ทั้งนี้ ตัวเลขเสียชีวิตที่มีการเผยเป็นทางการ แค่ช่วงเดือน ต.ค. ถึงเดือน พ.ย. 2565 ก่อนจะสิ้นเดือน ก็ทะลุเกิน 350 ราย!! แต่ก่อนหน้านี้ กระแสตายเพราะโควิดก็ไม่ได้อื้ออึงอะไรนัก จนมามีกรณี “เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล” เกิดขึ้นอีก และก็เริ่มมีถี่ ๆ อีกแล้วด้วย โดยมีทั้งผู้สูงอายุ เสียชีวิตในบ้าน มีผู้ไม่สูงอายุ เสียชีวิตโดดเดี่ยวในคอนโดฯ ผ่านไป 2-3 วันแล้วถึงจะมีคนรู้ และ เสียชีวิตในป้อม รปภ. ก็มี …ซึ่งเหล่านี้จุดกระแส “ตื่นภัยโควิด” อีกครั้ง!!

ท่ามกลาง “ความสับสน” ที่ “เกิดขึ้นอีก”

หลายคนมองว่า “เฟคนิวส์โควิดรีเทิร์น”

ขณะที่ “ความจริงทางเลือก” ก็ “น่าคิด”

ทั้งนี้ ตีคู่มากับ “โควิดสมอลเวฟ” การที่มี “คนไทยเริ่มกลับมาป่วยโควิด-19 กันมาก” ก็มีกระแสในโลกออนไลน์-ทางโซเชียลมีเดีย ประมาณว่า… รัฐจะประกาศงดจัดงานปีใหม่ 2566 จากการเกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายรุนแรง?? ซึ่งก็ร้อนถึง กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องออกมาชี้แจง-แก้ข่าว ว่า… “อย่าเชื่อ!!-ไม่เป็นความจริง!!” โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวที่มีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์นี้เป็น “ข่าวปลอม” หรือเป็น “เฟคนิวส์” …ซึ่งนี่ก็ทำให้กรณี “เฟคนิวส์โควิด”  ถูกจับตาอีก

วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดูเกี่ยวกับ “เฟคนิวส์โควิด” ซึ่งที่ผ่านมาหลัก ๆ ก็ไม่พ้นเรื่อง “อันตรายจากเชื้อ??” และพ่วงด้วย “อันตรายจากวัคซีน??” โดยถึงขั้นที่ องค์การสหประชาชาติ ต้องออกมาเตือนให้ระวังอย่าหลงเชื่อ “ข่าวปลอมโควิด” เพราะจะ “ส่งผลเสียมากกับการสู้โควิด” และทางองค์การสหประชาชาติก็ได้มีการเผยแพร่เรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย เอาไว้ด้วย สรุปได้ว่า… ตลอดเวลาที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดนั้น นอกจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่รวมถึงประเทศไทย จะต้องต่อสู้กับ “โรคระบาดโควิด-19” แล้ว…ก็ยังต้องเผชิญ “ข้อมูลไม่จริง-ข่าวลือ-ข่าวปลอม” ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างมากในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด

เพราะ…“ทำให้สังคมเกิดความสับสน!!”

นอกจากนี้ก็ยังได้ฉายภาพปัญหา “เฟคนิวส์โควิด-19” ที่เกิดขึ้นไว้อีกว่า… เป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย ยิ่งเอื้อให้ข้อมูลบิดเบือนแพร่กระจายมากขึ้น และ “สิ่งที่น่าเป็นห่วง!!” จากปัญหาเฟคนิวส์ก็คือ… “อันตรายจากการสรุปเอาเองที่เกิดขึ้นกับประชาชน!!” ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย…ที่ก็มีปัญหานี้

พลิกแฟ้มย้อนดู “คำแนะนำการแก้ไข-ป้องกันปัญหา” การแพร่ระบาดของ “เฟคนิวส์โควิด” ที่ในที่นี้หมายถึงการแก้ไข-ป้องกันโดยรัฐ โดยผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำแนะนำโดยสังเขปก็คือ… “ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล-ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายแก่ประชาชน” เพื่อจะ ทำให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างไม่ยาก จนข้อมูลที่บิดเบือนถูกขจัดไป

