อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางบัลแกเรีย และหน่วยงานจัดอันดับหลายแห่งกล่าวว่า ผลกระทบจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ทำให้เกิดภาวะ “สภาแขวน” อีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้บัลแกเรียสูญเสียโมเมนตัมในแผนการเข้าสู่ยูโรโซน

ด้านพรรคฟื้นฟูสายชาตินิยม ซึ่งกลายเป็นกลุ่มใหญ่อันดับ 4 ในรัฐสภา ออกมารณรงค์ต่อต้านสกุลเงินยูโร โดยให้เหตุผลว่า มันจะ “ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ” อีกทั้งสิ่งนี้ยังส่งผลกระทบต่อชาวบัลแกเรียจำนวนมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้วยความกังวลว่า การเปลี่ยนไปใช้เงินยูโรจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วรุนแรงขึ้นไปอีก

หลายคนกลัวว่า การตั้งราคาที่เอารัดเอาเปรียบ ในระหว่างการเปลี่ยนไปใช้เงินยูโร อาจผลักดันราคาให้สูงขึ้นได้ ทว่ารายงานของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งวิเคราะห์การนำเงินยูโรมาใช้ใน 12 ประเทศ เมื่อปี 2545 พบว่า “ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาในระดับรวม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเงินสดเป็นสกุลเงินยูโร” นอกจากนี้ สำหรับชาวบัลแกเรียหนุ่มสาวหลายคนที่มีรายได้ดีกว่า การนำเงินยูโรมาใช้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

กระนั้น ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ในเวลาไม่ถึง 2 ปี บัลแกเรียต้องเผชิญกับการเจรจาที่ยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการเลือกตั้งก่อนกำหนดที่ไม่สามารถตัดออกไปได้ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการรับรองกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการเข้ายูโรโซน

“คำถามคือ บัลแกเรียจะยังคงอยู่อย่างไม่แน่นอนในอนาคตที่จมอยู่ในขอบนอกของยุโรปด้วยความยากจนที่มีอยู่, การทุจริต ความอ่อนแอทางสถาบัน หรือควรมีความพยายามทั่วไปในการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ผ่านการเร่งกระบวนการเข้าร่วมยูโรโซนที่ล่าช้าอย่างมากอยู่แล้ว” นายดิมิทาร์ ราเดฟ ผู้ว่าการธนาคารกลางบัลแกเรีย กล่าว

แม้บัลแกเรียจะมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกส่วนใหญ่ในการใช้สกุลเงินเดียว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ “ภาวะเงินเฟ้อ” โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในยูโรโซนอยู่ที่ 9.9% ทว่าตัวเลขที่สอดคล้องกับอียูของบัลแกเรียอยู่ที่ 15.6%

นอกจากนี้ อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือ การขาดแผนนโยบายการคลังที่ชัดเจนสำหรับปีหน้า หลังรัฐบาลชั่วคราวกล่าวว่า จะไม่เสนอร่างงบประมาณปี 2566 ต่อรัฐสภา ในขณะที่การขาดดุลการคลัง อาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 6.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ถึงแม้เกณฑ์การคัดเลือกจะมีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง แต่ประเทศต่าง ๆ ในยูโรโซน ยังคงต้องเชื่อมั่นว่า บัลแกเรียสามารถต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในวงกว้าง และนำกฎการฟอกเงินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS