การปรับตัวขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท. ทั้งน่าตื่นใจและน่าสนใจท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการ “ดิสรัปชั่น” จาก “เทคโนโลยี” ที่ไม่ปล่อยให้องค์กรไหนอยู่สบาย ๆ แบบเก่าได้อีกต่อไป ถ้าไม่ปรับตัวเองเดี๋ยวมันก็ปรับให้ (แต่จะรอดแบบไหน ยังไง ไม่รู้) ต้องเลือกเอา จะเอาอย่างแรกหรืออย่างหลัง ปตท.เลือกวางตัวเองไว้ที่จุดแรก ทั้งเตรียมตัวมองเข้าไปในอนาคตและเหนือกว่านั้น (Powering Life with future energy and beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต) รางวัลดีเด่นด้านต่าง ๆ ของ ปตท. ที่ได้มาทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่คือวิสัยทัศน์ที่สืบต่อเนื่องกันมา

เป้าหมายการดูงานของ ปตท. ที่พาคณะสื่ออาวุโสไปเปิบอาหารสมองเติมความรู้เที่ยวนี้คือ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่มาพร้อมกับ 3 มนต์ขลัง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ สิ่งที่ประเทศเรายังเพรียกหากันอยู่ 31 ต.ค.-6 พ.ย. แม้แค่ช่วงสั้น ๆ แต่อัดแน่นทั้งทางด้านความรู้และการดูงานเท่าที่ทำได้ ผู้บริหาร ปตท. นำโดย ผู้ว่าฯโด่ง อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ปธ. จนท.บริหาร และ กก.ผจก.ใหญ่ แล้ว ยังมี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รอง กก.ผจก.ใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่, วุฒิกร สติฐิต รองกก.ผจก.ใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, นิสิต พงษ์วุฒิประพันธ์ผช.กก.ผจก.ใหญ่และเลขานุการบริษัทและองค์กรสัมพันธ์, น.ส. พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ปธ.จนท.บริหารการเงิน ขณะที่ บริษัทในเครือ มี กฤษณ์ อิ่มแสง ซีอีโอ IRPC, สุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ (President) ป้ายแดงจาก OR รวมทั้ง กนกพร รอดรุ่งเรือง ผช.กก.ผจก.ใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคมหรือพีอาร์ใหญ่ ปตท. พร้อมด้วย เนาวรัตน์ ศัพทะนาวิน ซึ่งหลายคนก็กลับก่อนเพราะมีงานที่อื่นต่อ แต่แอคทีฟกันเต็มที่นั่นแหละ

มติเอกฉันท์ ตั้ง “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” นั่ง CEO ปตท.คนที่ 10

ปารีสหลังโควิดดูมีสีสัน อากาศเย็นสบาย ไม่เห็นนักท่องเที่ยวจีน เลยดูไม่หนาแน่นซะทุกหนแห่งไปหมด ช่วงนี้ตรงกับเทศกาลเช็งเม้งของชาวปารีเซียง โรงเรียนหยุด ถนนจึงโล่ง ที่นี่คนก็ปวดขมับกับราคาน้ำมันแพง (1.8-2.5 ยูโร) เพราะผลพวงจากสงครามยูเครน ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน สหภาพ TOTAL บริษัทน้ำมันใหญ่สุด เพิ่งรวมตัวนัดหยุดงานขอขึ้นเงินเดือน การขนส่งแทบอัมพาต ตำรวจต้องตามล็อกตัวที่บ้านให้มาทำงานกันเลย จะว่าไปทุกประเทศก็มุ่งสู่การลดใช้พลังงานฟอสซิล หรือน้ำมันแบบเก่า เดินหน้าใช้พลังงานสีเขียวใหม่ (น้ำ ลม แสงแดด) ทดแทนเหมือนกันหมด มันเป็นเทรนด์โลกไปแล้ว รถยนต์ก็เตรียมผ่านไปใช้รถไฟฟ้า EV กัน (ปตท.รับผลิตและให้เช่าด้วย) ปั๊มน้ำมันเตรียมเปลี่ยนเป็นปั๊มเติมแบตเตอรี่ (ปตท.ตั้งเป้าในปั๊มและนอกปั๊ม 500 จุดปีนี้) หรือขั้นสุดก็ ไฮโดรเจน เพื่อเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้ว่าฯโด่ง บอกว่า ปตท. ตั้งเป้า go green โดยจะเป็นคาร์บอนศูนย์ (Zero Carbon) ในปี 2050 หรือในอีก 28 ปี ข้างหน้าโน่น โดยปี 2040 ก็เป็นคาร์บอนขนาดกลางก่อน เป็นการมุ่งสู่พลังงานสะอาด และพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจขายน้ำมันแบบเก่าไปสู่ธุรกิจพลังงานในโลกอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งผู้ว่าฯโด่ง อธิบายสรุปด้วย 4 ภาพ จากที่ว่ามาข้างต้นคือ Renewable, Ev Value chain, Energy Storage&system Related และ Hydrogen

PTTEP

ส่วนธุรกิจเสริม beyond หรือ New S-Curve นั้น กลับน่าตื่นตาตื่นใจ นอกเหนือจินตนาการไปแยะเลย แค่ในปั๊ม ปตท.ก็แบบ “มินิมอล” แล้ว แต่นี่มีทั้ง อุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ ชีวเคมี ยาชะลอวัย เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อเป็นส่วนร่วมหนึ่งในการนำไทยสู่ HUB ศูนย์กลางด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย โดย ปตท.ร่วมลงทุนกับบริษัททั้งในและต่างประเทศ ที่ฝรั่งเศสก็มีทั้งยาและไฮโดรเจนด้วย

ที่มหาวิทยาลัย IRCAD ณ เมืองสเตราส์บูร์ก ที่ติดเยอรมนี มีชื่อเสียงเรื่องใช้หุ่นยนต์หรือ AI ผ่าตัดรวมทั้งการวินิจฉัยโรคด้วย
ที่นี่มี 5 อาจารย์ “โนเบิลไพรส์” สอนอยู่ด้วย คุณหมอในเสื้อกาวน์กรุณามาบรรยายต้อนรับคณะเรา ทำให้รู้ว่าการใช้ AI ลดเวลาผ่าตัดเคสยาก ๆ จาก 4-5 ชม. เหลือไม่ถึง 1 ชม. ประหยัดทั้งเงินและหมอ นี่ย่อมเป็นประโยชน์กับไทยที่ใกล้แตะสังคมผู้สูงอายุเต็มทีอย่างยิ่ง

เสียดายเนื้อที่นิดเดียว ยังมีเรื่องอยากเล่าเยอะแยะ ค่อยเก็บตกอีกที..นะจ๊ะ

———————-
ดาวประกายพรึก