เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และขอให้ชะลอฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหลายแห่ง นั้นว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ที่ขอให้ทบทวนนั้น เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ริมชายฝั่ง โดยเทศบาลตำบลแกลงกะเฉด ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 26 ต.ค. 2552 ถึงโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณนี้ และได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 9 ต.ค. 2562 ถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากถนนที่อยู่บริเวณด้านหลังพื้นที่กัดเซาะเป็นถนนเพียงเส้นทางเดียวที่จะเข้าสู่พื้นที่ได้ เมื่อคลื่นลมมรสุมพัดเข้าสู่ชายฝั่งอย่างรุนแรงจนถนนเสียหาย แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะซ่อมแซมได้ในทุกฤดูมรสุม จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ถนนเสียหายจนเกือบใช้งานไม่ได้ ทำให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไป จ.ระยอง ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกต่อไป ส่งผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ดังจะเห็นได้จากโรงแรมที่ปิดตัวลงไปเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ดังนั้นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ในพื้นที่ดังกล่าวของกรมโยธาธิการและผังเมือง มิได้เป็นเพียงการป้องกันถนนที่เสียหาย แต่เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของ จ.ระยอง
ส่วนกรณีที่ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ชะลอฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล หลายแห่งออกไปก่อน เนื่องจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายหลังการตั้งงบประมาณปี 2565 นั้น นายพรพจน์ ชี้แจงว่า โครงการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทุกโครงการ ที่ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 ของกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งหมด เป็นโครงการที่ได้เสนอต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ม.ค. 2564
โดยแต่ละโครงการมีรายละเอียดดังนี้ 1.โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร เป็นโครงการซ่อมแซมเขื่อนฯ เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยได้รับการร้องเรียนจาก อ.เมืองชุมพร จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อซ่อมแซมเขื่อนที่บริเวณนั้นเท่านั้น มิได้ก่อสร้างในพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด 2.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเล ชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี สภาพพื้นที่ปัจจุบันพบการกัดเซาะตลอดแนวเป็นช่วง ๆ ประกอบกับโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะริมชายฝั่งทะเลที่ประชาชนก่อสร้างเองมีสภาพชำรุดเสียหาย จึงได้มีการประชุมเพื่อร้องของบสนับสนุนมายังกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะไชย มีหนังสือถึงโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรี ขอให้ออกแบบและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณดังกล่าว 3.โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล หาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี บริเวณอ่าวดงตาลอยู่ในพื้นที่ควบคุมดูแลของกองทัพเรือ เทศบาลเมืองสัตหีบ และเทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ ปัจจุบันมีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งครอบคลุมทั้งอ่าว โดยมีหนังสือร้องขอสนับสนุนงบประมาณจากกองเรือยุทธการ และได้ตั้งงบก่อสร้างปีงบประมาณ 2561, 2563, 2564 ดังนั้นพื้นที่ดำเนินการงบประมาณปี 2565 ดำเนินการในพื้นที่เขื่อนเดิมที่มีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
ส่วนกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช, ต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา, หาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ ต.บางกะไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างแข็งในการป้องกันคลื่น แต่สามารถใช้โครงสร้างอื่นๆ ที่สามารถรื้อถอนได้ในอนาคต นั้น นายพรพจน์ ชี้แจงว่า ข้อมูลการกัดเซาะ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2560 สภาพกัดเซาะ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา เป็นพื้นที่กัดเซาะระดับวิกฤติ (มากกว่า 5 เมตร/ปี) ส่วนชายฝั่งทะเล ต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของประชาชนริมชายฝั่ง โดยจากการวิเคราะห์เส้นชายฝั่งเปรียบเทียบปี พ.ศ. 2558 และปี 2563 พบว่า กัดเซาะลึกเข้าไปในแผ่นดินสูงสุดถึง 9.13 เมตร, อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งพื้นที่ดำเนินการอยู่ในแนวทางการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (พื้นที่สีส้ม) ที่ให้ดำเนินการประเภทโครงสร้างแข็ง ส่วนบริเวณ ต.บางกะไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วิเคราะห์อัตรากัดเซาะชายฝั่งปี 2558-2563 พบอัตรากัดเซาะ 1.16 เมตรต่อปี มีระยะกัดเซาะลึก 5.62 เมตร พื้นที่ดำเนินการอยู่ในแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตามแนวทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างแข็งได้
ส่วนประเด็นเรื่องความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยนั้น นายพรพจน์ ชี้แจงว่า การดำเนินงานโครงการเขื่อนฯ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง มีการบูรณาการการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเป็นคณะกรรมการ โดยการดำเนินการมิได้มีความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีภารกิจที่แตกต่างกันไป.