“การติดตามถ่ายภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า…กว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุดก็ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องมีสมาธิ ต้องจดจ่อกับมัน เพราะบางภาพบางจังหวะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที เสียงจาก “หนุ่มน้อยวัย 14 ปี” เจ้าของดีกรี ช่างภาพสัตว์ป่ารางวัลภาพถ่ายสัตว์ป่าระดับโลก” ที่ชื่อ “จอมทัพ เจริญลาภนำชัย” บอกเรื่องนี้ โดยถึงแม้จะอายุน้อย แต่ผลงาน-ฝีมือการกดชัตเตอร์ ก็ “เก่งไม่แพ้ผู้ใหญ่” เลย โดยล่าสุดผลงานถ่ายภาพของเขาเพิ่งจะคว้า รางวัลชมเชยจากเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก Wildlife Photographer of the Year ปี 2022 ด้วยผลงานภาพถ่าย “วาฬบรูด้าอ่าวไทย” ซึ่งยิ่งทำให้เส้นทางชีวิตของหนุ่มน้อยอายุ 14 ปีคนนี้น่าสนใจ จนทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” อยากที่จะพาไปทำความรู้จักกับหนุ่มน้อยที่ชื่อ จอมทัพ คนนี้…

เข้าบังไพรซุ่มถ่ายภาพ

จริง ๆ การส่งภาพเข้าประกวด ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัล ซึ่งถ้าได้ก็ดีใจ แต่หากไม่ได้รางวัลอะไรเลย ผมก็ไม่เสียใจ เพราะถึงไม่ได้รางวัล แต่ได้ประสบการณ์ อีกทั้งยังได้เห็นมุมมองของช่างภาพคนอื่น ที่เราสามารถเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจ หรือนำมาปรับปรุงการถ่ายภาพของเราได้ครับ เสียงสดใสจาก “ช่างภาพสัตว์ป่าวัย 14 ปี” ที่ชื่อ จอมทัพ บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ซึ่งช่องทางในการชมผลงานการถ่ายภาพของเขานั้น จอมทัพบอกว่าสามารถเข้าไปติดตามได้ที่ เฟซบุ๊ก ชื่อ “JT Story” และทาง อินสตาแกรม ที่ใช้ชื่อ “Jomtup2008” โดยเขาเล่าว่า ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนรุ่งอรุณ โดยเป็นลูกคนโตของ คุณพ่อบอล-จตุพร และ คุณแม่ปุ้ม-อรอนงค์ และเขามีน้องชาย 1 คน ชื่อ ขุนพล

ทั้งนี้ เจ้าตัวได้เล่าย้อนถึงเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า ก่อนที่จะก้าวมาสู่การเป็นช่างภาพสัตว์ป่านั้น เริ่มมาจากการที่ตัวของเขาชื่นชอบแมลงมาก โดยเลี้ยงแมลงพันธุ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ตอนเรียนอนุบาลแล้ว เพราะมองว่าแมลงนั้นเป็นสัตว์ที่มีรูปร่าง สีสัน ที่ดูแปลกและสวย จนตอนอายุ 7-8 ขวบ วันหนึ่งคุณพ่อได้นำกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปแมลงที่เลี้ยงไว้ ซึ่งหลังจากที่ได้เห็นภาพถ่ายแมลงของคุณพ่อ เขาก็มองว่าเป็นภาพที่สวยมาก จึงเกิดความสนใจที่อยากจะถ่ายภาพขึ้นมา จึงให้คุณพ่อสอนถ่ายภาพให้นิดหน่อย และพอเริ่มถ่ายเป็น เขาก็เริ่มถ่ายภาพแมลงมาเรื่อย ๆ และศึกษาเรียนรู้การถ่ายภาพมาตลอด จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปเข้าค่ายธรรมชาติ ทำให้ได้เห็นสิ่งที่มีความสวยงามมากกว่าแมลงมากขึ้น จนเริ่มลองถ่ายภาพสัตว์ชนิดอื่น ๆ มาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน

ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้เรื่องของธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้มักจะใช้วันหยุดไปเข้าค่ายธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา โดยการถ่ายภาพนั้น ผมก็ได้คุณพ่อและพี่ ๆ ที่เป็นช่างภาพที่ไปด้วยคอยแนะนำคอยสอนให้ ซึ่งการถ่ายภาพของผมในตอนแรกก็โฟกัสพวกนกสายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นหลัก แต่พอเข้าป่าไปหาถ่ายภาพนกอยู่เรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นว่าสัตว์ป่าที่ได้เจอในป่าก็น่าสนใจมากเหมือนกัน จากนั้นก็เลยเริ่มหันมาถ่ายภาพสัตว์ป่า จอมทัพกล่าว

พร้อมบอกอีกว่า เรื่องการถ่ายภาพสัตว์ป่าของเขานั้น ก็ได้คุณพ่อกับคุณแม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยช่วงแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่จะพาไปทุกที่ที่ต้องการจะไปถ่ายภาพ แต่หลัง ๆ พอโตมากขึ้น เขาก็เริ่มออกเดินทางไปคนเดียว เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าดูแลตัวเองได้แล้วก็เลยปล่อยให้ไปคนเดียวได้ ซึ่งจอมทัพเล่าให้ฟังอีกว่า การออกไปเก็บภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าส่วนใหญ่ เขาจะไปช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่บางครั้งก็ต้องยอมลาเรียนบ้างบางครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งเคยไปตามถ่ายภาพ “เป็ดผี” ตอนแรกก็ใช้เวลาในช่วงวันหยุดเหมือนที่เคยทำ แต่ยังไม่ได้ภาพพฤติกรรมของเป็ดผีที่ต้องการ จึงต้องเฝ้าต่อ จนวันเวลาล่วงเลยถึงวันอังคาร ซึ่งทำให้ต้องลาเรียน แล้วใช้วิธีไปตามเก็บงานเก็บการบ้านทำตามทีหลัง

“My City Whale” ภาพรางวัลชมเชย Wildlife Photographer of the Year 2022

หลังจากที่เริ่มมีประสบการณ์ถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น จอมทัพ เล่าว่า เขาก็เริ่มลองส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเพื่อหาประสบการณ์เพิ่ม โดยการส่งประกวดครั้งแรกเป็นงานการ ประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ซึ่งครั้งนั้นเขาไม่ได้รางวัล จนในปีถัดมา ที่เขาลองส่งอีกครั้ง คือในปี 2563 ก็สามารถ คว้ารางวัลยอดเยี่ยมมาได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประเภทสัตว์ป่า, รางวัลประเภทภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า และ รางวัลประเภทป่าไม้ หลังจากนั้นก็สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่ามาได้เรื่อย ๆ ในหลาย ๆ รายการที่มีการประกวด และล่าสุดในเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก อย่างงาน Wildlife Photographer of the Year ปี 2022 จอมทัพก็สามารถไปคว้า รางวัลชมเชย หมวด Young Grand Title Winner 2022 มาได้ ด้วยภาพถ่าย “วาฬบรูด้า” ที่เขาได้ใช้ชื่อภาพนี้ว่า “My city whale” ซึ่งภาพถ่ายรางวัลภาพนี้ของเขาได้ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่ Natural History Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ภาพวาฬบรูด้าที่ส่งประกวด ตอนนั้นมีพี่ ๆ ที่เป็นช่างภาพชวนไป ซึ่งผมเคยไปถ่ายรูปวาฬอยู่ประมาณ 1-2 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้จังหวะดี ๆ เลย (หัวเราะ) ผมก็เลยสนใจอยากที่จะไปด้วยในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ภาพที่จะสามารถส่งประกวด ซึ่งวันที่เดินทางไปถ่ายภาพวาฬนั้นไม่มีอะไรเป็นใจเลย ต้องเฝ้ารอกันทั้งวัน จนกำลังจะกลับเข้าฝั่งแล้ว ก็มาได้จังหวะถ่ายภาพที่ส่งเข้าประกวดพอดี เจ้าตัวเล่าถึง “ที่มาของภาพถ่ายที่ได้รางวัลระดับโลก” ให้ฟัง

ภาพรางวัล Winner เวที Wildartpoty หัวข้อ BEHAVIOUR

พร้อมเสริมอีกว่า การถ่ายภาพสัตว์ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน สัตว์ที่ตามถ่ายอาจจะไม่ออกมาให้เห็น หรือไม่แสดงพฤติกรรมที่เราต้องการ ช่างภาพก็ต้องค่อย ๆ เฝ้าดู ต้องซุ่มดู และที่สำคัญคือการถ่ายภาพสัตว์ป่าสมาธิของช่างภาพจะต้องจดจ่อเพื่อเป้าหมาย เพราะแค่เสี้ยววินาที หากพลาดก็อาจพลาดเลย หรืออาจจะต้องรอเวลาอีกนาน และความผิดหวังก็เป็นเรื่องที่ช่างภาพแนวนี้ต้องเจอกันเป็นประจำ เพราะบางครั้งเฝ้ารอทั้งวัน ถ่ายภาพไม่ได้เลยก็มี จอมทัพเล่าถึงสิ่งที่ช่างภาพสัตว์ป่านั้นต้องพบเจอ และจะต้องมี เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ต้องการ

เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนถ่ายรูปสัตว์ป่าแรก ๆ ด้วยความที่ยังเด็กมาก ในเรื่องของการเฝ้ารอถ่ายนั้น จอมทัพยอมรับว่าเบื่อมาก และก็มีท้อแท้บ้าง แต่หลังจากที่ได้ทำบ่อย ๆ ก็เริ่มเกิดความเคยชินมากขึ้น นอกจากนี้ นอกจากการเป็นช่างภาพถ่ายสัตว์ป่าจะเป็นกิจกรรมที่จอมทัพทำแล้วมีความสุข กับการที่ได้ไปเฝ้ารอถ่ายภาพสัตว์ป่า การที่ได้เฝ้าตามติดดูพฤติกรรมของสัตว์ต่าง ๆ นั้น จอมทัพมองว่าก็เป็นประสบการณ์ที่ดี และการถ่ายภาพแนวนี้ ยังได้ให้แง่คิดดี ๆ กับตัวของเขาอีกด้วย

