ความคืบหน้าประเทศไทย เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเมื่อ 14 พ.ย.65 มีรายงานว่า การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ ระหว่าง อินฟรอนท์ เอเย่นต์ของฟีฟ่า กับ ทาง กกท. สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เมื่อ อินฟรอนท์ เอเย่นต์ของฟีฟ่า แจ้งมายัง กกท. ว่า ยอมลดราคาจาก 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท ให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ยอดเงินค่าลิขสิทธิ์ยังสูงอยู่มาก เกินที่จะรับได้
กกท. จึงตัดสินใจตอบกลับไปเรียบร้อยว่าถ้าไม่ลดให้มากกว่านี้ มาอยู่ใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่มีอยู่ตอนนี้ ทั้งจาก กสทช. 600 ล้านบาท และภาคเอกชน ที่คาดว่าจะให้ 400-500 ล้านบาท รวมกันแล้วประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ก็ไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งต้องรอดูท่าทีของฟีฟ่าต่อไปว่าจะมีความเห็นอย่างไร
ช่วงเช้าวันที่ 15 พ.ย.65 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ให้สัมภาษณ์ เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ถึงสถานการณ์ล่าสุด ยอมรับว่า มีความเป็นได้ทั้ง 2 ทาง ได้ดู และไม่ได้ดู ยอมรับว่า ข้อที่ อินฟรอนท์ เอเย่นต์ฟีฟ่า เสนอมา เป็นเงื่อนไขที่รับไม่ได้ และตอนนี้ส่งเรื่องตรงถึง ฟีฟ่า แล้ว เพื่อเจรจา ยังหวังเอกชนเจ้าใหญ่ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย แล้วอาจโยกเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไปก่อน เพราะถ้าไม่มีการันตีตัวเงินจากเอกชน ก็ยากที่จะนำเงินกองทุนฯ ไปใช้
ดร.ก้องศักด กล่าวในรายการว่า “มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง เราพยายามเจรจามากที่สุดแล้ว ยึดหลักประหยัดงบมากที่สุด เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นข้อครหาสังคม ว่าเราไปซื้อแพงกว่าเขา”
“เมื่องบจำกัด ต้องหาภาคเอกชนเสริม ดังนั้นต้องเจรจาบนพื้นฐานจริง งบ 600 ล้านบาท ไม่พอแน่นอน ต้องเอาภาคเอกชนที่ยินดี เราได้เท่าไหร่ ก็พยายามเจรจาตามขอบเขตเงินในกระเป๋า ยึดหลักประหยัดงบสูงสุด ทำอย่างไรให้การต่อรองประสบความสำเร็จเร็วที่สุด”
“ยอมรับว่าสิ่งที่เสนอมา เป็นเงื่อนไขที่เรายังรับไม่ได้ ทั้งงบประมาณ และความเหมาะสม”
เมื่อถามถึงตัวเลขในใจ ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า “ควรเจรจาให้ต่ำที่สุด แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ฟีฟ่า ต้องเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ที่ตลาดใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เราเอาเปรียบใคร แต่ใครก็ต้องไม่เอาเปรียบเรา”
“ที่ลดราคาลงมาน้อยมาก ส่งจดหมายไปแล้ว น่าจะถึงอินฟรอนท์ ก่อนเที่ยงคืนเมื่อวาน เรามีเวลาน้อยแล้ว เราเตรียมรายงานสรุปให้ฟีฟ่า ทราบสถานการณ์ว่าเราพยายามดำเนินการอย่างที่สุดแล้ว แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลงได้ ก็ให้ฟีฟ่าพิจารณาว่ามีทางออกอย่างไร ให้ไทยได้ดูบอลโลก”
“ยืนยันว่า เรายืนตัวเลขที่เรามีกำลัง เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่สถานะการเงินร่ำรวย รัฐบาลต้องใช้กิจการสำคัญมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
