อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในแบบฉบับของตัวเอง ว่ากันว่า ระยะทางห่างกันแค่ 10 กิโลเมตร “ภาษา น้ำ อาหาร” เป็นสามสิ่งที่ระยะทางห่างเพียงแค่ 10 กิโลเมตร เท่านี้ก็มีความแตกต่างไม่ซ้ำกัน โดยในส่วนของอาหารนั้น ฮาริช ทิวารี เชฟหนุ่มหล่ออัธยาศัยดีแห่งห้องอาหารมายา ชั้น 29 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท 22 ที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานมากว่า 20 ปี เจาะลึกรายละเอียดให้ฟังว่า อินเดียไม่ต่างจากไทย แต่ละภูมิภาคจะมีอาหารประจำถิ่น หากจะซับซ้อนและผสมผสานมากกว่า ยิ่งเครื่องเทศอันขึ้นชื่อด้วยแล้ว มีมากมายมหาศาลจนแทบจาระไนไม่หมด

“ภาคใต้ของอินเดียเด่นอาหารอาหารทะเล มะพร้าว รสชาติเผ็ดร้อน ฝั่งตะวันตกละลานตากับสตรีทฟู้ดไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ส่วนทางตะวันออกจะอัดแน่นด้วยซีฟู้ด และภาคเหนืออย่างแคชเมียร์ จะพบกับ “รอยัล คูซีน” ตำรับราชวงศ์ อาทิ เนื้อ เคบับ ขณะที่เมืองหลวงอย่างมุมไบ จะเป็นแหล่งรวบรวมอาหารอร่อยๆ จากทุกภาคมาไว้รวมกัน” เชฟฮาริช เล่า

ดังนั้น เมื่อหวนกลับมาทำงานที่ห้องอาหารมายาหนนี้ เชฟฮาริช จึงรังสรรค์เมนูอาหารใหม่นำเสนอสไตล์ Pan-Indian ที่มีสีสันหลากหลาย โดยรวบรวมเอาเมนูอาหารจากทุกมุมของประเทศอินเดียมาไว้ด้วยกัน นอกจากนี้เชฟมากพรสวรรค์ ได้เสาะแสวงหาส่วนผสมที่ดีที่สุด ด้วยทักษะการจัดวางที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์ โดยนำเสนอาหารอินเดียสำหรับคนยุคใหม่ โดยที่ยังคงรักษามรดกตกทอดเอาไว้อย่างแท้จริง

ประสบการณ์ที่น่าจดจำในการลิ้มลองอาหารจานพิเศษ อาทิ พัฟสอดไส้เนื้อสับผสมเครื่องเทศ, แป้งสาลีสอดไส้กุ้งอบเนย ปรุงรสด้วยซัลซาอินเดียแบบโฮมเมด, คร็อกเก้โยเกิร์ตเครื่องเทศ, ซี่โครงแกะออสเตรเลียย่างถ่านกับเครื่องเทศ เนื้อนุ่มละมุนแทบละลายได้ในปาก, ปลากะพงนึ่งใบตอง หน้าตาและรสชาติราวกับฝาแฝดกับห่อหมกไทย, กุ้งในแกงกะทิปรุงด้วยเมล็ดมัสตาร์ดและใบกะหรี่, ขนุนอ่อนปรุงด้วยเครื่องเทศแบบดั้งเดิม มีกลิ่นหอมของไม้สนและน้ำกุหลาบ กินคาวแล้วต้องกินหวาน หอมยั่วยวนสุดๆ ต้องยกให้ “พุดดิ้งข้าวรสใบเตย” ขาดไม่ได้กับ “ขนมกุหลาบจามุน” เอกลักษณ์ของขนมหวานหอมละมุนลิ้น เป็นต้น

ร่ายมนต์ความอร่อยมาถึงตรงนี้ หากสังเกตให้ดี จะพบว่าแต่ละเมนูจะมีความซับซ้อนของเครื่องเทศและส่วนผสมของอินเดีย โดยเชฟฮาริช ชวนทำความเข้าใจว่า อินเดียอุดมด้วยเครื่องเทศหลากหลายชนิด สำหรับตัวเองนั้น ค้นพบพรสรรค์หลังจากหิ้วตะกร้าตามคุณแม่ไปจ่ายตลาดว่า ตัวเองมีทักษะแยกแยะชนิดของเครื่องเทศ ไม่ว่าจะเป็นเพียงการดมกลิ่นหรือกินอาหาร นอกจากนี้ยังสนุกกับการนำเครื่องเทศเหล่านั้นมาผสมผสานกัน กลายเป็นแพสชั่นที่สร้างความท้าทายให้กับตัวเอง แม้เริ่มแรกจะมีความสนใจด้านอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากนั้น เชฟฮาริช จึงเบนเข็มมาเทรนนิ่งการทำอาหาร ผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนัก สะสมประสบการณ์จากการเปิดห้องอาหารอินเดียให้กับโรงแรมระดับห้าดาวมาแล้วหลายแห่งในอินเดีย จนได้รับการยอมรับในฝีมือการปรุงอาหารอินเดีย ที่เข้าถึงรสชาติต้นตำรับ ผ่านการนำเสนอในรูปลักษณ์ใหม่ ไม่ได้เป็นแค่เพียงภาพมายา พร้อมท้าให้ลิ้มลองทั้งแบบอะลาคาร์ทและเซตเมนูใน 3 รูปแบบ ได้แก่ มังสวิรัติ อาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัติ และซีฟู้ด.

‘ช้องมาศ’