เวลาปีใหม่ที ก็จะมีการอวยพรกันทีว่า “ให้ทุกสิ่งดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา” ซึ่งสุขหรือทุกข์มันก็อยู่ที่ปัญหาที่พบส่วนหนึ่ง อยู่ที่ใจส่วนหนึ่ง บางคนเรียกว่า “ทุกข์จริง” อาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ ปัญหาหนี้สิน ปัญหากิจการขาดทุนล้มละลาย ปัญหาสูญเสียของหรือคนสำคัญ ซึ่งเขาก็หวังให้อะไรๆ มันดีขึ้น แต่บางคน เห็นแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า ทุกข์จริงหรือแค่ไม่ได้ดังใจ หรือพยายามจะเข้าไปเจ็บปวด เข้าไปอินกับทุกปัญหา ทุกกระแส ให้เห็นว่า ..เราแคร์สังคม..บางคนก็ขยายเรื่องให้มันเกินจริงไปจนเว่อร์ แบบจริงๆ แล้วไม่ได้รู้สึกอะไรเลย แต่เวลาพูดคุยเรื่องการเมืองกันก็บอกว่า “จะอดตายกันทั้งประเทศอยู่แล้ว” ซึ่งต้องเบรกๆ ไว้บ้างว่า ..ช้าก่อน นี่ไม่ใช่เกาหลีเหนือ..
ถืออคติไว้มากก็ยิ่งทุกข์มาก บางทีก็ต้องหันกลับมามองโลกในแง่ดีบ้าง ..แต่ก็ห้ามความคิดใครไม่ได้ ถ้าเรามีอคติกับอะไรบางอย่าง ก็จะหาเรื่องจับผิดเรื่อยไป เรื่องเก่าๆ ที่ฝ่ายที่เรามีอคติด้วยเคยทำพลาดหรือถูกกล่าวหา ก็รื้อฟื้นมาพูด มาย้ำความผิดอยู่นั่นแหละ ทั้งที่บางที คนพูดไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุด้วยซ้ำ แค่ฟังขี้ปากเขามาพูดต่อ เช่นคำว่า “ทักษิณขายชาติ” วันนี้ลองไปถามฝ่ายเกลียดอดีตนายกฯ ทักษิณดู ก็คงจะนึกๆ ไม่ค่อยออกกันด้วยซ้ำว่ามีคดีอะไรบ้าง
บางคนอินกับกระแส “ความเห็นอกเห็นใจ” เป็นพิเศษว่า คนในโลกยุคนี้ต้องการมันมาก ซึ่งดูๆ เหมือนคนเราจะทุกข์กันง่ายขึ้น เห็น มีหนังสือแนวๆ เยียวยาใจออกมาเต็มไปหมด แล้วก็ขายดีด้วย หนังสือพวกนี้มักจะพูดถึงการกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึก หรือบาดแผลในใจของเรา หาต้นตอมัน แล้วเยียวยา แล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ ..อะไรเทือกๆ นี้ … สิ่งที่เป็นทุกข์กันง่ายส่วนหนึ่งอาจเพราะ “ใจบาง” กันมากขึ้น บางเรื่องเคยพูดเล่นพูดหัวได้กลายเป็นบอกว่า bully (กลั่นแกล้งรังแก) กันไปเสียหมด จนคำว่า bully น่าจะเป็นศัพท์แห่งทศวรรษนี้ ที่บางทีก็รู้สึกใช้กันพร่ำเพรื่อเกินเหตุ
ซึ่งก็แล้วแต่การให้ความสำคัญกับเรื่อง หรือการตัดสินของแต่ละคนว่า การแสดงออกต่อกันและกันในระดับไหนถึงเรียกว่าบูลลี่ได้ ..ถ้าเป็นการประทุษร้ายทางร่างกายนั่นแน่นอน ..อย่างไรก็ตาม เคยถามคนรู้จักที่ค่อนข้างจะเป็นคนที่รำคาญกระแสการใช้คำว่าบูลลี่ ว่า ถ้าเขาถูกบูลลี่เขาแก้ปัญหาอย่างไร? ได้รับคำตอบว่า “ด่ามาด่ากลับ แกล้งมาแกล้งกลับ ถ้าอีกฝ่ายหาพวกมารุมก็จะหาพวกมาช่วย ให้จบๆ ไป” ..รายนี้บอกว่า นี่คือวิธีแก้ปัญหาการถูกบูลลี่ของเขา แนวๆ “อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด” โตๆกันแล้วมีอะไรคุยกันตรงๆ ต่อหน้า การเอาไปพูดลับหลังถือว่าไม่มีมารยาท
