่คั่งค้างอยู่

เค เด็กหนุ่มคนเดิมยังเล่าไว้อีกว่า เขาโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีสมาชิกเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน อีกทั้งฐานะทางบ้านก็อยู่ในขั้นเรียกว่ายากจนได้อย่างเต็มปาก ทำให้ชีวิตของเขานั้นจึงต้องเวียนวนกับหนี้สินไม่รู้จบสิ้น โดยทุกคนในครอบครัวมีแนวคิดแค่ว่า “พยายามหากินไปวัน ๆ เพื่อให้อยู่รอด” ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความที่เศรษฐกิจของบ้านเขานั้นมีความยากจน อีกทั้งครอบครัวเขายังมีพี่น้องที่อายุไล่เลี่ยกันถึง 3 คน เมื่อโตขึ้น จึงทำให้ภาระทางการเงินเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวเขา

ด้วยความที่รู้ดีว่าครอบครัวยากจน ทำให้เราพยายามหาเงินเองมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้เราเลยเข้าไปคลุกคลีอยู่ในวงจรการพนัน เรียกได้ว่าเรากระโจนลงไปอย่างไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะเห็นเขาทำเราก็ทำ ซึ่งด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ค่อยรู้อะไรถูกอะไรผิดอยู่แล้ว รู้แค่ไปโรงเรียนเห็นเพื่อนมีเงิน 60-70 จะซื้อขนมซื้ออะไรกินก็ได้ ส่วนเราทุกวันต้องกินข้าวไปจากบ้าน ก็น้อยใจตัวเอง ทำให้อยากมีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง และเมื่อเราได้ก้าวเข้าไปในวงจรนั้นแล้ว เราก็รู้ว่าเงินที่ได้มาไม่เยอะเลย แล้วแป๊บเดียวเราก็ใช้หมดไป เป็นช่วงชีวิตที่เขาได้เล่าไว้ หลังจากกระโจนเข้าไปในวงจรการพนัน

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองสนใจ อย่าง “มโนราห์” ก็ทำให้เขามองเห็นว่าสิ่งที่เคยทำมันไม่ดีเลย โดย เค ได้เล่าย้อนไปที่เรื่องราวในอดีตต่อไปว่า เหตุที่เขาต้องตกอยู่ในสถานะเด็กนอกระบบ เนื่องจากตอนจบ ม.3 เขาค้างค่าเทอมจำนวนหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิไปรับใบ ปพ. เพื่อจบการศึกษา โดยเขาเล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า ด้วยความที่เขารู้ตัวเองว่าครอบครัวไม่มีอาชีพมั่นคง ทำให้ทำใจตั้งแต่เด็กแล้วว่า ตัวของเขาไม่น่าจะได้เรียนสูง แม้ลึก ๆ จะยังแอบฝันว่า เขาอยากเรียนจบปริญญา แต่พอตอนที่รู้ถึงยอดค้างค่าเทอม ก็ทำให้เขาตกใจ เพราะเยอะมาก จนคิดว่าจะไปหาเงินมาจากไหน เพื่อเคลียร์หนี้สินการศึกษาตรงนี้ เพราะข้าวจะกินยังแทบไม่มีเลย แต่ด้วยความที่อยากเรียนจริง ๆ เขาจึงคิดว่าจะทำยังไงดี ในที่สุดเขาเลยตัดสินใจเก็บของมุ่งหน้าไปเกาะสมุยโดยไม่บอกใครเลย เพราะตั้งใจจะไปดิ้นรนหางานทำ เพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าเทอมที่ค้างอยู่ โดยเขาคิดว่าเรียนจบช้าหน่อยไม่เป็นไร แต่ยังไง ๆ ก็ต้องเรียนต่อให้ได้ อย่างไรก็ตาม พอไปถึงเกาะสมุย เขาก็ได้ลองไปสมัครงานตามร้าน ตามผับตามบาร์หลายแห่ง  แต่ก็ไม่มีที่ไหนรับ เพราะอายุเขาตอนนั้นแค่ 15 ปี แถมวุฒิก็ไม่มี ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกท้อมาก เพราะรู้สึกว่าโลกไม่มีที่ทางให้เขาเดินเลย ซึ่งหลังอกหักกับความฝันที่จะไปทำงานที่เกาะสมุย วันหนึ่งเคก็ได้รับโทรศัพท์จากครูของเขา ที่โทรศัพท์มาบอกว่าอยากให้เขากลับบ้าน โดยคุณครูท่านนั้นได้โอนเงินค่าเดินทางให้ด้วย เพื่อให้เขากลับบ้าน

