วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อจับสัญญาณการเมืองไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร

โดย “ดร.สติธร” เปิดประเด็นว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ ความสัมพันธ์ของ “2 ป.” เข้ามาสู่จุดที่เขาเริ่มจะตกลงอะไรกันได้แล้ว ก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการตกลงว่าจะแยกกัน น่าจะค่อนข้างแน่นอนว่าไปคนละพรรค แต่ยังร่วมอุดมการณ์เป้าหมายเดียวกันอยู่ โดยแยกกันเดินเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ไม่ได้แตกแยกแตกคอหรือมีความขัดแย้งอะไร ซึ่งวันนี้เริ่มเห็นภาพความลงตัว สีหน้าท่าทางของทั้ง 2 คน ค่อนข้างจะเคลียร์กันได้แล้ว วันนี้เริ่มเห็นเส้นทางค่อนข้างชัดแล้วว่าไปได้ทั้งคู่

ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจากความชัดเจนของการแยกกันนี้ จะมีทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 คนที่ยังอยู่กับ “2 ป.” ก็คงโล่งอกไป เพราะเริ่มมีความชัดเจน คนที่จะอยู่กับ “2 ป.” ก็เริ่มรู้แล้วว่าจะเลือกอยู่กับ ป.ไหน ซึ่งวันนี้คนที่ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็เหมือนอยู่กับ พล.อ.ประวิตร ส่วนคนที่จะตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไป ก็มีความชัดเจนว่าจะไปอย่างไร ดังนั้นก็ชัดว่าใครจะไปก็ไปใครจะอยู่ก็อยู่ ซึ่งก็ทำให้คนกลุ่มนี้เริ่มเห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองแล้ว 2.คนที่เป็นคู่แข่ง ก็เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า “2 ป.” มาแผนนี้ ก็จะได้มีการวางแผนรับมืออะไรกันให้ชัดเจน

@ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการแยกกันของ “2 ป.” อาจจะเป็นการแยกกันเดินแล้วตีกันเอง

เชื่อว่าไม่ตีกันเองแน่ เพราะลักษณะของคนที่จะแยกกันแล้วสุดท้ายกลายเป็นคู่อริ ถึงขั้นต้องตีกันเองนั้น จะแยกทางกันแบบไม่ต้องมีลีลาเยอะ แต่ลักษณะการแยกทางของ “2 ป.” มันผ่านกระบวนการพูดคุย ไตร่ตรอง ปรึกษาหารือ เอาทางเลือกมากางว่าอะไรเป็นไปได้อะไรดีที่สุด ซึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว แปลว่า เป็นการแยกในเชิงยุทธศาสตร์ แยกกันเดินแล้วรวมกันตี

“เหมือนการแยกกันเดินแล้วนัดเจอกันที่ทำเนียบฯ โดยไปคนละทาง แล้วหากเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินไปแล้วไม่ถึงทำเนียบฯ อีกฝ่ายอาจจะสามารถไปถึงทำเนียบฯได้ หมายความว่าหากสุดท้ายไม่ได้รวมกันตี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไปไม่ถึง แต่พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร ก็ยังสามารถเข้าทำเนียบฯได้ โดยไปร่วมกับคนอื่น”

 @ สำหรับข้อดีข้อเสียของยุทธศาสตร์แยกกันเดินในครั้งนี้เป็นอย่างไร

ข้อดีในมุมของการสู้ศึกเลือกตั้ง คือ การแยกกันครั้งนี้ ทำให้รักษาแนวร่วมเดิมไว้ได้ค่อนข้างครบ หมายความว่า คนที่ไม่สบายใจกับการอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถูกใจที่จะอยู่กับ พล.อ.ประวิตร เขาก็จะอยู่ในขบวนการต่อไปได้โดยเลือกเส้นทางเดินร่วมกับ พล.อ.ประวิตร โดยไม่ต้องจำใจแบก พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย ซึ่งก็ทำให้คนกลุ่มนี้อยู่กับ พล.อ.ประวิตร ต่อ ส่วนคนที่อยากไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปต่อได้ ซึ่งก็ทำให้แนวร่วมเดิมเกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ยังไงก็อยู่แน่

นอกจากนั้นยังทำให้มีโอกาสได้แนวร่วมเพิ่มมากขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่าย พล.อ.ประวิตร เมื่อไม่ต้องแบก พล.อ.ประยุทธ์ไปด้วย ก็เริ่มมีความยืดหยุ่น จะมีสถานะเหมือนพรรคภูมิใจไทยในวันนี้ ที่จะไปร่วมกับใครก็ได้ สามารถร่วมได้ทั้งฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายพรรคเพื่อไทย ดังนั้นแรงดึงดูดที่ว่ารวมกับฝ่ายใดก็ได้หลังเลือกตั้งมีแนวโน้มได้เป็นรัฐบาลแน่ มันจะดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้น

