โลกได้เดินหน้าเข้าสู่ยุค 5 จี อย่างเต็มตัวแล้ว เมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือ โอปอเรเตอร์ ทั่วโลก ได้เริ่มเปิดให้บริการ 5 จี ในเชิงพาณิชย์ ให้กับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคอาเซียนที่ได้เปิดให้บริการ 5 จี ตั้งแต่ ในปี 63 ที่ ผ่านมา  พร้อมนำเสนอแพ็กเกจและบริการให้กับผู้บริโภคคนไทย

นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาโซลูชั่นบริการใหม่ๆให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จาก 5 จี อย่างเต็มศักยภาพ

 อย่างไรก็ตามทิศทางของ  5 จี ต่อจากนี้ไปจะเป็นเช่นไร ทาง “อีริคสัน” ได้จัดทำ รายงาน อีริคสัน โมบิลิตี้ รีพอร์ต( Ericsson Mobility Report) ฉบับที่ 2 ซึ่งมีข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับ 5 จี ของโลก และประเทศไทย ที่น่าสนใจมากมาย

“นาดีน อัลเลน”  ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า  ผลการศึกษาเมื่อครั้งก่อน ทางอีริคสันได้คาดว่าเมื่อสิ้นปี 63 ผ่านมา จะมีผู้ใช้งาน 5 จี ประมาณ 220  ล้านคนทั่วโลก  สำหรับผลการศึกษาในครั้งนี้ คาดว่า เมื่อถึงสิ้นปี 64 นี้ ผู้ใช้งาน 5 จี เพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านคนในทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1  ล้านคน!!

ซึ่งในบรรดาโอปอเรเตอร์กว่า 170 รายในทั่วโลก มีประมาณ 70% ที่มีการนำ 5  จี มาให้บริการ Fixed Wireless Access (FWA) หรือ บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายแบบประจำที่ ซึ่งเป็นการนำซิมการ์ด 5จี  มาติดในเราท์เตอร์ เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าน ช่วยให้การเชื่อมต่อและใช้งานมีสปีดที่เร็วขึ้น

“ภายในสิ้นปี 69  หรืออีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ใช้ 5จี แตะระดับ 3.5 พันล้านรายในทั่วโลก และจะครอบคลุมถึง 60% ของประชากร 5จี ทั้งหมด  โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียมี คาดว่าการสมัครใช้ 5จี จะเติบโตอย่างมาก จะมีผู้ใช้งานรวมพุ่งขึ้นถึง 400 ล้านราย”

สำหรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกในปัจจุบันเฉลี่ย อยู่ที่ 10 กิกะไบท์ (GB) ต่อเดือน แต่ในปลายปี  69 จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 กิกะไบท์ โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย จะมีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยตอนนี้ปริมาณการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่  6 กิกะไบท์  ต่อเดือน  จะเพิ่มขึ้นเป็น 39 กิกะไบท์ ต่อเดือนในอีก 5 ปี ข้างหน้า คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 36% ต่อปี

ทั้งนี้การเปลี่ยนมาใช้งาน 5 จี ของคนทั่วโลกครบหนึ่งพันล้านรายนั้น จะเป็นการปรับเปลี่ยนที่เร็วกว่า เมื่อตอน 3  จี มาเป็น 4จี แอลทีอี ถึง 2 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ ความมุ่งมั่นในการพัฒนา 5จี ของจีน ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ และ การวางจำหน่ายของอุปกรณ์ดีไวซ์ที่รองรับ 5จี เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดตัวหรือวางจำหน่ายสมาร์ทโฟน ที่รองรับเครือข่าย 5จี มากกว่า 300 รุ่นแล้ว

เมื่อเห็นภาพรวมการใช้งานในระดับโลกแล้ว สำหรับในประเทศไทย การใช้งาน จี จะมีแนวโน้ม เป็นอย่างไรบ้างนั้น?

 ทาง “นาดีน อัลเลน”  บอกว่า สิ้นปี 64 นี้ จะมีคนไทยใช้งานเครีอข่าย 5 จี จำนวน 5  ล้านราย  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา  กลุ่มวัยเริ่มทำงาน และกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ  

“การใช้ 5จี ของคนไทยผู้ใช้กลุ่มแรก ๆ จะใช้เวลามากกว่า 1.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับแอพ เออาร์และเล่นเกมบนคลาวด์ ซึ่งมากกว่าผู้ใช้ 4จี ประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ 57% ของผู้ใช้ 5จี เริ่มสตรีมวิดีโอแบบเอชดี  โดย 75%  ของคนไทยมีความพอใจในความเร็วของ 5 จี  และ 62% ต้องการเห็นบริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับ 5 จี ที่เพิ่มมากขึ้น และ ผู้บริโภคชาวไทยก็ยินดีจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้น 50% สำหรับใช้แพ็กเกจ 5จี ที่รวมบริการดิจิทัล อื่น ๆ เช่น ทีวี 5จี  ที่มาพร้อมกับบรอดแบนด์ 5จี ระบบ FWA  คลาวด์ความเร็วสูง เพลงคุณภาพสูงระดับ ไฮ-ไฟ เทคโนโลยี เออาร์ ฯลฯ”

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด -19  จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน 5 จี ของผู้ให้บริการในไทย หรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ ทางผู้บริหารของอีริคสัน บอกว่า ไม่มีผลกระทบ ซึ่งเห็นได้จากในปี  63 ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการในไทย ยังมีการลงทุนในระดับที่สูงมาก 

นอกจากนี้ ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะพัฒนาระบบนิเวศไร้สายสำหรับ อุตสาหกรรม 4.0 ที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานมือถือของผู้บริโภค และสนับสนุนการเปลี่ยนโฉมหน้า ของอุตสาหกรรมไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ภาคการผลิต พลังงาน ยานยนต์ และกาารดูแลสุขภาพ ฯลฯ โดยทางอีริคสันพร้อมจะสนับสนุนไทยให้เดินไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งหมดคือรายงานวิจัยที่ช่วยให้เห็นทิศทางของเทตโนโลยี  5  จี ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยยกระดับให้ทุกคนก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์