หากจะพูดถึงอัญมณีที่กำลังมาแรงในปี 2021 นี้ คงหนีไม่พ้น หยก อย่างแน่นอนเพราะนอกจากความสวยงามที่ไม่มีใครเหมือนแล้ว หยกยังถือเป็น อัญมณีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่หลายคนต่างเชื่อว่าจะทำให้ผู้ครอบครองพบกับความสำเร็จ ความโชคดี และความมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างน่าอัศจรรย์

แน่นอนว่าในปัจจุบัน เราสามารถหาซื้อหยกได้ง่าย ๆ แม้แต่ในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ  แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหยกที่เราสนใจจะซื้อนั้น เป็นหยกที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ วันนี้ทาง สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จะมาแนะนำเคล็ด (ไม่) ลับในการเลือกซื้อหยกว่าก่อนที่เราจะซื้อหยกสักชิ้นนั้น เราควรต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

เช็ก ‘ความสะอาด’ ให้ดี เลือก ‘เฉดสี’ ที่ใช่ 

จริง ๆ แล้ว เราสามารถแบ่งหยกสีเขียวในตลาดออกได้เป็นหลายเฉดสี ไม่ว่าจะเป็น สีเขียวมรกต เขียวแอปเปิล เขียวแกมเหลือง เขียวแกมเทา ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถพบหยกสีอื่นๆ ได้เช่นกัน อาทิ ขาว เหลือง ชมพู ม่วง และ ดำ แต่ไม่ว่าจะเป็นเฉดสีใดก็ตาม หยกคุณภาพดีและมีมูลค่าสูงนั้นมักมีสีที่สด และมี ความเข้มของสีปานกลางหรือกึ่งเข้ม สีสม่ำเสมอกันทั่วทั้งเม็ด นอกจากนั้น เรายังควรเช็กความสะอาดของหยก ไม่มีรอยแตกร้าว รอยปะ รอยขีดข่วน จุดแต้ม หรือรอยด่างสีเข้มดำ โดยบริเวณที่มีตำหนิเหล่านี้มักจะถูกแกะสลักหรือเจียระไนออกให้บางที่สุด เพื่อช่วยให้หยกมีความโปร่งใสและความสวยงามมากขึ้นก่อนนำมาจำหน่ายนั่นเอง

หากต้องเลือกระหว่าง ‘ความสด’ กับ ‘ความโปร่งแสง

นอกจากความสดของสีแล้ว เนื้อหยกที่ดีนั้นยังควรมีลักษณะ โปร่งแสง โปร่งใส หรือ กึ่งโปร่งใส นั่นหมายความว่า เราสามารถเช็กคุณภาพของหยกเบื้องต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการดูว่าปริมาณของแสงสามารถทะลุผ่านหยกได้มากน้อยเพียงใด โดยหยกที่มีความโปร่งใส และแสงทะลุผ่านได้มากกว่านั้น นับเป็นหยกคุณภาพสูง ส่วนมากจะเป็นหยกที่มีเนื้อเป็นผลึกแร่ขนาดเล็กละเอียดประสานกันแน่นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หยกที่แสงทะลุผ่านได้น้อยกว่า ก็ไม่นับเป็นหยกที่ไร้คุณภาพเสียทีเดียว ส่วนหนึ่งเกิดจากเนื้อหยกที่เป็นผลึกค่อนข้างใหญ่  คำถามคือหากจำเป็นต้องเลือกระหว่าง ‘หยกสีสดที่มีความโปร่งใสน้อย’ กับ ‘หยกสีอ่อนที่มีความโปร่งใสมาก’ เราควรจะเลือกหยกชิ้นไหน คำตอบก็คือเราควรให้ความสำคัญกับ ความสดของสี มาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

‘หยกปรับปรุงคุณภาพ’

หยกสวย ๆ ที่เราเห็นในตลาดนั้นอาจไม่ใช่หยกที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ 100% แต่อาจเป็น ‘หยกปรับปรุงคุณภาพ’ ที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสวยงามและน่าดึงดูดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การย้อมสี เพื่อทำให้หยกสีอ่อนมีสีที่เข้มขึ้น เรียกว่าหยก Type C หรือ C Jade ส่วนการ อัดเคลือบสารโพลีเมอร์ เพื่อทำให้หยกมีความมันวาวและมีความโปร่งใสมากขึ้น เรียกว่าหยก Type B หรือ B Jade ในบางครั้งอาจเรียกว่า หยกอาบน้ำ โดยทั่วไปแล้วผู้ขายมักจะแยกประเภทหยกสำหรับผู้ซื้อไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เราต้องระวังอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่าหยกปรับปรุงคุณภาพนั้นจะ ไม่ใช่หยกเทียม แต่ก็มีมูลค่าที่ต่างจากหยก Type A หรือ A Jade ที่หายากและไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพใด ๆ อยู่มากกว่า 10–1,000 เท่า ที่มีคุณภาพของสีและความสะอาดเหมือนกัน

‘สุดยอดเคล็ดลับ’ การเลือกหยกคุณภาพ!

เมื่อทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคการเลือกซื้อหยกในเบื้องต้น และบางคุณสมบัติก็ไม่อาจดูด้วยตาเปล่า เราจึงต้องงัดสุดยอดเคล็ดลับง่าย ๆ ดังต่อไปนี้มาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือการเรียกหา ใบรับรองอัญมณี ของ GIT ที่จะช่วยการันตีได้ว่าสินค้าผ่านการตรวจสอบ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ภายในใบรับรองยังประกอบไปด้วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น ขนาด แหล่งที่มา รูปร่าง และการปรับปรุงคุณภาพ เป็นต้น

สำหรับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT นั้น เป็นสถาบันหลักของประเทศไทยด้านการตรวจสอบและออกใบรับรองอัญมณีและโลหะมีค่า ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:17025 และ ISO/IEC 27001 นอกจากนี้ ยังถูกแต่งตั้งจากองค์กรระดับโลกอย่าง The Responsible Jewellery Council (RJC) ให้เป็นตัวแทน และพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ร่วมกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา GIT ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานตรวจสอบหยกระดับสากล (Internationalisation of Fei Cui Standard) ร่วมกับ The Gemmological Association of Hong Kong ภายในงาน Hong Kong International Jeweller Show ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 0-2634-4999 ต่อ 406-413 และ www.git.or.th