เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เดือนกว่า ๆ แต่ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. มีเรื่องน่าปวดหัวเข้ามารบกวนอีกแล้ว เกี่ยวกับกรณีการจัดซื้อ “เป้าบินแบบไอพ่น” มูลค่าโครงการ 49.7 ล้านบาท โดยมีกรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

สำหรับโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 63 เป็นการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์จากประเทศออสเตรเลีย กําหนดส่งมอบตามสัญญาในวันที่ 3 ก.พ. 64 แต่จนถึงปัจจุบัน (พ.ย. 65) บริษัทผู้ขายสามารถส่งมอบยุทโธปกรณ์ดังกล่าวได้หรือยัง?

ถ้ายังไม่มีการทดสอบการบิน ยังไม่มีการส่งมอบเพื่อใช้งานจริงตามสัญญา ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 0.10 ต่อวัน รวมระยะเวลามากกว่า 643 วัน ใช่หรือไม่?

กรณีดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้ขายใช่หรือไม่? จนถึงปัจจุบันมีข่าวว่อน ๆ ว่านักวิ่งระดับ “นาวาเอก” มีความพยายามเป็นอย่างสูง ที่จะไม่เสนอให้ยกเลิกสัญญา และเรียกค่าปรับจากผู้ขาย โดยอ้างว่าได้รับ “ไฟเขียว” จากผู้บังคับบัญชาระดับสูงแล้ว!

ผบ.ทร. คนใหม่ เปิด 3 นโยบายเร่งด่วน ต้องไม่มีกำลังพลแตกแถว  จัดทัพโฆษกเคลียร์ปมร้อน

กรณีการจัดซื้อ “เป้าบินแบบไอพ่น” ดังกล่าว ส่อแววไปในทางจะบีบให้กรรมการตรวจรับรีบลงนาม ก่อนจะรีบ “จําหน่าย” เป้าบินดังกล่าว ด้วยการเก็บเข้าคลังไปเลย! โดยไม่นําไปใช้งาน แบบนี้ผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอน จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ในมาตรา 157 ด้วยหรือไม่? ตรงนี้ ผบ.ทร. ควรตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด!

เรื่องนี้เมาท์กันให้แซ่ด! ว่า “เจ้าแม่” ซึ่งเป็นนายหน้าขาย แต่เดิมมีอาชีพตระเวนขายเครื่องกรองน้ำตามคอนโดฯ ก่อนจะเห็นช่องทางลัดหันมาจับงานทางทหาร จนได้โครงการใหญ่ ๆ ของกองทัพเรือหลายโครงการในหลายหน่วยงาน โดยมีนายทหารระดับ “นาวาเอก” คนหนึ่ง ทําหน้าที่เป็นกุนซือให้ทุกครั้ง จนตัวเลขการค้าขายกับกองทัพเรือทะยานไปใกล้หลักพันล้านบาท เพียงช่วงเวลาไม่กี่ปี

แต่เอาล่ะ! ถ้าทำมาหากินกันโดยสุจริต ถูกต้องและโปร่งใสก็ไม่ว่าอะไรกัน! แต่ปัญหาคือ “เป้าบินแบบไอพ่น” ที่ว่านี้ บินได้จริง ๆ หรือเปล่า? ส่งมอบสินค้ากันตามกำหนดเวลาหรือไม่? แล้วไม่ใช่มุบมิบกันรีบ ๆ “ตรวจรับ” แล้วรีบ ๆ “จำหน่าย” เก็บเข้าคลังอาวุธไปเลย แล้วทหารเรือจะใช้ “เป้า” อะไร? ในการฝึกซ้อมยิงจรวด และปืน ปตอ.เล่า?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คงไม่ถูกต้องแน่ ๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพเรือต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าวต้องถูกส่งเรื่องให้ “ป.ป.ช.” ตรวจสอบความโปร่งใสอย่างแน่นอน! เพราะเงินหลวงแม้จะไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่ต้องใช้จ่ายอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา และได้สินค้าที่มีคุณภาพ

อีกประเด็นที่ตั้งข้อสงสัยกันมาก คือการจัดซื้อพัสดุซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารนั้น ตามระเบียบแล้วคู่สัญญากับกองทัพ จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากผู้ผลิตในต่างประเทศให้เป็นตัวแทนโดยตรงไม่ใช่หรือ? เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถซ่อมบํารุงรักษาหลังการขายได้อย่างต่อเนื่อง

Integration target drone miss distance indicator 135

แต่กรณีของเป้าบินแบบไอพ่นที่ว่านี้ มีการละเลยข้อกําหนดตามเงื่อนไขหรือไม่? บริษัทเอกชนมีเอกสารแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจากผู้ผลิตหรือไม่? หรือว่าอาศัย “คอนเนกชั่น” กับคนในกองทัพยินยอมหลับตาให้ข้างหนึ่ง โดยกําหนดเงื่อนไขใน “ทีโออาร์” ว่าผู้ขายไม่จําเป็นต้องมีใบแต่งตั้งเป็นตัวแทนจากต่างประเทศ เพื่อให้ “เจ้าแม่” คว้างานไปอย่างสบายใจเฉิบ!

แต่ย้ำว่าปัญหาใหญ่ คือส่งมอบสินค้าทันเวลาตามกำหนดหรือไม่? ถ้าไม่ทันและล่าช้ามาก ก็ต้องจ่ายค่าปรับ! และเป้าบินดังกล่าวสามารถบินได้จริงหรือเปล่า? อย่ามาหลอกกันนะ! โดยโครงการนี้มาก่อน พล.ร.อ.เชิงชาย เข้ามาเป็น ผบ.ทร. แต่ท่านต้องไปตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสโดยด่วน!!

———————
พยัคฆ์น้อย