นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ได้มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริม และสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ เพิ่มเติมจากโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมครั้งก่อนหน้าแล้ว 150 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล แพลตฟอร์ม 2 โครงการ และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เออาร์ และ ดิจิทัล คอนเทนต์ 1 โครงการ

พร้อมกันนี้มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 10 โครงการ ผ่านความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ตราด สุราษฎร์ธานี ฯลฯ และสมาคมนักวิจัยชายแดนใต้ และสมาคมส่งเสริมดิจิทัลเ พื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยโครงการต่าง ๆ จะช่วยผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวม 625 รายใน กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าและบริการ ธุรกิจการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ ธุรกิจการเกษตร ตลอดจนชุมชนในชนบท และเกษตรกรรายย่อย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท จำนวน 8 โครงการ ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 5 โครงการ และจังหวัดหนองคาย จำนวน 3 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ด้านการเกษตรและปศุสัตว์อัจฉริยะ จำนวน 5 โครงการ และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 3 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาดีป้าได้การส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในชนบทให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปแล้ว 69 ชุมชน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 65 ชุมชนทั่วประเทศในปีนี้ โดยโครงการทั้งหมดจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า ชุมชนในชนบท ตลอดจนเกษตรกร สามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างมั่นคง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ และเดินหน้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในที่สุด.