กลุ่มเด็กที่ใช้วิถีมโนราห์เปลี่ยนชีวิต

คุณครูคนนั้นคือ ครูชานนท์ ปรีชาชาญ จากเครือข่ายเพื่อเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญของชีวิตเราก็ว่าได้ โดยครูชานนท์คือคนแรกที่โทรฯ หาผม อย่างแรกที่ครูบอกกับเราคือ ให้เรากลับบ้านทันที แล้วครูเขาก็ถามผมว่า ทำไมไม่บอกปัญหาให้เขารู้ ซึ่งเราเสียใจที่ไม่บอกครู เพราะเราไม่กล้าพูด คิดว่าถ้าครอบครัวช่วยเราไม่ได้ ครูที่เป็นคนนอกด้วยซ้ำจะต้องมาเดือดร้อนไปกับเราทำไม จนพอเราได้กลับมาเจอกัน ครูก็ได้พูดกับเราว่า ต่อไปนี้มีเรื่องอะไรให้เรามาปรึกษากับครูก่อน จะได้มาช่วยกันทำให้ปัญหามันทุเลาลง เค บอกเล่าไว้

พร้อมทั้งยังเล่าอีกว่า ครูชานนท์เข้ามาเปลี่ยนแปลงเราหลายอย่าง จากวันที่รวมกลุ่มกันรำ ไม่มีที่ ไม่มีคนสอน จนครูมาหา มาคุย มาให้โอกาส ให้คำแนะนำจริงจัง ก็ทำให้พวกเราสามารถยกระดับมาตรฐานขึ้นมาได้ จนตอนนั้นเรามองไปไกลว่า ถ้าวันหนึ่งพวกเราได้ออกแสดง พวกเราหาเงินได้ ก็คงจะมีความสุขมาก เพราะมโนราห์มันไม่ได้เป็นแค่อาชีพหนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเราด้วย ทำให้เราเกิดความกล้าและเชื่อมั่นว่าพวกเราจะเอาชนะอุปสรรคได้ทุกอย่าง

และหลังจากได้รับความช่วยเหลือจากครูชานนท์ ที่เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยชำระค่าเทอมที่ค้างให้ ทำให้เคสามารถเข้าเรียนชั้น ม.4 ได้ทัน ซึ่งหลังจากนั้นเคก็ได้ก้าวเข้าไปร่วมกิจกรรมในฐานะเยาวชนแกนนำของ ศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งครูชานนท์เป็นคณะทำงานอยู่ โดยเคไม่ได้เพียงเข้าไปฝึกฝนและแสดงมโนราห์เท่านั้น หากแต่เขายังนำประสบการณ์ของตนเองมาแบ่งปันในฐานะที่ปรึกษาให้กับเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ในกลุ่มด้วย โดยเขาย้ำถึงสิ่งที่ตั้งใจทำนี้ว่า เพราะเราไม่อยากเป็นผู้รับฝ่ายเดียว ซึ่งหลังผ่านช่วงเวลายากลำบากโดยได้รับการดูแลจากครูและเพื่อน ๆ ในคณะมโนราห์ ที่สุดเคก็เข้มแข็งจนลุกยืนใหม่ได้ในที่สุด ทำให้เคมองว่าพลังที่ได้รับมาต้องถูกถ่ายทอดต่อไป เขาจึงตั้งใจที่จะช่วยครูดูแลเพื่อนและน้องในศูนย์ฯ เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ มีอาชีพ

แม่พรจิต ครูภูมิปัญญาในพื้นที่ – เค – ครูชานนท์

เราเคยคิดว่าคงไม่มีที่ทาง ไม่มีโอกาสสำหรับคนอย่างเรา แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เราจึงเชื่อว่าทุกคนควรได้รับโอกาสเหมือนกันกับที่เราเคยได้รับ ซึ่งเรายอมรับว่ากว่าจะผ่านจุดเสี่ยงชีวิตตอนนั้นมาได้ถึงตรงนี้ มันไม่ง่าย ซึ่งกว่าจะหลุดจากวงจรการพนันออกมาได้ จากที่ครั้งหนึ่งเราถลำเข้าไปอยู่ในวงจรนั้น เราถึงขั้นเคยคิดที่อยากจะตั้งบ่อนเองเสียเลย เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้วของเขา ที่ เค ได้นำเรื่องราวนี้มาบอกเล่าไว้เป็นบทเรียนให้กับคนอื่น ๆ

