เมื่ออียิปต์เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 27 หรือ “คอป 27” อียิปต์ก็หวังว่า จะได้รับความชอบธรรมระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับการจัดหาเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหา และต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นด้วย

นับตั้งแต่ปรากฏการณ์อาหรับสปริง เมื่อปี 2554 อียิปต์ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองหลังการก่อจลาจล, การรัฐประหารที่นำโดยกองทัพ, การปราบปรามผู้เห็นต่างที่ยาวนาน และการชะงักงันทางเศรษฐกิจหลายครั้ง ที่ลดบาทบาทดั้งเดิมของประเทศ ในฐานะผู้เล่นทางการทูตทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและในแอฟริกา

ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้นำอียิปต์ พยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะนำอียิปต์กลับสู่เวทีโลก โดยให้คำมั่นว่า จะเป็นยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ แม้ปัญหาทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นมาตลอดด้วยก็ตาม

ขณะที่นางฮาฟซา ฮาลาวา นักวิชาการพิเศษ จากสถาบันตะวันออกกลาง (เอ็มอีไอ) กล่าวว่า แก่นแท้ของทุกสิ่งที่ขับเคลื่อนการจัดคอป27 ตั้งแต่แรกของอียิปต์ คือ “ความชอบธรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องการแสดงให้เห็นว่า อียิปต์ไม่ใช่ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง, อียิปต์มีความสามารถ, มีอิทธิพลทางการทูตและอำนาจ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการจัดการด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้ อียิปต์กำลังนำเสนอตัวเองว่าเป็น “แชมเปี้ยน” ของทวีปแอฟริกาและกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ โดยอาศัยการรณรงค์ทางการทูต เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากแอฟริกา ในข้อพิพาทกับเอธิโอเปียเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำบลูไนล์ ซึ่งรัฐบาลไคโรมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อแหล่งน้ำของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น อียิปต์ยังเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ “ยุติธรรม” ซึ่งจะช่วยให้ประเทศยากไร้มีพื้นที่ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, ส่งเสริมการเงินด้านสภาพอากาศราคาถูก และจัดการกับข้อเรียกร้องค่าชดเชยของรัฐที่เปราะบาง สำหรับความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรง

ในการยื่นเสนอที่มีการแก้ไขให้สหประชาติ (ยูเอ็น) พิจารณาในปีนี้ อียิปต์ กล่าวว่า ประเทศเผชิญกับการขาดแคลนเงินทุน 246,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.2 ล้านล้านบาท) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศปี 2573 โดยหวังที่จะลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่กำหนดเวลาให้ตรงกับช่วงคอป27 พอดี

แม้บางคนในอียิปต์แสดงความประหลาดใจ ที่รัฐบาลไคโรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคอป27 เนื่องจากไม่ได้โดดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อม และมีข้อจำกัดมากมายต่อการทำกิจกรรมของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม นางราบับ เอล-มาห์ดี หัวหน้าโครงการวิจัยวิธีการแก้ปัญหาทางเลือก จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงไคโร กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคอป27 อาจเปิดการอภิปรายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมได้.

เลนซ์ซูม