เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อน Sandbox ราชพิพัฒน์ Model ครั้งที่ 4/2565 โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ผู้บริหาร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.กลาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

น.ส.ทวิดา กล่าวว่า วันนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชน รวมถึงแนวทางการขยายผล Sandbox Model ไปยังจุดอื่นๆ เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิทุกเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำและรอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตคนเมือง

ทั้งนี้ ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน Sandbox ราชพิพัฒน์ Model โครงการ Telemedicine มีผู้ใช้บริการลงทะเบียน 16,612 ราย มาใช้บริการ 4,535 ราย แบ่งเป็น เขตบางแค 1,377 ราย เขตหนองแขม 765 ราย เขตทวีวัฒนา 633 ราย เขตภาษีเจริญ 462 ราย เขตตลิ่งชัน 313 ราย และนอกเขต 985 ราย มีแผนการพัฒนาโครงการ Telemedicine โดยเพิ่ม Item ในระบบ @1RPP ให้สามารถเชื่อมต่อระบบ Bangkok Health Map เพื่อให้ประชาชนสามารถดูข้อมูลสถานบริการได้ด้วยตนเอง, ขยายบริการร้านขายยาใกล้ และเพิ่มศักยภาพร้านขายยาด้วย Telemedicine, ขยายโครงการอาสาสมัครเทคโนโลยี ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข Plus

ในส่วนของโครงการ Telemedicine consult มีสถานบริการที่ใช้จำนวน 28 แห่ง แบ่งเป็น เขตบางแค 7 แห่ง เขตหนองแขม 6 แห่ง เขตทวีวัฒนา 6 แห่ง เขตภาษีเจริญ 6 แห่ง เขตตลิ่งชัน 3 แห่ง มีผู้ใช้บริการ 2 ครั้ง ที่เขตบางแค 1 ครั้ง และเขตภาษีเจริญ 1 ครั้ง โดยมีแผนการพัฒนา กำหนดนัดประชุมเครือข่าย รับฟังข้อคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และวางแผนแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

ส่วนโครงการ Urban medicine home care มีผู้ใช้บริการรวม 252 ครั้ง แบ่งเป็น เขตบางแค 98 ครั้ง เขตหนองแขม 56 ครั้ง เขตทวีวัฒนา 46 ครั้ง เขตภาษีเจริญ 2 ครั้ง เขตตลิ่งชัน 4 ครั้ง นอกเขต 45 ครั้ง แผนการพัฒนา สร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขใช้ระบบ @2RPP

สำหรับโครงการ Telemedicine Ambulance มีผู้ใช้บริการ Tele Ambulance รวม 276 ครั้ง แบ่งเป็น เขตบางแค 64 ครั้ง เขตหนองแขม 100 ครั้ง เขตทวีวัฒนา 103 ครั้ง เขตภาษีเจริญ 4 ครั้ง เขตตลิ่งชัน 5 ครั้ง และผู้ใช้บริการ Motor lance รวม 98 ครั้ง แบ่งเป็น เขตบางแค 27 ครั้ง เขตหนองแขม 16 ครั้ง เขตทวีวัฒนา 24 ครั้ง เขตภาษีเจริญ 9 ครั้ง เขตตลิ่งชัน 22 ครั้ง โดยมีแผนพัฒนา จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เทคโนโลยีภายในรถฉุกเฉินเพิ่มเติม ประสานสำนักงานเขตจัดพื้นที่บริการจุดจอด Motor lance ประจำเขต 5 เขต และพัฒนาสมรรถนะเวชกรฉุกเฉินให้ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลได้เพิ่มเติม

สำหรับการรับส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ มีผู้ใช้บริการ รวม 127 ครั้ง แบ่งเป็น เขตบางแค 45 ครั้ง เขตหนองแขม 32 ครั้ง เขตทวีวัฒนา 31 ครั้ง เขตภาษีเจริญ 12 ครั้ง เขตตลิ่งชัน 7 ครั้ง ด้านรถโดยสาร ชุมชน-โรงพยาบาล มีผู้ใช้บริการ รวม 22 ครั้ง แบ่งเป็น เขตบางแค 9 ครั้ง เขตหนองแขม 3 ครั้ง เขตทวีวัฒนา 22 ครั้ง แผนการพัฒนา ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถและจุดจอดรถในเขตพื้นที่ Sandbox ประชาสัมพันธ์การให้บริการรถรับส่ง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น และเพิ่มจำนวนรถบริการ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ย. 65).