“ตอนนี้ เราคงต้องรอให้เขาตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจตอนนี้อยู่ที่อินฟรอนท์ ขณะเดียวกันก็หาเพิ่มเติมมาสมทบจากเอกชนที่ยินดี แต่ยังไม่ขอพูดรายละเอียด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่มีแนวโน้มที่ดีในหลายๆ เจ้า”
ส่วนการใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ดร.ก้องศักด กล่าวว่า “ในข้อกฎหมายทำไม่ได้ แต่เราสามารถใช้เงินก่อน แล้วนำกลับมาคืน ถ้ามีสปอนเซอร์ ต้องดูความเหมาะสม ว่าเราใช้เงินมันกระทบแผนงานต่างๆ ของกองทุนหรือไม่อย่างไร ต้องมั่นใจว่าจะมีภาคเอกชนมาชดเชย ไม่อยากกระทบสมาคมกีฬากว่า 80 สมาคม”
“ต้องทำให้เสร็จก่อนวันที่ 20 พ.ย. ทุกอย่างจะเริ่มวันที่ 20 พ.ย. การดำเนินการเจรจาต่อรอง ถ้าจะดูต้องแต่แมตช์แรก ต้องทำให้ทัน ถ้าไม่ทัน อาจต้องยอมรับกันว่าอาจได้ดูไม่ครบทุกแมตช์ เมื่อเริ่มแข่งแล้ว มีโอกาสถ่ายหรือไม่นั้น ยังพูดคุยฟีฟ่า เพราะอินฟรอนท์ยืนยันไม่ขายแยกแพ็กเกจ”
ดร.ก้องศักด กล่าวด้วยว่า “เงิน 1,600 ล้านบาทนี้ เป้นตัวเลขที่เราเจรจา การดีลไม่ได้ผ่านบริษัทเอกชน การจ่ายเงิน จะจ่ายไปอินฟรอนท์ หรือฟีฟ่า ไม่มีเอกชนมาเกี่ยว เรื่องส่วนต่างไม่มีแน่นอน ตอนนี้ต่อรองต่ำกว่า 1,600 ล้านบาทแล้ว แต่ยังเป็นหลักพันล้าน ยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
ดร.ก้องศักด กล่าวต่อไปว่า การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ กกท.ไม่สามารถเข้ามาตอนต้น กฎว่าไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์แข่งเอกชนได้ ต้องติดตามเอกชนว่าดำเนินการอย่างไร เมื่อเอกชนดำเนินการไม่ได้ กกท.ถึงจะเข้ามาได้ เราต้องรอจนมีการร้องขอจากเอกชน หรือนโยบายจากภาครัฐเท่านั้น เท่าที่ทราบมามีเอกชนติดต่อ ยอมรับว่า กฎมัสต์แฮฟ ก็มีผลต่อการตัดสินใจ
“ถ้ามีเอกชน อยากสร้างความสุขให้คนไทย ทุ่มงบประมาณ ก็ยังหวังว่ามีภาคเอกชนรายใหญ่เป็นหลักให้ จะลดงบประมาณภาครัฐได้ ข้อครหาใช้งบภาครัฐก็ลดน้อยลงไป แต่เป็นไปได้ยากในสถานการณ์เช่นนี้ หรือข้อจำกัดเช่นนี้ ไม่แน่ใจว่า ประชุม ครม.วันนี้ จะมีผลอะไรมาหรือไม่ แต่ตราบใดไม่มีภาคเอกชนมาสนับสนุนเงินที่จะใช้เงินกองทุนไปก่อน ก็ลำบาก ถ้าภาคเอกชนมีเงินสนับสนุนเพียงพอ ก็ตัดสินใจง่ายขึ้นในการใช้เงินกองทุนไปก่อน”
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อไปว่า ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องยอมรับ พูดความจริงตรงไปตรงมา ว่าภาครัฐใช้ความพยายามที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคปัญหาอะไร เอามาวิเคราะห์ไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต ยอมรับว่าต้องปลดล็อกหลายๆ เรื่อง ส่วน กกท. ในการบริหารทีสปอร์ต 7 ต้องพูดคุย กสทช. ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ให้ กกท. หรือทีสปอร์ต 7 มีบทบาทล่วงหนามากกว่านี้
เมื่อถามถึงเปอร์เซ็นต์โอกาสที่คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า “ให้ไม่ได้จริงๆ ยังวิเคราะห์ยากจริงๆ โอกาสยังเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง”.