อคติทางการเมือง ก็เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์อย่างหนึ่ง บางคนก็ไม่รู้ว่าทุกข์จริงแค่ไหน ที่มีความเห็นประเภท “ถ้าเป็นรัฐบาลนี้ๆ คนไทยอดตายทั้งแผ่นดิน” หรือ “ถ้าเป็นรัฐบาลนี้ๆมันเข้ามาโกงทั้งแผ่นดิน” … การอินไปกับการเมืองก็เป็นเรื่องดี เพราะมันคือความเป็น “พลเมือง” ที่ทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลด้วย ไม่ใช่แค่ว่า เข้าคูหาเลือกตั้งแล้วจบ แต่เมื่อไรที่รัฐบาลทำอะไรแล้วไม่น่าจะดีก็ต้องแสดงออกถึงความเห็นค้าน ..ซึ่งว่าไป รัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถือว่า “ฟังเสียงสังคม” พอสมควร เช่นการที่ยอมยกเลิกนโยบายขายที่ดินต่างชาติ …แม้รัฐบาลจะอ้างว่า มีเงื่อนไขมากมาย และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กระแสต่อต้านมาจากอุดมคติเรื่องความเป็นชาติ ที่ดินของไทยต้องเป็นของคนไทย
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็มีคนไม่ชอบเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะความอยากเปลี่ยน ให้คนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาทำงานบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่ทหารแก่เกษียณ ความต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นได้จากการเติบโตแบบคาดไม่ถึงของพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกล ที่ชนะ ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อได้จำนวนมากแบบคาดไม่ถึง เพราะบุคลิกลักษณะของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ดูเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อเปลี่ยนสังคม โดยเฉพาะเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้ และความเหลื่อมล้ำด้านฐานะทางสังคม
ถ้าจำไม่ผิด คุ้นๆ ว่า ตอนที่พรรคอนาคตใหม่หาเสียงเลือกตั้ง จะพูดแนวๆ ว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะเอาคนที่ตรงกับสายงานมาเป็นรัฐมนตรี อย่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็เคยถูกวางไว้เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ หรือครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ที่มีประสบการณ์และความรู้ด้านการจัดการศึกษาโดยใช้โมเดลฟินแลนด์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นโมเดลการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ …ในขณะที่รัฐบาลผสมของบิ๊กตู่ที่เกิดขึ้น กลายเป็น โควตากลุ่ม โควตาผู้ใหญ่พรรค โควตาอาวุโส เป็น ส.ส.มาห้าสมัยบ้างล่ะ แล้วก็ยังจะดันมีโควตา คสช.อีก แบบนี้ใครมันจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงและความหวัง? ยังงงๆ ว่า รัฐมนตรีบางคนนี่..เคยมีผลงานอะไรบ้างไหม
ในส่วนความต้องการจะเปลี่ยน.. ในปี 2566 ก็จะต้องเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องไปช้าที่สุด คือ มี.ค.66 เลือกตั้ง พ.ค.66 ขั้วอำนาจปัจจุบัน คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็หวังจะได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ เพื่อไทย ก็หวังจะได้ ส.ส.แลนด์สไลด์ ระดับที่จับมือกับอีกไม่กี่พรรคก็ได้เสียง ส.ส.เกิน 376 เสียง ไม่ต้องให้ ส.ว.มาจุ้นจ้านเรื่องเลือกนายกฯ อีก ..เพราะนายกฯ ควรมาจากการเลือกของตัวแทนประชาชน ไม่ใช่มาจากกลุ่มคนที่ทหารแก่เลือก