การที่เราได้อยู่กับสิ่งที่รัก และเป็นอาชีพที่มั่นคง คือรำมโนราห์ ทำให้เราได้มองเห็นโลกข้างนอกที่กว้างกว่าแค่สภาพแวดล้อมที่เคยเจอตอนเด็ก จนกลายเป็นความภูมิใจสำหรับเราว่า จากคนที่แทบเอาตัวไม่รอด แต่ตอนนี้เราดูแลส่งตัวเองเรียนได้ ด้วยเงินจากการแสดงมโนราห์ แถมเรายังได้นำเงินที่ได้จากตรงนี้ไปช่วยที่บ้าน และช่วยจ่ายค่าเทอมให้พี่ ๆ ได้เรียนมหาวิทยาลัยอีกด้วย เคเล่าถึงความภูมิใจในชีวิต

ทั้งนี้ ในช่วงท้าย “เค-วิชญะ” เด็กหนุ่มเจ้าของเรื่องราวที่เป็น “บทเรียนชีวิต” ให้ผู้อื่นได้ด้วยนั้น ได้ระบุไว้ในบทความ “ขอบคุณมโนราห์…ฉุดพ้นวงจรเสี่ยง…เชื่อมต่อเส้นทางชีวิต” ด้วยว่า วันนี้เขาเข้าใจแล้วว่าการสนับสนุนการศึกษาด้วยการ กระจายโอกาสให้สามารถไปถึงเด็กและเยาวชนที่รอคอยอยู่นั้นมีคุณค่าเพียงใด ซึ่งสำหรับเขา การได้พบครูชานนท์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ คือการพลิกกลับของเส้นทางชีวิต ซึ่งจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากไม่มีใครมองเห็นถึงคุณค่าในตัวของเขา… อยากขอบคุณทุกคน อยากขอบคุณครูที่มองเห็นคุณค่าในคนอย่างพวกเรา ซึ่งครูทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เป็นตัวเราไม่มีทางที่ใครจะมาบั่นทอนได้ถ้าเราเชื่อมั่น และอีกสิ่งที่ต้องไม่ลืมขอบคุณ ที่ได้นำพาชีวิตเราให้ก้าวมาถึงวันนี้…      

นั่นก็คือ…มโนราห์

ครูชานนท์ ปรีชาชาญ กับ สมพงษ์ หลีเคราะห์

สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ช่วยเด็ก

เจตนาของเรามีเพียงอย่างเดียวว่า เราจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยทั้งกายและใจสำหรับเด็ก ๆ เป็นการระบุไว้โดย ครูชานนท์ ปรีชาชาญ คณะทำงานเครือข่ายเพื่อเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งมีการบอกไว้อีกว่า ข้อค้นพบหนึ่งจากเยาวชนกลุ่มเปราะบาง คือเด็ก ๆ ไม่เคยมีพื้นที่ทำกิจกรรมของตนเอง ทำให้ขาดการฝึกฝนที่ตรงตามศักยภาพของตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ครูและผู้ใหญ่ต้องช่วยกันสร้างให้เกิดพื้นที่นี้ขึ้น ขณะที่ สมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการฯ นี้ ของเครือข่ายภาคใต้ตอนบน ระบุไว้ว่า “ห้องเรียนปลอดภัย” เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยดึงเด็กเยาวชนเข้าหาการเรียนรู้ ซึ่งต่างจากห้องเรียนในระบบเชิงอำนาจที่เด็กต้องเข้าไปเพราะเป็นเส้นทางการศึกษาตามกระแสหลัก ดังนั้น ในการทำงานกับเด็ก-เยาวชนนอกระบบ เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ที่มีเป้าหมาย “ต้องทำให้เด็กรู้สึกสบายใจและปลอดภัย”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน
กสศ. : ข้อมูล-ภาพ