ส่วนฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีโอกาสได้แนวร่วมเพิ่ม เพราะคนที่มีอุดมการณ์แข็งๆ จุดยืนมั่นๆ ไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แล้วเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ มีแนวโน้มจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเหล่านี้ได้ เขาก็อาจจะไม่เอาด้วย แล้วจะมายืนมั่นๆกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้มีแนวร่วมไหลเข้ามาเพิ่มได้อีก ดังนั้นการแยกกันเดินในครั้งนี้จึงเป็นการรักษาฐานเดิมเพิ่มขุมกำลังใหม่ ซึ่งก็ทำให้ภาพรวมแข็งแกร่งขึ้น

“แต่แนวทางนี้ก็มีข้อเสีย คือทำให้ทั้ง 2 พรรค ไม่ได้เป็นพรรคขนาดใหญ่มาก ซึ่งก็จะมีผลต่อความชอบธรรมในการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในตอนสุดท้าย แม้วันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติจะพยายามชูเป้าให้เห็นว่า 25 ที่นั่ง เพื่อจะได้ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะใช่ แต่ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนของพรรค 25 เสียง แล้วไปแข่งกับคู่แข่งที่มี ส.ส. 200 เสียง จะเอาหน้าที่ไหนไปเสนอแข่งในสภา ซึ่งโดยศักดิ์ศรีความศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่ได้ ดังนั้นการแยกกันในครั้งนี้จะต้องวางพรรคใดพรรคหนึ่งให้เป็นพรรคขนาดไม่น้อยหน้าชาวบ้าน วางเป้า 25 เสียงไม่พอ”

@ความเป็นไปได้ที่ 2 ป. แยกกันเดินรวมกันตี แล้วสามารถกลับไปจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใต้ขั้วอำนาจเดิมมีมากน้อยแค่ไหน

เขาคงคิดคำนวณบนฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่งว่า ถ้าแยกกันแบบนี้น่าจะเป็นทางที่ดีสุด และมีโอกาสได้แนวร่วมเพิ่ม โดยเป้าหมายของเขาไม่ต้องการอะไรมาก คือ 2 พรรครวมกันได้ 125 เสียงไว้ก่อน แล้วไปบวกกับ ส.ว.250 เสียง เพื่อให้ได้เสียง 375 จาก 750 เสียงของรัฐสภา จากนั้นก็เอาตัวเลขนี้ไปเชิญชวนพรรคอื่นให้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะคล้ายกับการเลือกตั้งปี 2562 ดังนั้นหากตั้งเป้า 125 เสียง ผมมองว่า 2 พรรครวมกันก็เป็นไปได้ ในสภาพการแข่งขันทางการเมืองอย่างทุกวันนี้ ที่เงื่อนไขการแข่งขันเข้าทางเขาอยู่ และพรรคเพื่อไทยเองมีคู่แข่งสำคัญคือ พรรคก้าวไกล ที่แบ่งคะแนนกันรายเขต ดังนั้น หากวางกลยุทธ์ดีๆ ในการส่งคนลงแต่ละเขตเลือกตั้ง ก็จะช่วยทำให้ถึงเป้าหมาย 125 ได้

 @ หากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ไปไม่ถึงทำเนียบฯ พรรคพลังประชารัฐจะไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

มีโอกาสเดียว โดยต้องเกิดกรณีเป้าหมาย 125 เสียง ของ 2 พรรคไม่สำเร็จแบบห่างไกลเป้า ซึ่งในมุมกลับ คือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ทำแลนด์สไลด์ได้จริง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย แล้วรวมเสียงกันได้เกิน 280 เสียงขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดเงื่อนไขว่า พรรคพลังประชารัฐจะต้องไปรวมกับพรรคขั้วตรงข้ามรัฐบาล ทั้งนี้ แม้จะมองว่าหากพรรคขั้วตรงข้ามรัฐบาลรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงแล้ว แต่การเป็นรัฐบาล ก็ยังมีโจทย์การได้นายกฯ จากการโหวตของรัฐสภา ดังนั้น จึงต้องรวมเสียงให้ได้เกิน 375 เสียง และอาจจะมีเสียง ส.ว.ตามมาด้วย และทำให้เป้าหมาย 375 เสียงในการโหวตแคนดิเดตนายกฯ เกิดขึ้นจริง และอาจจะเกิดเงื่อนไขอย่างพรรคก้าวไกลไม่ยอมร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะเกิดสูตรจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐก็เป็นได้.