น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพ.ค.64 หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลกระทบตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางอยู่ช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ และจากสอบถามผู้ประกอบการในภาคการผลิตได้รับผลกระทบบ้าง เพราะมีแรงงานติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องย้านฐานผลิตชั่วคราว แรงงานบางรายรายได้ลด เวลาทำงานลด อาจเหลือแค่พาร์ทไทม์ และธปท.ยังต้องติดตามผลกระทบของมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ทั้งแคมป์แรงงานก่อสร้างและร้านอาหาร ซึ่งหากกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้นจะกระทบต่อบริโภคในประเทศได้ในอนาคต

นอกจากนี้จากข้อมูลเดือนมิ.ย.เบื้องต้น พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังเจอผลกระทบจากโควิดที่ยังระบาดค่อนข้างมาก การระบาดที่ยืดเยื้อจะเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นตัวกำหนดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยธปท.จะติดตามใกล้ชิดเพราะมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งสถานการณ์ระบาด มาตรการควบคุม ความต่อเนื่องจัดหาและความเร็วกระจายฉีดวัคซีน และติดตามผลกระทบต่าง ๆด้วย

“มาตรการทุกอย่างมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังเห็นความเสี่ยงไม่แน่นอนสูง ต้องดูผลกระทบว่าจะมากแค่ไหน หากมากขึ้นและยืดเยื้ออาจต้องดูแลให้ประมาณการเศรษฐกิจเหมาะสม ส่วนเรื่องการจ้างงานความกังวลมีอยู่แล้วจากโควิดยืดเยื้อ จากเดิมคิดว่าแรงงานอาจจะว่างงานชั่วคราว หรือระยะสั้น แต่ถ้ายาวมากขึ้น จะส่งผลต่อรายได้ การบริโภค และเป็นแผลเป็น แก้ไขได้ยากขึ้น ซึ่งแรงงานบางส่วนหากไม่มีงานทำ และกลับมาทำงานอีกครั้งอาจสูญเสียทักษะไป ถ้ามาด้วยการท่องเที่ยวจะกลับมาได้เร็ว เรื่องแรงงานเป็นสิ่งที่ธปท.กังวลเกือบจะมากที่สุด”

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค.ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ และการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนสำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่

ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า