ทีนี้ มันก็เกิดเหตุให้ต้องคาดเดาการเมืองกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “3 ป.แตก” ที่ตอนนี้ก็น่าจะค่อนข้างชัดมากแล้วว่า บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ น้องเล็กใน 3 ป.จะไปอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค …คนก็สงสัยว่าจะแตกกับพี่ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรื่องอะไร ..ตอบว่า ก็ยากจะหาคำตอบ เพราะเรื่องพวกนี้มันคงรู้กันวงใจ ..เว้นแต่จะมี ป.ใด ป.หนึ่งทนไม่ได้ทิ้งบอมบ์ใส่อีก ป.ซะก่อน (ซึ่งก็ไม่รู้จะได้เห็นหรือไม่เพราะเขาว่าเขารักกันมาก)
โดยสามัญสำนึก คนรักกันปานจะกลืนกินแค่ไหนก็ตาม สาเหตุที่ทำให้แตกคอกันได้ง่ายที่สุด ก็คือ “ผลประโยชน์ไม่ลงตัวกันแล้ว” นี่ว่ากันตามหลักที่ว่าคนเรายึดอรรถประโยชน์สูงสุด ..แต่ผลประโยชน์ระหว่าง 2 ป.ไม่ลงตัวอะไรกันคิดว่าทั้งคู่ไม่พูดง่ายๆ การแตกคออาจเป็นเรื่องวันหนึ่งอุดมการณ์ไม่ตรงกันอีกแล้ว หรือไม่ก็อาจมีกรณี “บ่างช่างยุ” บอกว่าต้องแตกคอ เพื่อไปอยู่กับตัวเลือกที่ดีกว่าได้ เมื่อถึงเวลาความจริงมันก็จะมาเอง…แต่ตอนนี้ที่เป็นที่จับตา (และลือๆ กัน ) คือ บิ๊กป้อมจะไปอยู่ร่วมกับขั้วเพื่อไทย จากการประสานของ “ป.ที่ 4” ซึ่งน่าจะมีเงื่อนไขข้อตกลงอะไรกันบางอย่างเพื่อพา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมาเลี้ยงหลาน 7 คน
ทางฝ่ายเพื่อไทยหวังเสียงแลนด์สไลด์ให้ได้ ทาง พปชร. ก็ต้องยอมรับว่า ตอนนี้สภาพพรรคแตกยับเยิน ใครจะไปกับบิ๊กตู่ ใครจะอยู่กับบิ๊กป้อม ก็รอดูกันเร็วๆ นี้ไม่นานนักหรอก ..และถ้ามีเรื่องการแย่งชิงอำนาจ วางเหลี่ยมแต้มคูกันแบบนี้ ก็ดูเหมือนการเมืองจะไม่นิ่ง ซึ่งวิธีจะให้การเมืองนิ่งมันมีสองอย่าง คือ 1. เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งให้เสียงชนะขาดไปเลย ไม่ต้องมานั่งต่อรองอะไรกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (เดี๋ยวก็จะมีคนว่าอีกว่า เผด็จการรัฐสภา) 2. เมื่อเห็นสองขั้วมันตีกันนัก เอาเป็นว่า เลือก “ขั้วที่สาม” ที่ดูแล้วน่าจะมีความหวังเข้ามาทำงานเพื่อปฏิรูป (ที่ไม่ใช่ปฏิรูปแบบ กปปส. คือบอกปฏิรูปแต่สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ) ทั้งปฏิรูปการเมือง การศึกษา กระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
การเมืองช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ เพราะเป็นตัวกำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา แต่ปัญหาคือ เราจะเลือกอยู่ในวังวนการเมืองแบบต่อรองอำนาจ ชิงผลประโยชน์กันเองก่อนค่อยโยนเศษเนื้อให้ประชาชน หรือจะเอาการเมืองที่ “เชื่อได้ว่า” เมื่อเลือกแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดี
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”