นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายวันชัย สิงห์โต ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่บริเวณชุมชนสวนลิง และเขาหินเหล็กไฟ ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อติดตั้งกรงดักลิงแสมจำนวนมาก เตรียมนำไปทำหมันยังศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน

นายวันชัย กล่าวว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ร่วมกับทางเทศบาลเมืองหัวหิน ในการจัดการทำหมันลิง ครั้งที่ 4 จำนวน 600 ตัว ซึ่งก็ดำเนินการทำหมันไปได้ประมาณ 502 ตัว วันนี้จะมาสกรีนหาลิงตัวที่ยังไม่ได้ทำหมัน เพื่อทำให้ได้ครบตามจำนวน ทั้งที่ เขาตะเกียบ และ เขาหินเหล็กไฟ สำหรับลิงที่ปล่อยไปหลังจากที่จับมาทำหมันแล้ว พบว่ามีสุขภาพแข็งแรงดี โดยภาพรวมพบว่าไม่ค่อยมีลิงมาก ต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งลิงที่ทำหมันแล้วจะขังไว้ก่อน แล้วก็จับจนหมด ด้วยการทำสัญลักษณ์ไว้เช่นตัวที่จับมาจากเขาหินเหล็กไฟ ก็จะสักตัวเค (K) กับตัวเอฟ (F) ที่หน้าอก แล้วก็สักที่แขนด้วยรหัสที่ทางกรมกำหนดมา ถ้าตัวผู้ก็จะสักด้านซ้าย ตัวเมียก็จะสักด้านขวา

“ในส่วนของอำเภอหัวหินตอนนี้ทำหมันไปได้แล้วทั้งหมดประมาณ 2-3 พันตัวได้ เพราะทำมา 4 ครั้งแล้ว และเคยมีกรมปศุสัตว์ มาทำหมันให้แรก ๆ ประมาณปี 2559 ในส่วนมุมมองของชาวบ้านหลังจากที่จับลิงไปแล้ว ส่วนหนึ่งเขาชอบที่ควบคุมประชากรลิง เขาว่าลิงอยู่กับเราก็ไม่สมควรที่จะทำอย่างอื่น คุมแบบทำหมันนี้เขาเห็นด้วย บางกลุ่มก็ไม่อยากให้จับ มันก็มี 2 มุมมอง แต่พอลิงทำลายข้าวของ เขาก็แจ้งไปที่สายด่วน 1362 พอมาดูก็เห็นมันรื้อหลังคาบ้านอะไรบ้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาก็จะมาช่วยแล้วตอนนี้ มาช่วยดู ช่วยจับ เพราะที่ผ่านมาเขาเสียหายจากลิงที่เพิ่มประชากรมากขึ้น” นายวันชัย กล่าว

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองหัวหิน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การรับเงินอุดหนุนจำนวน 1,132,460 บาท กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในการจัดทำโครงการควบคุมประชากรลิงแสมและลิงเสน ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองหัวหิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ปัญหาลิงแสม และลิงเสน ในชุมชนเขาตะเกียบ กับชุมชนสวนลิง บริเวณเขาหินเหล็กไฟ ซึ่งเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีลิงรวมกันมากกว่า 3,000 ตัว สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ที่ผ่านมาเทศบาลได้ทำหมันลิงทั้งเพศผู้และเพศเมียนับพันตัวติดต่อกันหลายปีตั้งแต่ปี 2560 แต่พบว่ายังมีอัตราการเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง จึงดำเนินการทำหมันลิงอีก 600 ตัว เป็นการควบคุมจำนวนประชากรโดยลดอัตราการขยายพันธุ์ เพื่อไม่ให้ส่งกระทบกับความเป็นอยู่กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นการควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์ป่าสู่คน ได้อย่างดี.