นับจากนี้ไปอีก 1 ปี ประมาณวันที่ 16 ต.ค. 2566 ต้องยุบ “ตำรวจรถไฟ” ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่ได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมด 181 มาตรา

ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 163 เมื่อครบ 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นอันยุบ และให้โอนเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนที่ได้รับจาก งบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการ ตำรวจรถไฟ มาเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยให้ สตช. นำอัตรากำลังจากกองบังคับการตำรวจรถไฟ ไปดำเนินการจัดสรร

ทั้งนี้หน้าที่และอำนาจของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการตำรวจรถไฟ ในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบสวนหรือสอบสวนเรื่องใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อนยุบ ให้โอนไปเป็นของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจหรือในกองบังคับการ

เมื่อต้องยุบตำรวจรถไฟ แล้วความอุ่นใจของผู้โดยสารที่มีตำรวจรถไฟคอยดูแลความปลอดภัยจะเป็นอย่างไร???

คณะกรรมการ รฟท. - การรถไฟแห่งประเทศไทย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอกว่า รฟท. อยู่ระหว่างหารือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่า เมื่อยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟภายใน 1 ปี จะเกิดปัญหา และได้รับผลกระทบใดบ้างกับการให้บริการรถไฟ รวมถึงจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

จากการหารือเบื้องต้นในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าการดูแลจะอยู่ภายใต้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น รฟท. มีโจทย์สำคัญคือ ต้องไม่ลดคุณภาพการให้บริการ และการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารในระหว่างเดินทางด้วยรถไฟ โดยเฉพาะการจัดการควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในขบวนรถไฟ บริเวณสถานีรถไฟ และตลอดเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้หากให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เป็นผู้ดูแลแทน อาจทำให้ประสิทธิภาพการดูแลความปลอดภัยลดลงไปได้ ผู้ว่ารถไฟฯ ย้ำถึงหัวใจในการหารือ

ตำรวจรถไฟมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยก่อนหน้านี้กองบังคับการตำรวจรถไฟ อยู่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สตช. ทำหน้าที่ดูแล รักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันสวัสดิภาพของผู้โดยสารบนขบวนรถ สถานีรถไฟ ชานชาลา และรางรถไฟ อีกทั้งยังคอยดูแลอำนวยความสะดวกการจราจร และการให้บริการ ตลอดจนสกัดกั้นการกระทำความผิด และลักลอบลำเลียงสิ่งผิดกฎหมายทางรถไฟ

กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ รฟท. ดูแลพื้นที่สถานีรถไฟ และชานชาลากว่า 450 แห่ง ทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร (กม.) จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน (ไม่รวมขบวนรถสินค้า) ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 600คน กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง

ท่ามกลางปัญหาอาชญากรรมบนรถไฟยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และหลายคนคงจำคดีดังเมื่อปี 2557 ที่สร้างความสะเทือนใจ เมื่อน้องแก้ม เด็กหญิงวัย 13 ปี เดินทางด้วยรถไฟขบวนนครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ หลังกลับจากเยี่ยมญาติที่ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลูกจ้างการรถไฟฯ ฆ่าข่มขืนก่อนโยนร่างทิ้งลงข้างทางที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยผู้ก่อเหตุรับสารภาพว่า เสพยาบ้า ดูคลิปลามก และดื่มเบียร์ เป็นที่มาให้ รฟท. ออกประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟและบริเวณสถานีรถไฟนับจากนั้นมา เพื่อป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมบนรถไฟ

ปัจจุบันนี้ตำรวจรถไฟสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติดชนิดต่างๆ ที่หันมาใช้การลำเลียงผ่านทางรถไฟมากขึ้น ถ้าตำรวจรถไฟถูกยุบใครจะมาดูแลผู้โดยสารแทน ต้องติดตาม.

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…