อย่างไรก็ตาม กับกรณี-กับเรื่องที่เกี่ยวกับการออกมาลืมตาดูโลกของคนไทยรุ่นใหม่ด้วยวิธี “ผ่าคลอด” นี้…เรื่องนี้วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลแง่มุมมาสะท้อนต่อให้ลองพินิจพิจารณากัน ซึ่งเป็นข้อมูลโดย คณะวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยการสนับสนุนของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ หลังพบว่า…

หลัง ๆ มานี้ “อัตราผ่าคลอดมีมากขึ้น”

คนไทย “มีแนวโน้มจะผ่าคลอดเพิ่มขึ้น”

และนำสู่ “ปุจฉา” กรณี “ความจำเป็น?”

ผลการศึกษาเรื่องนี้มีเผยแพร่อยู่ในวารสาร Policy Brief ฉบับที่ 10 ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 และในเว็บไซต์ของ HITAP โดยทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ตั้งคำถามถึง “แนวโน้มการผ่าคลอดในไทย” ที่“เพิ่มสูงขึ้น” ไว้ว่า…“ถึงเวลาจะต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังแล้วหรือไม่??” หลังพบว่า…ประเทศไทยมีอัตราการผ่าคลอดในช่วงปี 2559 ถึงปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 35% ของจำนวนแม่ที่คลอดลูก ซึ่งสูงกว่าอัตราผ่าคลอดที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ คือที่ 10-15% ของจำนวนแม่ที่คลอด โดย “อัตราผ่าคลอด” ของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่า…

ไทยมีอัตราใกล้เคียงประเทศรายได้สูง

อัตราสูงมากกว่ากลุ่มประเทศอาเซียน!!

จากการศึกษาวิจัยพบว่า… แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีรายได้ระดับเดียวกับประเทศรายได้สูง อย่างสหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย แต่อัตรา“ผ่าคลอด” ของไทยกลับอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศรายได้สูง และบางขณะก็อยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านไทย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา รวมถึงฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งกรณี ตัวเลขผ่าคลอดเพิ่มสูงขึ้น ในไทยนี้ คณะผู้วิจัยก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… ก็อาจมีปัจจัยจากช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก…ที่ทำให้ตัวเลขผ่าคลอดเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ต้องคลอดด้วยวิธีการผ่าคลอด อยู่ที่ 51%

นี่อาจเป็นอีกปัจจัยทำให้ “อัตราผ่าพุ่ง”

อย่างไรก็ตาม ในบทความผลการศึกษาวิจัยได้อธิบาย “เป้าหมาย” ของการ “ผ่าคลอด (Caesarean Section)” ไว้ว่า… จุดประสงค์การผ่าคลอดคือ เพื่อช่วยชีวิตแม่และทารก…ในกรณีที่ไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ โดยที่… การผ่าคลอดก็ถือเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยง!! อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารกได้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การติดเชื้อ สูญเสียเลือด ภาวะรกฝังลึกในการตั้งครรภ์ภายหลัง ลดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของทารกบางส่วนอ่อนแอลง …เป็นการระบุถึง “จุดเริ่มต้น” เป็นการฉายภาพ “ความเสี่ยง” ของการ “ผ่าคลอด”

ที่ “ในไทย” นับวันจะ “เป็นเทรนด์??”

และเกี่ยวกับแนวโน้ม “การผ่าคลอดในไทย” นั้น ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังมีส่วนที่ระบุไว้อีกว่า…ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงปี 2559-2564 พบว่า…โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์มีอัตราการผ่าคลอดสูงสุดอยู่ที่ 45-50% ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มีอัตราการผ่าคลอดอยู่ที่ 50% อัตราที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 โดยที่ข้อมูลในส่วนนี้เป็นข้อมูล-เป็นการวิเคราะห์เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น และคณะวิจัยก็มี “ข้อสังเกต” จากข้อมูลที่พบ นั่นคือ โรงพยาบาลชุมชนก็แนวโน้มการผ่าคลอดเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 10%

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการผ่าคลอดในไทยที่เพิ่มขึ้นจนเกินอัตราไปมากจากที่องค์การอนามัยได้แนะนำไว้ กรณีนี้จึงทำให้ทางผู้ทำวิจัยเกิด “ข้อสงสัย??” จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า… ปริมาณการผ่าคลอดที่สูงอย่างชัดเจนในช่วงวันทำการนั้นชวนให้เกิดข้อสงสัยว่า…ไทยมีการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นหรือไม่?? เช่น จากความเชื่อในการเลือกวันคลอดให้ตรงฤกษ์มงคล?? และตามความพร้อมของทั้งหญิงตั้งครรภ์และแพทย์ที่ทำคลอด?? …เป็น “ปุจฉาน่าคิด” กรณีนี้

ที่มีเรื่อง “ฤกษ์ยาม” เข้ามาเกี่ยวข้อง??

รวมถึงกับเรื่อง “ความสะดวก” ด้วย??

ทางคณะวิจัย HITAP โดยการสนับสนุนของ สวรส. ได้ย้ำถึงเป้าหมายในการให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… การ “ผ่าคลอด” ที่ “มีอัตราสูง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการสาธารณสุข ซึ่งการนำเสนอ-สะท้อนให้เห็นถึงกรณีนี้ มุ่งหวังให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาการผ่าคลอด “มากเกินความจำเป็น” ของประเทศไทย โดยการผ่าคลอดในแม่ที่ไม่มีข้อบ่งชี้นั้นอาจส่งผลกระทบในหลาย ๆ มิติ นั่นคือ สุขภาพของแม่และทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึง ผลกระทบต่อภาระงบประมาณ ที่น่าจะนำไปจัดสรรเพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขในส่วนอื่นได้ …นี่เป็นวัตถุประสงค์การศึกษากรณีนี้

กรณี “ผ่าคลอด” นั้น “จุดเริ่มคือจำเป็น”

มาวันนี้มี “ปุจฉา…กลายเป็นเทรนด์??”

ที่มีการหา “วิสัชนา…เกินจำเป็นมั้ย??”.