“ส่งเสริมแหล่งข่าว-การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง” ผ่านช่องทางสื่อสารที่ทุกคนสามารถจะเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ทั่วถึง ก็ควรพัฒนาให้มีความหลากหลายทางการใช้ภาษา โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่ผู้คนมีความแตกต่าง …นี่ก็เป็นคำแนะนำโดยองค์การสหประชาชาติ ที่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเน้นเรื่องการ “สื่อสารชัดเจน-สื่อสารเข้าใจง่าย-สื่อสารทั่วถึง” โดยมุ่งทำให้ไม่เกิดความเข้าใจผิด ข้อมูลไม่คลาดเคลื่อน…ซึ่งกับประเทศไทยตอนนี้จริง ๆ ก็ถือว่าทำได้ดีไม่น้อย…

อย่างไรก็ตาม… ก็ใช่ว่า “สับสนภัยโควิด-แตกตื่นภัยโควิด” ไม่มีเกิดขึ้นในคนไทยแล้ว?? ก็ยังมี…และก็ชวนให้ย้อนดู “คำศัพท์น่าสนใจ” ที่ก็ยึดโยงข่าวโควิด ซึ่งคำศัพท์ที่ว่านี้เป็นการรวบรวมไว้โดย โครงการโคแฟค ประเทศไทย โดยศัพท์เด่น ๆ กรณีนี้ก็อย่างเช่นคำว่า… “Disinformation” ที่หมายถึง… การสร้างข้อมูลเท็จเผยแพร่ ที่มีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นหลงเชื่อในความไม่จริง หรือมีเป้าหมายเพื่อจะหลอกลวง …ซึ่งแบบนี้ก็แน่นอนว่า “เฟคนิวส์เต็มขั้น”

แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีคำว่า… “Information overload” หรือ “ภาวะข้อมูลท่วมท้น” ที่หมายถึง… การได้รับข้อมูลจำนวนมากเกินไปในคราวเดียวกันจนไม่สามารถคิดได้ถี่ถ้วน ซึ่งแบบนี้ก็ต้องระวัง กับกรณี “โควิด-19” นั้นก็ อาจนำสู่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ จากการที่คิดไม่ถี่ถ้วนแล้วก็มีการส่งต่อสิ่งที่คิด ตามที่มีศัพท์คำว่า… “Circular reporting” ที่หมายถึง… การนำเสนอ รายงาน ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือผิด ส่งต่อ ๆ กันไป จนทำให้ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนหรือข้อมูลที่ผิดนั้น เกิดการแพร่กระจายขยายสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว และจะ “ยิ่งไปกันใหญ่” กับศัพท์คำว่า… “Misinformation” ที่ในที่นี้หมายถึง… ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลเท็จ ที่ถูกเผยแพร่จากคนที่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นความจริง!!

ทั้งนี้ยังมีศัพท์อีกคำที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มมาสะท้อนย้ำ นั่นคือคำว่า… “Alternative fact” หรือ “ความจริงทางเลือก” ที่หมายถึง… การเลือกเสนอความจริงแค่เพียงบางส่วน หรือการเลือกเสนอความจริงแค่เฉพาะในมุมของตน ที่อาจจะไม่ตรงทั้งหมดกับความจริงที่ปรากฏขึ้น …ซึ่งกับกรณี “จริงบางมุม” นี้ กรณีที่ก็ “พอจะมีมูล” มิใช่เลื่อนลอยเสียทีเดียวนี้ เผลอ ๆ ก็ อาจสร้างความสับสน อาจสร้างความแตกตื่น ได้ยิ่งกว่าเฟคนิวส์?? ก็อาจเป็นไปได้??

“ความจริงที่ไม่ใช่ทั้งหมด”…นี่ “ก็น่าคิด”

“กับกรณีโควิด”…ก็ “อาจก่อโกลาหลได้”

“แวดวงการเมืองก็มีตัวอย่างอื้อ?!?!?”.