ภายใต้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ในแนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างแก่ทุกโอกาส สร้างความเชื่อมโยงภูมิภาคในทุกมิติ และขับเคลื่อนเอเปคสู่การเติบโตหลังโควิด-19 อย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี)
แนวทางดังกล่าว ย่อมถูกจดจำในฐานะหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของเอเปค ในห้วงเวลาที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ กำลังเผชิญวิกฤติโลก นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้มีความริเริ่มครั้งประวัติศาสตร์ในการเชิญประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะแขกของประธาน เพื่อเดินทางมาหารือกับผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการก่อตั้งเอเปคเมื่อปี 2532 ที่ผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาลยุโรป ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
ความริเริ่มดังกล่าวอันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และสะท้อนวิสัยทัศน์ที่สอดรับกับอนาคตของภูมิภาคนี้ เกิดจากเหตุผล 5 ประการ คือ
1. ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเพียงชาติหนึ่งในยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศอย่างเต็มรูปแบบประเทศหนึ่งในอินโด-แปซิฟิก โดยพลเมืองฝรั่งเศสมากกว่า 1.6 ล้านคน อาศัยอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในแปซิฟิกใต้ นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 3 ใน 4 ของฝรั่งเศส ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ตั้งอยู่ในอินโด-แปซิฟิก เช่นเดียวกัน ฝรั่งเศสดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ของเอเปค โดยเฉพาะในด้านการลงทุน
ทั้งนี้ ในปี 2564 การลงทุนโดยตรงของฝรั่งเศสในต่างประเทศเกือบ 1 ใน 4 เป็นการลงทุนในหนึ่งเขตเศรษฐกิจเอเปค และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 1 ใน 4 ของฝรั่งเศส ก็มาจากภูมิภาคเอเปค
2. นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2561 ฝรั่งเศสได้ดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของตน ซึ่งทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญอันดับแรกทางการทูตของฝรั่งเศส โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งได้จัดทำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของตน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564
ฝรั่งเศสประสงค์ที่จะเสริมสร้างบทบาทของตนในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทุกฝ่าย เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานอย่างร่วมมือกันและครอบคลุมในภูมิภาค สนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎหมาย การแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยุติธรรม รวมถึงหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัว พร้อมกับรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหามลพิษ รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมต่อ
3. จุดเน้นของยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการกระจายความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน การเชื่อมต่อทางดิจิทัล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องอย่างโดดเด่นและชัดเจนกับประเด็นสำคัญของเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 ที่จะสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนทุกคนและคนรุ่นหลัง
4. ฝรั่งเศสและไทยมีภารกิจร่วมในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ตลอดจนมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
ฝรั่งเศสรู้สึกกังวลต่อพลวัตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในภูมิภาคเอเปค ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นต่อการค้าและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี แนวโน้มดังกล่าวนี้ กำลังเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้นในภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแนวทางการลดผลกระทบ และนี่คือสิ่งที่ฝรั่งเศสกำลังเสนอ
ดังที่ประธานาธิบดีเอมานูว์แอล มาครง กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาในการประชุม APEC CEO Summit ว่า ฝรั่งเศสประสงค์ที่จะมีส่วนช่วยให้เกิด “สมดุลของพลวัต” (dynamic balance) ในภูมิภาค เรามองตนเองในฐานะอำนาจที่สร้างสมดุล (balancing power) ซึ่งปฏิเสธแนวคิดขั้วอำนาจ (logic of blocs) และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนในเอเชีย ในโครงการที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกับอาเซียนซึ่งฝรั่งเศส ได้รับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเมื่อปี 2563
5. การเยือนไทยของมาครง ยังเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ ในห้วงเวลาที่ฝรั่งเศสและไทย กำลังดำเนินความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี การเยือนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะเดินหน้าความมุ่งมั่นเพื่อกระชับความร่วมมือทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามแผนการ (Roadmap) สำหรับความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย ค.ศ. 2022-2024 ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ณ กรุงปารีส เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567)
ถ้อยแถลงข่าวร่วมของการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นดังกล่าวทั้งในระดับทวิภาคีและในส่วนที่เกี่ยวกับความท้าทายระดับโลก อาทิ การส่งเสริมแนวคิดสุขภาพโลก (Global Health approach) และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นสองประเด็นที่ฝรั่งเศสและไทย ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้งภูมิภาค ความร่วมมือดังกล่าวเด่นชัดเป็นรูปธรรมในช่วงการเยือนของประธานาธิบดีมาครง
จากการที่ไทยเข้าร่วมข้อริเริ่มระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งฝรั่งเศสร่วมผลักดัน ได้แก่ ข้อริเริ่ม Preventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) และกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People อันมีเป้าหมายเพื่อบรรลุความตกลงในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่โลก ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ภายใต้กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP 15)
ฝรั่งเศสและอียู มุ่งมั่นมากกว่าที่เคยเป็นมา ที่จะทำงานกับเขตเศรษฐกิจเอเปค ตามแนวทางที่ได้วางไว้ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป