ยังคงเป็นห้วงเวลาแห่งการลุ้นระทึก! สำหรับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในสมการการเมืองและการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” ถือโอกาสมาสนทนากับ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และ อดีต กกต. เพื่อจับชีพจรการเมืองและการเลือกตั้งหลังจากนี้

โดย อดีต กกต. เปิดประเด็นว่า ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่มีมติว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. … ไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น มองได้ว่าเป็นแนวทางที่เอื้อต่อพรรคเล็กและพรรคใหม่ เพราะจะมีการผ่อนคลายเรื่องการหาสมาชิกพรรคใหม่ จากการลดค่าสมัครสมาชิกพรรค ในขณะเดียวกันกระบวนการที่จะสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับเขตก็ผ่อนคลายลง ในขณะที่พรรคเก่าก็จะไม่ได้มีความได้เปรียบขึ้นมาเลย

ส่วนกรณี ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ย. นี้ หากคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางเดียวกันว่าเอื้อต่อพรรคเล็ก หรือพรรคใหม่ ก็จะเป็นคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางที่ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง โอกาสที่จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากก็จะลดลง แต่ถ้าคำวินิจฉัยออกมาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะเอื้อต่อพรรคใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาแบบไหน ดังนั้นสถานการณ์การเมืองทั้งหมดในขณะนี้ จึงรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาในแนวทางใด

@กระแสข่าวการทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบริบทการเมืองในอนาคต

แนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ ที่ได้เตรียมไว้ และจะเป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เห็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้นเพียงชื่อเดียว โดยต่างคนต่างทำในการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นก็มาดูผลหลังการเลือกตั้งว่า จะสามารถผลักดันตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ จะรวมกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้หรือไม่ หากว่าทำได้สำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถกลับไปเป็นนายกฯ ได้ใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีเสียงมากที่สุดในสภาก็ได้ เพราะอาจจะมี ส.ส. จำนวนหนึ่งที่เกิน 25 เสียง แล้วอาศัยการรวมพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ประสงค์จะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลของการที่มี ส.ว. 250 คน ที่จะร่วมโหวตสนับสนุน ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคพร้อมจะเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม หากเดินตามแนวทางนี้พรรคพลังประชารัฐ ก็จะไม่เสียหาย สามารถเดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้ แต่ก็จะทำให้พรรคพลังประชารัฐเล็กลง และพรรคพลังประชารัฐเอง ก็พร้อมที่จะร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าหากว่าได้ชัยชนะในการเลือกตั้งมากเพียงพอที่จะเข้าร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ และยังสามารถเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้

“ประเมินสถานการณ์ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถทุ่มเทกับการทำงานการเมืองเต็มที่ เพื่อทำให้คนที่อยู่ในพรรคที่เขาจะไปสังกัดนั้น สามารถเข้ามาเป็น ส.ส. ให้ได้มากที่สุด โดยต้องเกิน 25 เสียงขึ้นไป ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ ณ วันนี้ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงคิดแล้วว่าทำได้ และจะมีเงินทุนที่ไหลตาม พล.อ.ประยุทธ์ มาพอสมควรในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยในการส่งเสริมที่เขาคิดว่าจะทำให้พรรคดังกล่าวมี ส.ส. ได้จำนวนหนึ่ง ที่จะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะไม่ถึงขนาดว่ามี ส.ส. มากที่สุดในสภาก็ตาม”

@ หากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่าน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายไปอยู่พรรคใหม่ จะตอบโจทย์หรือไม่

คิดว่าจะทำให้ทำงานยากขึ้นเยอะ ทั้งนี้สมมุติว่า คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ มีทั้งหมด 10ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ หากคิดตามสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ หาร 100 พรรคใหม่ที่เขาเข้าไปสังกัดก็อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 10 คน ซึ่งที่เหลือก็จะต้องรอดูว่า ส.ส.เขตจะได้เท่าไหร่ หากได้ ส.ส.เขตประมาณ 20 คน ก็จะมี ส.ส. 30 คน แต่จะเทียบกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ที่อาจจะมีคะแนนนิยม 40ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 40 คน และอาจจะได้ ส.ส.เขตจำนวนเกือบ 200 คน ก็จะมี ส.ส. 240 คน ดังนั้นการไปอยู่พรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถสู้พรรคเพื่อไทยได้ ดังนั้นจะต้องหาทางทอนออกมา ซึ่งหากมองในเชิงของเกมการเมืองก็คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่อย่างนั้นแล้วสู้อย่างไรก็ไม่ชนะ

@กระแสข่าวการแยกพรรค ของพี่น้อง 2 ป. จะกระทบกับสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้อย่างไรหรือไม่

การแยกกันระหว่างคน 2 คน เป็นการแยกในเชิงยุทธศาสตร์ แยกกันเดิน รวมกันตี เพราะขณะนี้อยู่ด้วยกันก็ดินต่อกันไม่ได้ และไม่ได้ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ ก็ต้องแยกกันก่อน แต่จริงๆ ก็คือพันธมิตรกัน และพร้อมที่จะกลับมาร่วมกันในอนาคต แต่การร่วมกันในอนาคต พรรคพลังประชารัฐ จะมีความได้เปรียบมากกว่า เพราะสามารถร่วมกับใครก็ได้ ทั้งฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ และฝั่งพรรคเพื่อไทย ดังนั้นเป็นการแยกกันเดินที่พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบมากกว่า

@ หากเกิดการยุบสภา ในช่วงไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง จะเป็นเดดล็อกจนไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้หรือไม่

ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเลือกตั้ง ไม่สามารถเลื่อนได้ ถ้ารัฐบาลอยู่จนครบวาระก็จะต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่สามารถเลื่อนได้ หรือหากเกิดการยุบสภาก็จะต้องจัดเลือกตั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นกัน

หากดูจากเวลาที่เหลืออยู่ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเกิดช่วงฝุ่นตลบในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ว่า จะหาทางออกกันอย่างไร ซึ่ง ครม. อาจจะปรึกษาหารือกับ กกต. และขอความร่วมมือสภาในการเสนอกฎหมายใหม่เข้ามา อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยให้ กกต. ไปร่างกฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่า กกต. ใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถเสนอ ครม. ได้ และ ครม. อาจจะเสนอสภาได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. เสร็จแล้วก็ให้สภาพิจารณาโดยเร็ว หากทำทัน ก็ถึงจังหวะจัดการเลือกตั้งพอดี แต่หากสภาทำไม่ทันก็ใช้วิธีการยุบสภา แล้วออกเป็นพระราชกำหนดแทน

สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้จะมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ จนต้องยุบสภาหรือไม่

การยุบสภาเป็นเทคนิคทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเหตุความจำเป็นว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชหารแผ่นดินได้โดยราบรื่น ไม่ใช่เรื่องการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล ผมเชื่อว่า ไม่ว่ากฎหมายกัญชาจะผ่านหรือไม่ผ่าน พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ถอนตัว เมื่อเหตุแห่งการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาลไม่เกิดขึ้น และไม่มีความขัดแย้งในรัฐบาลจนเป็นเหตุให้รัฐบาลยุบสภา ดังนั้นการยุบสภาหลังจากนี้ จึงเป็นการยุบทางเทคนิค เพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการเมือง.