แต่อีกมุมหนึ่งของหมู่บ้านคริสตชนในภาคอีสานของไทยดูจะต่างออกไป โดยเฉพาะในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์และมุกดาหาร เต็มไปด้วยบรรยากาศของความสมัครสมานกลมเกลียวแบบพี่น้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมฉลองคริสต์มาสด้วยการทำดาวและถํ้าพระกุมาร ช่วยกันประดับตกแต่งวัดประจำหมู่บ้านให้สวยงาม รวมถึงบ้านเรือนของตน เพื่อเฉลิมฉลองการมาประสูติของพระเยซูเจ้า ความศรัทธาที่สานต่อมายาวนานกว่า 100 ปี จนกลายเป็นประเพณีในคืนวันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี และเรียกขานกันว่า “ประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส” โดยมีศูนย์รวมหลักอยู่ที่อาสนวิหารอัครมีคาแอล บ้านท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร

ดาวในคริสตศาสนา เป็นสัญลักษณ์หมายถึง การบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า และเป็นสื่อนำทางพวกโหราจารย์ให้ได้พบกับพระกุมารเยซูในถํ้าเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ ชาวตะวันออกเชื่อกันว่าทุกคนเกิดมามีดาวประจำตัวโดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่มีบุญบารมี ดาวประจำตัวจะสว่างสุกใสกว่าปกติสังเกตเห็นได้ง่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเวลาที่พระเยซูเจ้าประสูติ จะปรากฏดาวประจำพระองค์ให้พวกโหราจารย์หรือนักปราชญ์จากทิศตะวันออกได้เห็น พวกเขาได้ออกเดินทางตามดาวดวงนั้นไปเพื่อไหว้นมัสการและถวายของขวัญตามที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (มธ 2:1-12)

ประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาสมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เข้าใจว่าคงมีมาตั้งแต่แรกเริ่มที่คริสตศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยการนำของ คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Jean PRODHOMME) และ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavier GEGO) ธรรมทูตรุ่นบุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ที่สอนให้คริสตชนทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส ประกอบกับธรรมชาติของคนอีสานที่ร่าเริงสนุกสนานมีงานประเพณีแห่แหนตลอดทั้งปี

จากทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาสมาสู่ประเพณีแห่ดาวรอบวัดหรือชุมชน ก่อนจะกลายมาเป็นประเพณีนิยมของทุกวัด การทำดาวประดับวัดของหมู่บ้านคาทอลิกในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ก็เหมือนกับการทำถํ้าพระกุมาร และการประดับต้นคริสต์มาสในประเทศยุโรป แต่จะมีชีวิตชีวาและวิวัฒนาการมากกว่า มีการประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชน จากการทำดาวประดับวัดธรรมดาพัฒนาไปเป็นการทำดาวประดับบ้านเรือน การแห่ดาวและการประกวดดาว เพื่อสืบสานความเชื่อความศรัทธาอย่างมีสีสันและมีชีวิตชีวา อันแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีของชุมชนตามจิตตารมณ์ของคริสต์มาส

ประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาสนี้มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือที่มิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง เท่านั้น เป็นกิจกรรมในเทศกาลคริสต์มาส เพื่อระลึกเหตุการณ์ที่บรรดาโหราจารย์ได้ติดตามดาวประหลาดดวงหนึ่ง เพื่อไปพบสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้าที่เบธเลเฮม และถือกันว่าดวงดาวคือสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู

หมู่บ้านท่าแร่เป็นชุมชนคาทอลิกเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และถือว่าเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ เล่ากันว่า ในอดีตชาวท่าแร่เป็นคริสตศาสนิกชน อพยพมาจากประเทศเวียดนาม ที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานทาส และมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ จำนวน 40 คน มาอาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร โดยมีบาทหลวงเกโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคอยดูแล เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บาทหลวงเกโกจึงหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ โดยจัดทำแพขนาดใหญ่ทำด้วยเรือเล็ก นำไม้ไผ่ผูกติดกัน ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบ บรรทุกทั้งคนทั้งสัมภาระ ให้สายลมพัดพาไปในทิศที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ในที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปอีกฟากหนึ่งของหนองหารได้อย่างปลอดภัย และตั้งรกรากใหม่เป็นชุมชนชาวคริสต์ บ้านท่าแร่

การแห่ดาวที่สกลนครเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) โดย พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงระหว่างปี ค.ศ. 1980-2004 (พ.ศ. 2523-2547) ที่มีความประสงค์จะให้หมู่บ้านคริสตชนในเขตปกครองได้นำดาวที่ใช้แห่ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้าในหมู่บ้านของตน มาร่วมแห่อีกครั้งที่สกลนครเพื่อสนับสนุนกลุ่มคริสตชนวัดพระหฤทัยฯ ซึ่งยังมีจำนวนน้อยอยู่ โดยมอบหมายให้ชุมชนท่าแร่ หมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นผู้นำในการทำดาวและประดับประดารถบุษบก ถํ้าพระกุมารที่ใช้ในขบวนแห่ โดยเริ่มแห่จากศาลากลางจังหวัดสกลนครไปยังบริเวณโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร ก่อนที่จะมีพิธีเฉลิมฉลองคริสต์มาส เหมือนเช่นที่ทำกันในแต่ละวัด

เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสที่ท่าแร่ นอกจากจะมีกิจกรรมถนนคนเดินไว้ให้นักช้อปเที่ยวชมและซื้อสินค้าแล้ว ในคํ่าคืนของวันที่ 23 ธันวาคม จะมีรถขบวนแห่ดาวใหญ่ จากชุมชนทั้ง 15 ชุมชนของเทศบาลตำบลท่าแร่ โรงเรียนในตำบลท่าแร่ จากประชาชนทั่วไปที่อยู่ในท้องที่ และจากต่างจังหวัด ที่ตกแต่งรถดาวใหญ่ ประดับประดาด้วยไฟแสงสี มีซานต้าและซานตี้อยู่บนขบวนรถ คอยแจกลูกอมให้กับผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม พร้อมกับเปิดเพลงคริสต์มาส แห่รอบชุมชนบ้านท่าแร่ ก่อนที่จะจอดรวมกันที่ศาลามาร์ติโน ท่าแร่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพอันสวยงามไว้เป็นที่ระลึก พบกับขบวนรถแห่ดาวซึ่งประดับไฟหลากสีกว่า 20 คัน

ชมโบราณสถานของหมู่บ้านคริสต์ ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าร้อยปี ทั้งอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ บ้านโบราณ 100 ปี และคฤหาสน์โบราณ ร่วมกิจกรรมพาแลง กินลมชมดาว ชมดนตรีวาไรตี้ ณ สวนสาธารณดอนเกิน และในวันที่ 24 ธันวาคม ร่วมชมขบวนแห่ดาวเล็กแบบดั้งเดิม (ดาวมือถือ) บริเวณศาลามาร์ติโน เคลื่อนขบวนจากบริเวณศาลามาร์ติโนท่าแร่ไปตามถนนรอบอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ 1 รอบ แล้วเข้าสู่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ร่วมพิธีบูชามิสซา โดย พระอัครสังฆราช อันตน วีระเดช ใจเสรี และชมการแสดงละครประวัติการบังเกิดพระกุมารเยซู ส่วนวันที่ 25 ธันวาคม จะเป็นการแห่ดาวใหญ่ ของชาวคาทอลิก 4 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ กว่า 300 ขบวน โดยปีหน้าจะเพิ่มการแห่ดาวทางอากาศอีกด้วย เรียกว่า การแห่ดาวบนดิน ดาวบนนํ้า และดาวทางอากาศ

กิจกรรม “Christmas Isan In Love 2022 @งานแห่ดาว อ.ท่าแร่ จ.สกลนคร” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 ธ.ค. 2565 ร่วมทำ DIY ข้าวจี่รูปดาว/เฮ็ดดาวอีเกิ้ง/แต้มแก้มรูปดาว Love Forward ถ่ายภาพภายในงานโพสต์ลง social media และสอยดาวลุ้นรับของที่ระลึกซานต้า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “แห่ดาว สู่ เคานท์ดาวน์ ISAN in Love” ส่งมอบความสุขผ่าน ตุ๊กตาคราม Isan in Love จำนวน 300 สิทธิ โดยมอบให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในที่พัก/โรงแรม สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อย่างน้อย 2 คืน ในระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค. 2565 โดยนำใบเสร็จรับเงินค่าโรงแรม/ที่พัก มาแลกรับที่โซนกิจกรรม หรือบูธกิจกรรมของ ททท. ใน Winter Festival @นครพนม ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2565-1 ม.ค. 2566.

อธิชา ชื่นใจ