“มื้อพิเศษ” ภาพรางวัลยอดเยี่ยม รายการสัตว์มีค่า ป่ามีคุณ

การตามเฝ้ารอโอกาสในการถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น ส่วนตัวผมมองว่า ช่วยสร้างให้เราเป็นคนที่มีความอดทน มีสมาธิมากขึ้น รวมถึงฝึกนิสัยเราให้มีความตั้งใจในสิ่งที่อยากจะทำ เพราะการถ่ายภาพแนวนี้ ต้องใช้ความอดทนเพื่อเฝ้ารอให้สัตว์แสดงพฤติกรรมเฉพาะตัวของตัวเองออกมา ซึ่งถ้าหากไม่อดทน ก็อาจพลาดโอกาสได้จังหวะภาพที่ดีที่สุด เป็น “แง่คิด” ที่หนุ่มน้อยวัย 14 ปีผู้นี้ได้ค้นพบจากการถ่ายภาพสัตว์ป่า

ก่อนจบการสนทนากับ ช่างภาพสัตว์ป่าวัย 14 ปี ที่ชื่อ “จอมทัพ” ที่มีดีกรี “รางวัลถ่ายภาพระดับโลก” พ่วงท้ายนั้น “ทีมวิถีชีวิต” ได้ถามถึง “เป้าหมายชีวิต” ในการเดินบนเส้นทางสายช่างภาพสัตว์ป่าของเขา ซึ่งเจ้าตัวให้คำตอบว่า…ส่วนตัวก็ไม่ได้วางเป้าหมายอะไรไว้ แค่ยังสนุก และมีความสุขกับการที่ได้ไปถ่ายภาพสัตว์ต่าง ๆ และพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด แต่ถ้าถามว่าตอนนี้อยากถ่ายภาพอะไรมากที่สุดจริง ๆ ที่คิดไว้ก็จะเป็นกลุ่มสัตว์ป่าที่หายาก และสัตว์ป่าที่ต้องใช้ความท้าทาย เช่น เสือ

วันนี้ผมขอแค่ถ่ายภาพสัตว์ที่หาง่าย สัตว์ธรรมดา ๆ ให้ดูน่าสนใจในมุมมองที่ดูแปลกใหม่ไปก่อน ซึ่งสำหรับผม มองว่าการเป็นช่างภาพสัตว์ป่า ช่างภาพสายธรรมชาติ แค่ฝีมือดีไม่พอ แต่ทั้งต่อตัวเอง…สัตว์ป่า…ธรรมชาติ…

จะต้องมีความรับผิดชอบ

จอมทัพ กับคุณพ่อ คุณแม่ น้องชาย

‘กฎเหล็ก’ ของ ‘คุณแม่’

ครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกับผมมาก ๆ เลยครับ เพราะถ้าไม่มีคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุนให้ผมทำในสิ่งที่ผมชอบ ผมก็อาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ในวันนี้ก็ได้ ช่างภาพสัตว์ป่าวัย 14 ปี ที่ชื่อ “จอมทัพ เจริญลาภนำชัย” เผยถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อครอบครัว พร้อมบอกอีกว่า ยอมรับว่าแรก ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะชอบการถ่ายภาพจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้รับโอกาสจากคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำ เขาเองก็อาจไม่ได้ตกหลุมรักหรือหลุดเข้ามาในโลกการถ่ายภาพ

ขณะที่ “ความในใจ” ของ คุณแม่ปุ้ม-อรอนงค์ คุณแม่บอกว่า จอมทัพถ่ายรูปมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ป.2-ป.3 หรือตอนอายุ 7-8 ขวบ ซึ่งหลังจากรู้ว่าลูกชื่นชอบการถ่ายภาพสัตว์ป่าก็พยายามหนุนสุดตัวเท่าที่จะทำได้ จอมทัพเองก็พยายามแบ่งเบาภาระด้วยการเก็บเงินค่าขนมเพื่อซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพของตัวเอง บางส่วนก็เป็นเงินรางวัลจากการส่งภาพเข้าประกวด อย่างไรก็ดี แม้จะสนับสนุนลูกชายเต็มที่ แต่ก็มี กฎเหล็กของคุณแม่ โดยคุณแม่บอกว่า พ่อแม่พร้อมสนับสนุนทุกอย่างที่ลูกอยากทำ แต่ที่ห้ามตกคือการเรียน เพราะหากการเรียนตก คุณแม่จะไม่โอเค จึงย้ำเสมอกับจอมทัพว่า ถ้าอยากทำกิจกรรม ทำได้ แต่การเรียนต้องไม่ทิ้ง เราไม่บังคับว่าต้องได้เกรด 4 ไม่ได้เคี่ยวเข็ญต้องเรียนเก่ง แค่ต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็พอ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน