เครื่องปั้นดินเผางานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ความโดดเด่น มีความผูกพันกับวิถีไทยมาอย่างยาวนาน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ….

นับแต่อดีตเครื่องปั้นดินเผาสวยงามของไทยเป็นสินค้าส่งออก และไม่เพียงเป็นเครื่องใช้ เป็นภาชนะ ในปัจจุบันงานคราฟต์ “เครื่องปั้นดินเผา” ยังพัฒนารูปแบบดีไซน์ เพิ่มการใช้ประโยชน์อีกหลากมิติ ทั้งเป็นของแต่งบ้าน เครื่องประดับ อีกทั้งเป็นงานศิลปะที่สวยงาม ทรงคุณค่า

เครื่องปั้นดินเผายังบอกเล่าเรื่อง บันทึกอดีต ทั้งนี้จากหลักฐานทางโบราณคดี ทําให้ทราบว่าเครื่องปั้นดินเผาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ การค้นพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณได้บอกเล่าความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตยังส่งต่อการเรียนรู้ การพัฒนาสร้างสรรค์ผลงาน

หากมองในมิติการตกแต่งเติมความสวยงาม มีด้วยกันหลายวิธี อาทิ การกดลาย การขูดขีด การปั้น การเคลือบ หรือ การเขียนลาย ฯลฯ ทั้งนี้พาค้นความรู้การเขียนลาย การเขียนสีใต้เคลือบ โดย พัชรี พัฒนจันทร์ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรให้ความรู้การเขียนสีใต้เคลือบ หนึ่งในเทคนิคที่มีใช้ต่อเนื่องมายาวนาน

“การเขียนสีใต้เคลือบเป็นกระบวนการหนึ่งในการตกแต่ง หลังจากขึ้นรูปดินเป็นรูปทรงต่าง ๆ และนำไปเผา ก่อนการเพนท์ช่างจะออกแบบลวดลายที่ต้องการ อย่างเช่น ถ้าเป็นภาชนะทรงสูง มีความโค้ง หรือภาชนะรูปทรงใด ๆ จะออกแบบก่อนเพนท์ และหลังจากเพนท์เสร็จสิ้น จะนำชิ้นงานไปเคลือบ ชุบนํ้าเคลือบและนำไปเผาในอุณหภูมิที่ 1,200 องศาเซลเซียส

“การเขียนสีใต้เคลือบ เทคนิคนี้มีใช้มายาวนาน หากย้อนไปในงานเครื่องปั้นดินเผาของไทยยุคแรก ๆ จะเห็นวิธีการตกแต่งนี้ซึ่งมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ อย่าง สีคราม ที่นำมาใช้เขียนสีใต้เคลือบ จะเห็นความอ่อน เข้มของนํ้าหนักสี ทั้งสามารถเขียนไล่นํ้าหนัก จากสีบาง ๆ และค่อยเพิ่มนํ้าหนักขึ้น อีกทั้งในรูปแบบการเขียนจะไม่ซับซ้อนเหมือนการเขียนสีบนเคลือบ”

นอกจากการเพนท์ดังกล่าวยังมี การเขียนสีบนเคลือบ โดยวิธีการเขียน ขั้นตอนการเผาอุณหภูมิที่ใช้จะต่างกัน ความสวยงามความมีสีสันของชิ้นงานจะสดใส และสามารถเขียนสีเพิ่ม ใส่สีทองเพิ่มคุณค่าให้กับชิ้นงาน ประดับชิ้นงานได้ ทั้งนี้ สีบนเคลือบจะเผาที่อุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส เผาที่อุณหภูมิไม่สูงซึ่งต่างจากการเขียนสีใต้เคลือบ

“การเขียนสีใต้เคลือบ จากการสังเกตส่วนใหญ่จะเป็นสีโมโนโทน ไม่ฉูดฉาด ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว หรือสีนํ้าเงินที่นำมาใช้ จะดูละมุน นุ่มนวล ต่างจากการเขียนสีบนเคลือบให้ความฉูดฉาด ความเข้มข้นของสีเด่นชัดกว่า โดยเมื่อนำชิ้นงานมาศึกษาถึงรูปแบบวิธีการเขียน จะเห็นถึงความต่างกันชัดเจน”

นายช่างศิลปกรรมอาวุโส คุณพัชรี ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า อย่างเช่นผลงานแสดงใน นิทรรศการ การเขียนสีเซรามิก โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เขียนสีใต้เคลือบใช้สีคราม แต่จากที่กล่าว สีที่ใช้ในการเขียนก็ไม่ใช่จะมีแต่สีคราม ใช้สีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สีแดง สีเหลือง สีนํ้าเงิน สีเขียว ฯลฯ ตามความต้องการ แต่ความสดใสของสีอาจไม่สู้สีบนเคลือบ

ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการเคลือบ อีกรูปแบบการตกแต่งที่มีความสำคัญ โดยถ้าควบคุมการเคลือบได้ดี เลือกนํ้าเคลือบได้เหมาะสม สี ภาพ ลวดลายที่เขียนจะมีความคมชัด หรือจะสร้างสรรค์ให้ผลงานมีความนุ่มนวลก็เป็นไปได้ เทคนิคการเคลือบจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา และมีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานเครื่องปั้นดินเผา

“การเขียนสีใต้เคลือบ หรือบนเคลือบในงานเซรามิก เครื่องปั้นดินเผายังนิยมนำมาสร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะตกแต่งในรูปแบบใด และยังพัฒนาต่อยอด มีเทคนิควิธีการใหม่ ๆ โดยนอกจากที่กล่าวมายังมีการเขียนสีในเคลือบ เคลือบดิบแบบไม่เผา ฯลฯ ซึ่งแต่ละเทคนิควิธีการให้ความสวยงามที่ต่างกัน

จากที่กล่าวการเขียนสีใต้เคลือบ ในมุมมองการสร้างสรรค์ของตนเองจะคุมโทนสีได้ดี นุ่มนวล ส่วนการเขียนสีบนเคลือบจะมีความงามไปอีกรูปแบบ สีสันสวยสะดุดตา ซึ่งก็อยู่ที่การเลือกนำมาใช้ หรือจะเขียนทั้งสองรูปแบบ นำมาผสมผสานกันเพื่อบอกเล่ารายละเอียดชิ้นงานก็เป็นไปได้เช่นกัน”

นายช่างศิลปกรรมอาวุโส คุณพัชรี ยังเล่าถึงการเขียนสีใต้เคลือบของกลุ่มงานฯ ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลาย ในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” อีกว่า ภาพขนาดใหญ่ ภาพเขียนกระเบื้องลายคราม : สื่อสัมพันธ์การผลิตและการค้าเครื่องปั้นดินเผาของไทยและญี่ปุ่น ได้ร่วมเขียนและออกแบบ แสดงถึงอารยธรรมและวัฒนธรรมการค้าขายของทั้งสองชาติ การเชื่อมโยงสายสัมพันธ์กันเป็นเวลากว่าหกร้อยปีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

“ภาพกระเบื้องชุดนี้แสดงถึงวิถีชีวิตของแต่ละชาติในการทำเครื่องปั้นดินเผาในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การกรองดิน การนวดดิน การขึ้นรูปภาชนะ การเขียนลาย การเคลือบ การบรรจุภาชนะเข้าเตา และการเผา ในรูปแบบการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ใช้สีครามหลากหลายเฉดเขียนบนแผ่นกระเบื้องพอร์ชเลนสีขาว และเคลือบใสเผาที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส เป็นผลงานส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการเขียนสีใต้เคลือบ ซึ่งการเขียนศึกษารายละเอียดเพิ่มได้จากอีบุ๊ก จากเพจสำนักช่างสิบหมู่” 

ช่างเขียนอาวุโสยังปันประสบการณ์สร้างสรรค์ทิ้งท้ายอีกว่า แต่ละเทคนิคการเพนท์จะพบปัญหาต่างกันไป อย่างเช่น สีใต้เคลือบถ้าเขียนสีหนาเกินไป เมื่อเวลานำไปเคลือบอาจไม่ติด สีร่อน ส่วนการเขียนสีบนเคลือบก็พบปัญหาได้เช่นกัน อย่างเรื่องการควบคุมอุณหภูมิ ถ้ามากเกินไป ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้สีไม่สวย สีหาย เป็นต้น  

การตกแต่งในงานเครื่องปั้นดินเผาทำได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการขีด ขูด สะบัดสี เช่นเดียวกับการเขียนสีใต้เคลือบเป็นอีกวิธีที่น่าศึกษา สวยงาม …

สร้างเอกลักษณ์ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับงานเครื่องปั้นดินเผา.

พงษ์พรรณ  บุญเลิศ