ยารับประทานที่อาจทำให้เกิดภาวะองคชาตแข็งค้าง ภาวะองคชาตแข็งค้าง มักเป็นชนิดขาดเลือด เป็นผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ของยาหลายชนิด ได้แก่ ยาที่ฉีดเข้าไปในองคชาตโดยตรงเพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยาอัลพรอสตาดิล (Alprostadil) เป็นยาที่มีคุณสมบัติทำให้กล้ามเนื้อบริเวณองคชาตคลายตัว และช่วยขยายหลอดเลือดทำให้การไหลเวียนของเลือดในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทางคลินิกจึงใช้ยาอัลพรอสตาดิลเป็นยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ยากล่อมประสาท เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เป็นยาต้านซึมเศร้าในกลุ่มออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณของสารเซโรโทนินในสมอง จึงช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและรักษาอาการที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก (Panick Attacks) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวอ้วนบูลิเมีย และกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน กลุ่มยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาอาการโรคความดันโลหิตสูงหรือภาวะต่อมลูกหมากโต, ยาที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวลหรือโรคจิต, ฮอร์โมน เช่น ยาเทสโทสเตอโรน และยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD)

การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด แอลกอฮอล์ กัญชา โคเคน และยาอื่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะองคชาตแข็งค้างได้ โดยเฉพาะภาวะองคชาตแข็งค้างจากขาดเลือด

บาดเจ็บ สาเหตุทั่วไปของภาวะองคชาตแข็งค้างชนิดไม่ขาดเลือด คือ การบาดเจ็บที่องคชาต เชิงกราน หรือบริเวณระหว่างฐานขององคชาตและทวารหนัก (perineum)

ปัจจัยอื่น ๆ สาเหตุอื่น ๆ ของภาวะองคชาตแข็งค้าง ได้แก่ แมงมุมกัด แมงป่องต่อย หรือการติดเชื้อที่เป็นพิษอื่น ๆ, ความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคเกาต์หรือโรคแอมีลอยด์ (Amyloidosis), โรคแอมีลอยด์ เป็นโรคหายาก เกิดจากการที่ร่างกายสร้างโปรตีนแอมีลอยด์มากเกินไปจนเข้าไปสะสมตามเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต หัวใจ ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท จนทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ, ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังหรือซิฟิลิส และมะเร็งที่เกี่ยวกับองคชาต

ภาวะแทรกซ้อน ภาวะองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เลือดที่ติดอยู่ในองคชาตทำให้องคชาตขาดออกซิเจน เมื่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศเกิดขึ้นนานเกินไป โดยปกติแล้วถ้าเกินสี่ชั่วโมง การขาดออกซิเจนจะเริ่มสร้างความเสียหายหรือทำลายเนื้อเยื่อในองคชาต ภาวะองคชาตแข็งค้างที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้.