เรียกได้ว่าเปิดตัวก็สร้างความฮือฮาอย่างมากทีเดียว สำหรับสารคดีพิเศษชุด “Some One หนึ่งในหลาย” เพื่อส่งเสริมความเข้าใจกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างตระหนักในคุณค่า และเท่าเทียมในสังคมไทย โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ยิ่งไปกว่านั้น เบื้องหลังการผลิตรายการสารคดีชุดนี้ ยังมีความพิเศษไม่แพ้กัน เพราะเป็นการจับมือของ 3 องค์กรใหญ่ ในรูปแบบ Co-Creation ระหว่าง 2 องค์กรสื่อ อย่าง บริษัท สื่อดลใจ จำกัด และ บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Creation และ Story Telling ในรูปแบบสารคดี ร่วมกับองค์กรทางวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยด้านพหุวัฒนธรรม-พหุภาษาในสังคมไทย-อาเซียน และในมิติข้ามชาติมายาวนาน
ทั้งนี้ สารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย” ได้รับทุนการผลิตจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดยบรรยากาศภายในงานมีหลายหน่วยงานสำคัญเข้าร่วมนำเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสทช.,นักวิชาการ, ตัวแทนจากผู้ผลิตสารคดี, พิธีกรหลัก และบุคคลเจ้าของเรื่องในสารคดี อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี และตัวแทนชาวซิกข์ รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาอย่างคับคั่ง
นอกจากนี้ ตัวแทนจาก 3 องค์กรหลัก ยังได้ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นำโดย ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้กล่าวว่า
“นอกจากหน้าที่หลักของสำนักงาน กสทช.ในการตรวจสอบและดูแลแล้ว เรายังมีแนวคิดว่า สื่อควรจะทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์กับคนและสังคมได้ เลยมีกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดรายการที่มีคุณภาพ เลยใช้กลไลกองทุนวิจัยและพัฒนาการผลิต จาก กทปส.ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ กสทช.ที่จะทำให้สังคมเกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายของสังคม พหุสังคม พหุวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมปัจจุบัน”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าพหุสังคม พหุวัฒนธรรม จริงๆ แล้วเป็นต้นทุนของทุกสังคม ที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม
“ความหลากหลายทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความเคารพกัน อาจจะมีกรณีที่มองไม่เห็น ละเลย หรือละเมิดเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดมีความเข้าใจ และให้มีการมองเห็นตัวตนของคนในพหุสังคม พหุวัฒนธรรม เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง และเข้าใจ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนค่ะ”
ส่วน คุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนพิธีกร และผู้วาดภาพประกอบสารคดี โดยใช้กราฟฟิกเรคคอร์ดิ้ง ซึ่งเป็นศิลปะการวาดภาพแนวใหม่มาช่วยเล่าเรื่อง กล่าวว่า
“เป็นวิธีการสรุปความคิดทั้งหมด ผมจะทำหน้าที่ทุกตอนใน 45 ตอน ในเวลา 1 นาที เพื่อสรุปจบ ให้ทุกคนเข้าใจผ่านภาพ เป็นภาพการ์ตูนบ้าง เป็นภาพกึ่งเหมือนจริงบ้าง เพราะสารคดีบางตอนมีความซับซ้อนมาก อาจจะเล่าไม่หมดในเวลา 25 นาที ผมก็จะขมวดทุกอย่างนำมาเสนอให้ได้ชมกัน ส่วนหน้าที่พิธีกร ก็เป็นแค่ผู้เชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวทั้งหมดที่มี ร้อยทุกอย่างเข้ามารวมกันเท่านั้นเอง คนสำคัญที่สุดจะเป็นแขกรับเชิญหรือคนต้นเรื่องมากกว่าครับ”
ปิดท้ายกันที่ คุณปฐมาภรณ์ วิโรจน์พันธุ์ Content Co-director บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด กล่าวถึงความตั้งใจในฐานะทีมงานโปรดักชั่นว่า หน้าที่หลักคือทำให้คนในสังคมรู้จัก และเข้าใจซึ่งกันและกัน ก่อนจะนำไปสู่ปลายทางที่คาดหวังไว้
“จุดเริ่มต้นที่เป็นประตูบานแรก คือทำให้แต่ละคนจะได้รู้จักกัน สร้างความเข้าใจ และต่อไปก็จะสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน ก็คาดหวังว่าจะได้รับความหมายเหล่านี้ไปถึงทุกๆ ท่านเหมือนกันค่ะ”
สำหรับการเปิดตัวสารคดีครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมบนเวทีหลายช่วงที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายหัวข้อ “พหุสังคมวัฒนธรรม : มองความต่างอย่างเข้าใจ” โดย Asst. Prof. Dr.Kirk Person Senior Literacy and Education Consultant, SIL International และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Hearing) ครั้งที่ 1 โดย Forum 1 เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “พหุสังคมไทย : อยู่อย่างไรให้เข้าใจกัน” ฟังเสียงความตั้งใจจาก กสทช.ผู้ให้ทุนผลิตและสร้างสรรค์สารคดี รวมทั้งนักวิชาการ,ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม-วัฒนธรรม ส่วน Forum 2 จะเป็นการเปิดใจผู้ผลิตผลงาน โปรดิวเซอร์ และคนต้นแบบ ในห้วข้อ “กว่าจะมาเป็น…SOME ONE หนึ่งในหลาย”
ในส่วนเนื้อหาของสารคดี แบ่งออกเป็น 6 ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจ ได้แก่ “บทนำ” นำเสนอความแตกต่างและความหลากหลายในนิยามความเป็น “ไทย” ในมิติต่างๆ จำนวน 1 ตอน
“พหุลักษณ์ รากพหุสังคม” นำเสนอความหลากหลายของพหุลักษณ์ในภูมิทัศน์สังคมไทย ทั้งด้านเชื้อชาติ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ จำนวน 12 ตอน
“พหุสังคมวิถีใหม่” นำเสนอกลุ่มคนทางวัฒนธรรมในปัจจุบันที่มีความแตกต่าง ทั้งด้านครอบครัว เพศวิถี ชีวิตคนต่างวัย ความเชื่อและความศรัทธา การก้าวข้ามกำแพงศาสนา พหุวัฒนธรรมในโลกดิจิทัลและสื่อประเพณี จำนวน 18 ตอน
“พลเมืองไร้พรมแดน” นำเสนอการเลื่อนไหลของสังคม อันเกิดจากการภาวะข้ามชาติและการย้ายถิ่น การละเมิด การละเลย และความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ข้ามชาติ จำนวน 7 ตอน
“คนพิเศษในความสามัญ” นำเสนอความเข้าใจชีวิต คุณค่า สิทธิ ของกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษต่างๆ จำนวน 4 ตอน
และ “บทสรุป” นำเสนอแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพหุสังคมของไทยและตัวอย่างอื่นๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างพหุสังคม-พหุวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืน จำนวน 3 ตอน
นอกจากนี้ทางทีมผลิตยังได้เดินทางไปถอดบทเรียนความเป็นพหุสังคมพหุวัฒนธรรมในต่างประเทศ ด้านต่างๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ เยอรมนี ประเทศที่เป็นสังคมพหุลักษณ์ที่ซับซ้อนและคนไทยจำนวนไม่น้อยไปตั้งรกรากใช้ชีวิตที่นั่น ประเทศเกาหลี ต้นแบบของการใช้ Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม และญี่ปุ่น โดดเด่นในด้านการให้ความสำคัญกับผู้พิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทบทวน การสร้างแนวคิดและแนวทางจากบทเรียนต่างประเทศ สำหรับสังคมไทย