ผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้ว…กับการถ่ายทอดมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ “ฟุตบอลโลก 2022” เพื่อเติมเต็มความสุข ความสำราญใจให้กับบรรดา “คอบอลชาวไทย” ท่ามกลางสารพัดสารพันปัญหา

ตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์ ที่มีปัญหามาจาก 2 กฎเจ้าปัญหา Must Have และ Must Carry ทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ล่าช้า เพราะเอกชนขาดแรงจูงใจจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ซ้ำยังทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพง การหาเอกชนมาช่วยจ่ายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จากกฎ และอื่น ๆ อีกมากมาย

จนล่าสุด มาถึงปัญหา “จอดำ” ที่โยนกันไปมา ด้วยเพราะ “ฟีฟ่า” ต้องการล้อมคอกการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงต้องกำหนดการเข้ารหัสขั้นสูง แต่ปราฏว่าจานซี-แบนด์ แบบรุ่นเก่าทำไม่ได้

สุดท้าย!! ก็ต้องปล่อยให้ “จอดำ” เพราะทางฟีฟ่าเค้าเอาจริง หากยังปล่อยให้ดำเนินการต่อไป คนไทยทั้งประเทศอาจเดือดร้อน เพราะฟีฟ่าอาจ “ยกเลิก” สัญญาการถ่ายทอดก็เป็นไปได้ เพราะถูกแจ้งเตือนมาแล้ว

เอาเป็นว่า…งานนี้ กสทช.ยืนยันหนักแน่น หากเอกชนรายใดแก้ไขปัญหาไม่ได้ปล่อยให้มีสัญญาณหลุดไป ก็ไม่ควรได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสุดยอดมหกรรมกีฬาในครั้งนี้

แถมยังเป็นการแสดงตัวว่าไม่ได้เลือกที่จะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใด หากเทคโนโลยีป้องกันได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นของเก่า เทคโนโลยีเก่าก็ต้องยอม!!

กรณีนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่การส่งสัญญาณ แต่เป็นปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของอุปกรณ์รับสัญญาณ จานซี-แบนด์ รุ่นเก่า ไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่ เหมือนที่ใช้มือถือ รองรับแค่ 2 จี หากอยากจะใช้ 5 จี ก็ต้องซื้อเครื่องใหม่

ณ เวลานี้ ลงทุนซื้อเสาสัญญาณหนวดกุ้งราคาหลักร้อย มาใช้ก่อนน่าจะคุ้มค่ากว่า ที่ลงทุนไปซื้อกล่องสัญญาณใหม่ในราคาหลักพันบาทมาเสพความสำราญ

ยัง!! ยังไม่พอ!! ปัญหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ยังไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ ยังมีปัญหาเรื่องของ “ภาษีสรรพากร” อีก กว่า 200 ล้านบาท สำหรับค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท.ต้องนำส่งให้กับกรมสรรพากร

ก่อนหน้านี้…กกท.มีความพยายามที่จะขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีดังกล่าวให้กับฟีฟ่า โดยมีกระแสข่าวว่า กกท.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเรื่องนี้ให้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

แม้ กกท.ได้ปรึกษาหารือกับกรมสรรพากรอย่างใกล้ชิดแล้วก็ตาม แต่ตามกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากรแล้ว ไม่สามารถทำได้แน่ ๆ เพราะตามหลักกฎหมายประมวลรัษฎากร ไม่สามารถที่จะขอยกเว้นภาษีให้กับใคร ให้กับองค์กรใดได้เป็นการเฉพาะ

การชำระภาษีดังกล่าว จะมีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ในอัตรา 7% ของวงเงินค่าลิขสิทธิ์และภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 15% ของวงเงินค่าลิขสิทธิ์ โดยผู้มีเงินได้ในที่นี้ คือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า ที่ต้องเป็นผู้ชำระตามประมวลรัษฎากร

แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่ว่า “ฟีฟ่า” ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น…กกท.ในฐานะผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ต้องเป็นผู้หักเงินนำส่งให้กรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด

โดย ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ต้องนำส่งภายใน15วัน ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องนำส่งภายใน7 วัน หลังจากจ่ายค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เอาล่ะสิ!! ปัญหาบังเกิดอีกแล้ว ในเมื่อสรรพากรยกเว้นให้ไม่ได้ และเชื่อได้ว่า ครม.ไม่ยอมเสี่ยงผิดกฎหมาย โดยสั่งให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีให้แน่นอน

แล้วจะทำอย่างไร? ทางเลือก…คงหนีไม่พ้นที่รัฐบาลต้องจัดสรร “งบประมาณ” มารับภาระส่วนนี้ให้ไปก่อน เพราะอย่าลืมว่า…ลำพังเพียงแค่การขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนก็เลือดตาแทบกระเด็นอยู่แล้ว

นอกเหนือไปจากการใช้เงินของกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท

สุดท้าย…ก็ต้อองจับตาดูกันต่อไปว่า…รัฐบาลต้องควักเงินภาษีของคนไทยทั้งชาติมาเติมเต็มความสุขครั้งนี้อีกหรือไม่!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”